การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552 

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  ให้นักศึกษาอธิบายว่า  เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  จะมีผลต่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  และอำนาจในการจัดการทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้อย่างไร  จะมีผลต่อความรับผิดในหนี้สินของลูกหนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  56  การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้  แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้  ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้  เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้

อธิบาย

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า  เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  จะมีผลในเรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  และอำนาจในการจัดการทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้ดังนี้คือ

ก  เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  ลูกหนี้ย่อมไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทน  (มาตรา  58)  กรณีต้องถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นเป็นอันยกเลิกไปในตัว  ลูกหนี้ไม่ต้องล้มละลายอีกต่อไป  และลูกหนี้ย่อมกลับเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนได้ดังเดิม  และมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินของตนได้ต่อไป  (ฎ. 2649/2541)

ข  การประนอมหนี้นั้นผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกคน  ไม่ว่าเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่มิได้ยอมรับการขอประนอมหนี้  แม้กระทั่งเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชำระหนี้แต่ไม่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้ก็ตาม  เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ครบถ้วน  ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ  (ฎ. 6084/2548)  เว้นแต่หนี้ตามมาตรา  77(1)  และ  (2)  คือ  หนี้ภาษีอากร  และหนี้ซึ่งไดเกิดขึ้นโดยความทุจริต ฉ้อโกงของลูกหนี้  หนี้ทั้งสองประเภทนี้  ลูกหนี้จะต้องชำระต่อไปจนกว่าจะครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าหนี้ทั้งสองประเภทดังกล่าวจะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา  91  ตั้งแต่แรกหรือไม่  (ฏ. 4955/2536)


ข้อ  2  ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  เป็นโจทก์ฟ้องนายดำลูกหนี้ให้ล้มละลาย  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายดำเด็ดขาด  ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลว่าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารไทย  จำกัด (มหาชน)  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์  อย่างไรก็ตาม  หนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ขาดอายุความไปก่อนวันที่นำคดีมาฟ้อง  เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า  มูลหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้รายเดียวกันกับที่นำมาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วว่า  หนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงลูกหนี้ก็มิได้ให้การต่อสู้คดีและขาดนัดพิจารณา  จนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและคดีถึงที่สุดแล้ว  แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความก่อนนำคดีมาฟ้องก็ตาม  อีกทั้งไม่มีเจ้าหนี้รายใดหรือลูกหนี้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้เลย  จึงอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามขอ  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  22  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้

(3) ประนีประนอมยอมความ  หรือฟ้องร้อง  หรือต่อสู้คดีใดๆ  เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

มาตรา  94  เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้  ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม  เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย  หรือศีลธรรมอันดี  หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  22(3)  บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

การที่ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์นำหนี้ที่ขาดอายุความซึ่งต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  94(1)  มายื่นคำขอรับชำระหนี้  กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจฟ้องร้องและต่อสู้คดีใดๆ  เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้  จึงมีอำนาจที่จะอ้างเอาอายุความมาต่อสู้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ได้  แม้ศาลล้มละลายจะได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยมิได้ยกเหตุเรื่องอายุความขึ้นมาพิจารณายกฟ้องโจทก์ก็ตาม  ก็หาใช่ว่าศาลได้วินิจฉัยยอมรับรองว่าเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่  อีกทั้งกระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายในส่วนของการขอรับชำระหนี้เป็นกระบวนการพิจารณาที่แยกต่างหากจากกระบวนการพิจารณาคดีและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  โดยบทบัญญัติมาตรา  94, 105 , 106, และ  107  ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  และศาลที่จะต้องพิจารณาในชั้นขอรับชำระหนี้อีกครั้งด้วยว่าหนี้ที่เจ้าหนี้แต่ละรายยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่  แม้หนี้ที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอรับชำระหนี้มานั้นจะเป็นหนี้ที่กล่าวอ้างมาในฟ้องจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วก็ตาม  แต่ก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่  เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้ว  จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  94  (1)  ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ได้  ดังนั้น  การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ.980/2532, ฎ. 3960/2546)

สรุป  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ข้อ  3  ธนาคารสยามจำกัด  ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทอเมริกาจำกัด  ต่อมาธนาคารสยามจำกัดไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีต่อไป  ต้องการถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ  และมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำปรึกษาแก่ธนาคารสยามจำกัด  ประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  90/8  วรรคแรก  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้

วินิจฉัย

ธนาคารสยามจะถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่  เห็นว่า  ตาม  พ.ร.บ.ล้มละลาย  มาตรา  90/8  วรรคแรก  กำหนดว่า  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้  ซึ่งการร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นการร้องขอให้มีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ภายใต้กรอบของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ  เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย  มิใช่เรื่องระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเท่านั้น  กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลเข้ามาตรวจสอบในกรณีที่มีการถอนคำร้องขอดังกล่าว

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ธนาคารสยาม  จำกัด  ผู้ร้องขอไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป  ก็ต้องขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ  โดยยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอดังกล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ส่วนศาลจะมีอำนาจที่จะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอหรือไม่  เป็นดุลพินิจของศาล  ซึ่งต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่ขอถอนคำร้องขอนั้นด้วยว่า  เป็นเหตุอันสมควรหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม  หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้  เพราะถือว่าศาลมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีของการร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว  ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้  การยื่นคำร้องขอถอนคำร้องดังกล่าวหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  จึงไม่อาจกระทำได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่ธนาคารสยามว่า  ต้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้ 

Advertisement