การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 (LA 309),(LW 311) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางสาวแต๋วได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายโตโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนายติ่ง  นายโตได้ส่งเสียเลี้ยงดูนายติ่งอย่างเปิดเผยเยี่ยงบิดามีต่อบุตร  นอกจากนี้นางสาวแต๋วยังมีน้องร่วมบิดามารดาอีกสองคนคือ  นางสาวดำกับนายแดง นางสาวดำได้มีบุตรกับคู่รักของตนชื่อเด็กหญิงส้มโอ  ปรากฏว่าในช่วงวันหยุด  นางสาวแต๋วกับนางสาวดำได้เดินทางไปเที่ยวด้วยกันและเกิดอุบัติเหตุรถชนกันเสียชีวิตทั้งสองคน  ต่อมานางเติ่งได้ถึงแก่ความตายและมีมรดกจำนวน  800,000  บาท  ดังนี้  จงแบ่งมรดกของนายติ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

(2)  บิดามารดา

(6)  ลุง ป้า  น้า  อา

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นายติ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายโตซึ่งเป็นบิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์เยี่ยงบิดามีต่อบุตรอย่างเปิดเผย  นายติ่งจึงเป็นผู้สืบสันดานของนายโตที่มีสิทธิรับมรดกของนายโตได้ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1627  และมาตรา  1629(1)  แต่อย่างไรก็ดี  สถานะของนายติ่งก็ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโต  และนายโตก็ไม่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายติ่ง  นายโตจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายติ่ง  เพราะทายาทโดยธรรมลำดับที่  2  คือ  บิดามารดาตามมาตรา  1629(2)  หมายถึง  บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  ส่วนนางสาวดำและนายแดงมีฐานะเป็นน้าของนายติ่ง  จึงถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  6  ของนายติ่งตามมาตรา  1629(6)

ดังนั้น  มรดกของนายติ่งจำนวน  800,000  บาท  จะตกทอดแก่นายดำและนางแดงคนละส่วนเท่าๆกัน  คือ  คนละ  400,000  บาทตามมาตรา  1629(6)  และมาตรา  1633  แต่ปรากฏว่านางสาวดำได้ตายก่อนนายติ่งเจ้ามรดก  แต่นางสาวดำมีเด็กหญิงส้มโอเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา  1546  มาตรา  1629(1)  มาตรา  1639  มาตรา  1642  และมาตรา  1643  เด็กหญิงส้มโอจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวดำในมรดกของนายติ่งเจ้ามรดก

สรุป  มรดกของนายติ่งจำนวน  800,000  ตกทอด  ได้แก่

1       เด็กหญิงส้มโอ  จำนวน  400,000  บาท

2       นายแดง  จำนวน  400,000  บาท

 

 

ข้อ  2  ดำกับแดงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรสาวหนึ่งคนคือ  ขาว  ทั้งคู่ไม่มีบุตรชาย  ดำจึงไปขอทองแดงจากสถานสงเคราะห์มาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย  พร้อมทั้งแดงก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว  เมื่อขาวและทองแดงเติบโตเป็นหนุ่มสาวจึงรู้ว่าไม่ใช่พี่น้องกันจริงๆ  จึงเกิดความรักกันขึ้นและตกลงใจแต่งงานกันอย่างเงียบๆโดยจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย  มีบุตรหนึ่งคนคือ  เหลือง  จากพฤติกรรมที่ทั้งสองปฏิบัติจึงทำให้ดำตรอมใจตาย  แดงเสียใจมากจึงได้ทำพินัยกรรมตัดขายบุตรสาวมิให้รับมรดกของตนและฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา  ก่อนตายแดงมีเงินในธนาคาร  1  ล้านบาท  บ้านอีก  1  หลัง  ราคา  2  ล้านบาท  จงวินิจฉัยว่ามรดกของแดงจะตกอยู่แก่ใคร

ธงคำตอบ

มาตรา  1598/25  ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม  ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน  ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น

มาตรา  1598/27  การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1753  ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก  เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม  หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

วินิจฉัย

ทองแดงนั้นถือว่าเป็นบุตรบุญธรรมของนายดำโดยชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงลำพัง  แม้ว่าแดงจะให้ความยินยอมในการรับเป็นบุตรบุญธรรมในฐานะเป็นคู่สมรส  ก็ไม่ได้ทำให้ทองแดงเป็นบุตรบุญธรรมของแดงแต่อย่างใด  ตามมาตรา  1598/25  ประกอบมาตรา  1598/27  ดังนั้นจึงไม่ถือว่าทองแดงเป็นทายาทโดยธรรมของแดง  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

การที่แดงได้ทำพินัยกรรมตัดขาวบุตรสาวมิให้ได้รับมรดกนั้น  เป็นการตัดทายาทมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรม  ถือเป็นการตัดโดยชัดแจ้งตามมาตรา  1608  แล้ว  การตัดดังกล่าวถือว่าเป็นการตัดทายาทตลอดทั้งสาย  ซึ่งผู้ที่ถูกตัดคือ  ขาว  แม้มีทายาทคือเหลืองซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของขาวที่มิอาจรับมรดกแทนที่ได้  หรือสืบมรดกก็ไม่ได้เช่นกัน  ดังนั้น  มรดกของแดงคือเงินในธนาคารจำนวน  1  ล้านบาท  และบ้านอีก  1  หลัง  ราคา  2  ล้านบาท  จึงตกทอดแก่แผ่นดินตามมาตรา  1753

สรุป  มรดกของนายแดงตกทอดแก่แผ่นดิน

 

 

ข้อ  3  นายอ้วนและนางสาวผอม  เป็นพี่น้องที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาของนายหนุ่มและนางสาวสวย  โดยทั้งสองให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรทั้งสองอย่างดี  มีอยู่วันหนึ่งนายหนุ่มได้จดทะเบียนรับนายชายเป็นบุตรบุญธรรม  โดยไม่ได้บอกให้นางสาวสวยทราบ  เพราะเกรงว่านางสาวสวยจะไม่ยินยอม  ต่อมานายอ้วนได้จดทะเบียนสมรสกับนางอนงค์  แต่ทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกันจึงได้ร่วมกันจดทะเบียนรับ  ด.ญ.หญิง  เป็นบุตรบุญธรรม  ส่วนนางสาวผอมได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายผิวโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  มีบุตรชื่อ  ด.ญ.ผัดไท  โดยด.ญ.ผัดไทใช้นามสกุลนางสาวผอม  มีอยู่วันหนึ่งนางสาวผอมและนายอ้วนร่วมมือกันยักยอกทรัพย์นายหนุ่มไป  3  ล้านบาท  เพราะเกรงว่าตนเองจะไม่ได้รับมรดก  ส่วนนายชายได้ออกอุปสมบทที่วัดหัวหินจังหวัดเพชรบุรี  เช่นนี้  ถ้านายหนุ่มมีทรัพย์มรดกทั้งหมด  9  ล้านบาท  แต่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดก  3  ล้านบาทให้แก่นายชายและทำพินัยกรรมยกมรดก  6  ล้านบาทแก่นางสาวสวย  ต่อมาวันที่  10  สิงหาคม  2549  นายชายได้เดินทางมาเยี่ยมนายหนุ่มที่หัวหมาก  แต่นายชายประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายเพราะเรืออับปางที่ท่าเรือวัดระฆัง  ซึ่งในขณะนั้นนางสาวสวย  นายอ้วนและนางสาวผอมไปไหว้พระที่วัดระฆัง  เห็นเหตุการณ์ๆได้ลงไปช่วยแต่ก็จมน้ำตายเช่นกัน  เมื่อนายหนุ่มทราบข่าวจากทางโทรทัศน์ก็ตกใจถึงแก่ความตายตาม  เช่นนี้จงแบ่งมรดกทั้งหมด  9  ล้านบาทของนายหนุ่ม

ธงคำตอบ

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

 ในขณะที่นายหนุ่มมีชีวิตอยู่  ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดก  3  ล้านบาท  ให้แก่นายชายบุตรบุญธรรม  และทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกอีก  6  ล้านบาทให้แก่นางสาวสวยภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือว่าเป็นกรณีที่นายหนุ่มเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกหมดแล้ว  ทำให้นายอ้วนและ  น.ส.ผอมบุตรนอกกฎหมายที่นายหนุ่มบิดารับรองโดยพฤตินัย  เพราะนายหนุ่มได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา  ซึ่งถือว่าเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  ไม่ได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม  จึงเปรียบเสมือนหนึ่งว่านายอ้วนและ  น.ส.ผอมเป็นผู้ถูกตัดมิให้ได้รับมรดกโดยปริยายตามมาตรา  1608  วรรคท้าย

แต่ปรากฏว่าในระหว่างที่นายหนุ่มเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่  นายอ้วนและ  น.ส.ผอมได้ร่วมกันยักยอกเงินนายหนุ่มไป  3  ล้านบาท  ดังนี้ยังไม่ถือว่าทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเพราะยักย้ายหรือปิดบัง  ทรัพย์มรดก  ตามมาตรา  1605  วรรคแรก  เพราะกรณีที่จะถูกกำจัดตามมาตรานี้  ต้องเป็นการกระทำของทายาทภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเท่านั้น  ดังนั้น  นายอ้วนและ  น.ส.ผอมจึงไม่ถูกกำจัดให้ได้รับมรดก  จึงยังเป็นทายาทโดยธรรมของนายหนุ่มอยู่  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

ในระหว่างที่นายชายบุตรบุญธรรมของนายหนุ่มได้อุปสมบทอยู่ที่วัดหัวหิน  นายชายได้เดินทางกลับมาเยี่ยมนายหนุ่มที่กรุงเทพฯ  ปรากฏว่านายชายได้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำถึงแก่ความตายไป  และ  น.ส.สวยเห็นเหตุการณ์ได้ลงไปช่วยแต่ก็จมน้ำตายเช่นกัน  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายชายและ  น.ส.สวยผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนนายหนุ่มผู้ทำพินัยกรรม  ดังนั้น  ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงตกไปทั้งฉบับ  ตามมาตรา  1698(1)  จึงต้องยกทรัพย์มรดกทั้งหมด  9  ล้านบาทแก่ทายาทโดยธรรมของนายหนุ่มเจ้ามรดกต่อไป  ตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคแรก

เมื่อปรากฏว่านายหนุ่มได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับ  น.ส.สวยมีบุตรด้วยกัน  2  คน  ชื่อนายอ้วนและ  น.ส.ผอม  ซึ่งนายหนุ่มได้รับรองโดยพฤตินัยด้วยการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา  ถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองโดยพฤตินัยมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เสมือนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  แต่ทายาททั้งสองคนนี้ได้ถึงแก่ความตายก่อนนายหนุ่มเจ้ามรดก

นายอ้วนได้จดทะเบียนสมรสกับนางอนงค์  แต่ทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกันจึงได้ร่วมกันจดทะเบียนรับ  ด.ญ.หญิง  เป็นบุตรบุญธรรม  จึงถือว่า  ด.ญ.หญิงเป็นผู้สืบสันดานของนายอ้วน  แต่ไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายอ้วนเพราะ  ด.ญ.หญิงไม่ได้สืบสายโลหิตของนายอ้วน  ดังนั้น  ด.ญ.หญิงจึงรับมรดกแทนที่ในส่วนที่นายอ้วนมีสิทธิที่จะได้รับไม่ได้ตามมาตรา  1693  ประกอบมาตรา  1643  อีกทั้งนางอนงค์ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอ้วนก็ไม่มีสิทธิในการรับมรดกแทนที่นายอ้วนด้วยเช่นกัน  เพราะผู้ที่มีสิทธิในการรับมรดกแทนที่ต้องเป็นผู้สืบสันดานของทายาทเจ้ามรดก

ส่วนกรณี  น.ส.ผอม  ได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายผิว  โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีบุตรชื่อ  ด.ญ.ผัดไท  โดย  ด.ญ.ผัดไท  ใช้นามสกุลนางสาวผอมจึงถือว่า  ด.ญ.ผัดไทเป็นบุตรที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้สมรสกับชาย  จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ  น.ส.ผอม ดังนั้น  ด.ญ.ผัดไทจึงเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของ  น.ส.ผอม  เป็นทายาทตามมาตรา  1629(1)  ด.ญ.ผัดไทจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ น.ส.ผอมได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643  เพราะฉะนั้นมรดกทั้งหมด  9  ล้านบาทของนายหนุ่มจึงตกได้แก่  ด.ญ.ผัดไทโดยการรับมรดกแทนที่  น.ส.ผอม  แต่เพียงผู้เดียว

สรุป  มรดก  9  ล้านบาทของนายหนุ่มตกได้แก่  ด.ญ.ผัดไทแต่เพียงผู้เดียว

 

 

ข้อ  4  นายฉลองและนางเฉลียวเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่งงานได้  3  ปี  ทั้งสองยังไม่มีบุตรด้วยกัน  จึงได้ตัดสินใจร่วมกันจดทะเบียนรับนายฉลาดเป็นบุตรบุญธรรม  หลังจากนั้นนางเฉลียวได้ตั้งครรภ์และคลอดบุตรชื่อนางสาวโฉม  ต่อมานายฉลาดได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวโฉมมีบุตรด้วยกันชื่อ  ด.ญ.ฉุยฉาย  เนื่องจากนายฉลองชอบเที่ยวกลางคืนเป็นประจำทำให้เกิดผิดใจกับนายฉนวนผู้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายฉนวนจึงได้ทำพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมด  15  ล้านบาท  ให้แก่นางสาวไฉไลบุตรสาวบุญธรรมแต่เพียงผู้เดียว  เมื่อนายฉลองทราบเรื่องทั้งหมดจึงได้ทำการปลอมพินัยกรรมของนายฉนวนใหม่ว่า  นายฉนวนขอตั้งนายฉลองเป็นผู้จัดการมรดก  ต่อมานายฉนวนถึงแก่ความตาย  นางสาวไฉไลได้ออกบวชเป็นแม่ชีและได้ทำการสละมรดกตามพินัยกรรมทั้งหมด  เช่นนี้  ถ้าหากว่านางสาวไฉไลมีนายฉงนเป็นบุตรบุญธรรม  จงแบ่งมรดกนายฉนวน  15  ล้านบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(5) ผู้ที่ปลอม  ทำลาย  หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1617  ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก  ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1634  ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่งๆ  ตามบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  4  นั้น  ให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้

(3) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว  ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายฉนวนเจ้ามรดกมีนายฉลองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย  และมี  น.ส.ไฉไลเป็นบุตรสาวบุญธรรม  ดังนั้นทั้งนายฉลองและ  น.ส.ไฉไลเป็นผู้สืบสันดานของนายฉนวน  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  เป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันย่อมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันตามมาตรา  1633

แต่ปรากฏว่านายฉนวนได้ทำพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมด  15  ล้านบาทแก่  น.ส.ไฉไลแต่เพียงผู้เดียว  จึงถือว่านายฉลองซึ่งเป็นทายาทที่ไม่ได้ประโยชน์ตามพินัยกรรมถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกโดยปริยายตามมาตรา  1608  วรรคท้าย  เมื่อนายแลองทราบเรื่องพินัยกรรม  จึงทำการปลอมพินัยกรรมของนายฉนวนใหม่ว่า  นายฉนวนขอตั้งนายฉลองเป็นผู้จัดการมรดก  นายฉลองจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร เพราะเป็นผู้ปลอมพินัยกรรมไม่ว่าเป็นเรื่องใด  ไม่ว่าทังหมดหรือบางส่วนก็ต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามมาตรา  1606(5)  อีกทั้งเป็นการถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย  เพราะนายฉลองได้ปลอมก่อนที่นายฉนวนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

เมื่อนายฉนวนถึงแก่ความตาย  น.ส.ไฉไลได้ออกบวชเป็นแม่ชีและได้ทำการสละมรดกตามพินัยกรรม  ถือว่าข้อกำหนดพินัยกรรมทั้งหมด  15  ล้านบาท  ตกไปทั้งฉบับเพราะเป็นกรณีที่ผู้รับพินัยกรรมสละพินัยกรรมตามมาตรา  1698(3)  จึงต้องแบ่งทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของนายฉนวนต่อไปตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคแรก  และกรณีนี้แม้ว่า  น.ส.ไฉไลจะมีนายฉงนเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้สืบสันดานก็ตาม  นายฉงนก็ไม่มีสิทธิในการรับมรดกตามพินัยกรรมที่ได้สละแล้วตามมาตรา  1617

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  น.ส.ไฉไลได้ทำการสละมรดกตามพินัยกรรมเท่านั้น  แต่ไม่ได้ทำการสละในฐานะทายาทโดยธรรม  ดังนั้น น.ส.ไฉไลจึงยังคงเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาส่วนโดยธรรมได้  7.5  ล้านบาท  ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง  คือ  7.5  ล้านบาท  ตกได้แก่นายฉลองบุตรนายฉนวนเจ้ามรดก  แต่เมื่อปรากฏว่านายฉลองได้ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  โดยนายฉลองมีบุตรบุญธรรมชื่อ  นายฉลาด  และมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายชื่อ  น.ส.โฉมเป็นผู้สืบสันดาน  แต่นายฉลาดไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายแลอง  เพราะการรับมรดกแทนที่มิได้เฉพาะแต่ผู้สืบสันดานโดยตรงเท่านั้น  กล่าวคือผู้ที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ต้องเป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรง  แต่นายลาดเป็นเพียงผู้สืบสันดานที่ไม่ได้สืบสายโลหิตของนายฉลอง  ดังนั้นนายฉลาดจึงไม่สามารถรับมรดกแทนที่นายแลองได้  ตามมาตรา  1639  มาตรา  1643  แต่  น.ส.โฉมเป็นบุตรสาวที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้สืบสายโลหิตของนายฉลองจึงเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง  ดังนั้น  น.ส.โฉมจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายฉลองได้  7.5  ล้านบาทเพียงผู้เดียว  ตามมาตรา 1639  มาตรา  1643  และมาตรา  1634(3)

สรุป  มรดก  15  ล้านบาทตกได้แก่

1       น.ส.ไฉไล  บุตรบุญธรรมของนายฉนวนเป็นทายาทโดยธรรมเป็นเงิน  7.5  ล้านบาท  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

2       น.ส.โฉม  โดยการรับมรดกแทนที่นายฉลองเป็นเงิน  7.5  ล้านบาท  ตามมาตรา  1639  มาตรา  1643  และมาตรา  1634(3)   

Advertisement