การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายดำกับนางแดงเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  บุตรชายคนหนึ่ง  คือ  นายเอ  โดยนายดำได้เลี้ยงดูนายเอเป็นอย่างดี  และให้ใช้นามสกุลของตน  พร้อมกับส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือจนกลายเป็นนักเขียนนามปากกาทอง  นายเอมีนางบีเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรหนึ่งคนคือ  เด็กหญิงเค  นายเอได้ไปทำสัญญาเช่าบ้านของนายเขียวอยู่อาศัย  โดยการเช่าได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเวลา  3  ปี  และได้นำครอบครัวไปอาศัยอยู่ด้วย  เนื่องจากนายเอเป็นนักเขียน  จึงได้มีสำนักพิมพ์ดอกท้อ  มาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นวนิยาย  เรื่อง  สะใภ้ผู้ดีจากนายเอ  โดยสำนักพิมพ์ดอกท้อตกลงให้ค่าตอบแทนปีละ  6  หมื่นบาท  ต่อมานายเอตายลงเพราะตรากตรำทำงานหนักเกินไป

จงวินิจฉัยว่า  สิทธิตามสัญญาเช่าบ้านและสิทธิในลิขสิทธิ์ของนายเอจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทอย่างไรหรือไม่  ถ้าเป็นมรดก  ทายาทแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งหรือได้รับสิทธิอย่างไรบ้าง  โดยใช้หลักกฎหมายประกอบการวินิจฉัย

ธงคำตอบ

มาตรา  138  ทรัพย์สิน  หมายความรวมทั้งทรัพย์  และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  1599  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา  1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

วินิจฉัย

เมื่อเจ้ามรดกตายลง  มรดกที่จะตกแก่ทายาท  ตามมาตรา  1600  ได้แก่ทรัพย์สิน  สิทธิ  หน้าที่  และความรับผิดต่างๆ  ซึ่งมิใช่เป็นการเฉพาะตัวโดยสภาพหรือโดยกฎหมาย  สิทธิตามสัญญาเช่าบ้านของนายเอ  ซึ่งเป็นผู้เช่านั้น  ตามกฎหมายถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า  ตามมาตรา  544  สิทธิตามสัญญาเช่าย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อผู้เช่าตาย  ไม่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่ทายาท  (ฎ. 1008/2537)

ส่วนสิทธิในลิขสิทธิ์  ได้ค่าตอบแทนปีละ  6  หมื่นบาท  ถือว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินอย่างหนึ่งทั้งกฎหมายก็บัญญัติให้สิทธิดังกล่าวนี้โอนให้แก่กันได้โดยทางมรดกไม่เป็นการเฉพาะตัว  จึงถือเป็นมรดก  ตามนัยบทบัญญัติมาตรา  1600  ประกอบมาตรา  138  ตกทอดแก่ทายาทของนายเอ  ตามมาตรา  1599  ดังนี้คือ

1       เด็กหญิงเค  ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเอ  มีฐานะเป็นผู้สืบสันดาน  ตามมาตรา  1629(1)  จึงมีสิทธิรับมรดก

2       นางแดงเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอ  เพราะมารดาย่อมเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ  ตามมาตรา  1546  จึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1629(2)  แม้นางแดงจะเป็นทายาทในลำดับถัดลงไป  แต่ทางกฎหมายก็บัญญัติให้บิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิรับมรดกโดยได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร  ตามมาตรา  1630  วรรคสอง

ส่วนนายดำเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอ  เพราะนายดำกับนางแดงมิได้จดทะเบียนสมรสกัน  จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1629(2)  แม้นายดำจะรับรองว่านายเอเป็นบุตรโดยพฤติการณ์ด้วยการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี  ให้ใช้นามสกุลและส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือ  ตามมาตรา  1627  แต่ผลของการรับรองดังกล่าว  กฎหมายเพียงแต่บัญญัติให้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  มีสิทธิรับมรดกของบิดาเท่านั้น  หาได้บัญญัติให้ถือว่าบิดาที่รับรองนั้นเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่  (ฎ. 525/2510)  นายดำจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเอ

3       นางบี  ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส  ตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  โดยมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร  ตามมาตรา  1635(1)

ดังนั้น  สิทธิในลิบสิทธิ์ได้ค่าตอบแทนปีละ  6  หมื่นบาท  เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทั้ง  3  คน  คือเด็กหญิงเค  นางแดง  และนางบี  โดยได้รับคนละ  2  หมื่นบาทต่อปี  ตามมาตรา  1633  ส่วนสิทธิตามสัญญาเช่าบ้านไม่เป็นมรดก

สรุป  สิทธิในลิขสิทธิ์เป็นมรดก  และเด็กหญิงเค  นางแดง  และนางบี  มีสิทธิได้รับมรดกคนละ  2  หมื่นบาทต่อปี  ส่วนสิทธิตามสัญญาเช่าบ้านไม่เป็นมรดก

 

ข้อ  2  เอกกับโทเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรด้วยกัน  3 คน  คือ  หนึ่ง  สอง  และสาม  ต่อมาเอกกับโทเดินทางไปต่างจังหวัดประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตลงทั้งคู่  ตรีซึ่งเป็นน้องสาวของโทและเป็นน้าจึงได้นำสามไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย หนึ่งไปบวชเป็นสามเณรอยู่วัดท่าเตียนก่อนบวชหนึ่งได้เช่าซื้อรถยนต์ไว้  1  คัน  ราคา  5  แสนบาท  กับบริษัทโตโยต้า  สาขาบางเขน โดยชำระราคาค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว  แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนเนื่องจากไม่มีเวลา  หลังจากบวชแล้วจึงได้ไปจดทะเบียนโอนใส่ชื่อตน  ต่อมามีญาติโยมนำเงินมาถวายอีก  1  แสนบาท  พออายุได้  25  ปี  สามเณรหนึ่งจึงได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่วัดนี้เรื่อยมา  และมีญาติโยมศรัทธาถวายสิ่งของหลายอย่างได้แก่  โทรทัศน์สี  1  เครื่อง  ราคา 5  หมื่นบาท  โทรศัพท์มือถือ  1  เครื่อง  ราคา  2  หมื่นบาท  เงินสดอีกจำนวน  5  หมื่นบาท  ซึ่งทรัพย์สินทุกอย่างพระหนึ่งได้นำมาเก็บรวบรวมไว้ที่วัดท่าเตียนทั้งหมด  ต่อมาพระหนึ่งได้มรณภาพลงด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน  โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมใดๆไว้เลย  จงวินิจฉัยว่า  ทรัพย์สินของพระหนึ่งจะตกทอดแก่ใครบ้าง 

ธงคำตอบ

มาตรา  1598/28  บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น  แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา  ในกรณีเช่นนี้  ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

ในนำบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  2  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  1623  ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น  เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น  เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

มาตรา  1624 ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่  และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น  หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้

มาตรา  1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) ลุง  ป้า  น้า  อา

มาตรา  1630  วรรคแรก  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียวทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

วินิจฉัย

ในขณะมรณภาพ  พระภิกษุหนึ่งเจ้ามรดกมีน้องชาย  2  คน  และน้า  1  คน  ทั้งหมดถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุหนึ่ง  ตามมาตรา  1629(3)  และ  (6)  สามนั้นแม้ตรีซึ่งเป็นน้าจะนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  แต่ก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา  ตามมาตรา  1598/28  จึงมีสิทธิรับมรดกได้  กรณีนี้เฉพาะสองและสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่  3 ตามมาตรา  1629(3)  เท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดกของพระภิกษุหนึ่ง  เพราะเป็นทายาทในลำดับก่อน  ส่วนตรีซึ่งเป็นน้าสาว  เป็นทายาทในลำดับถัดลงไป  ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของพระภิกษุหนึ่งเลย  ตามมาตรา  1630  วรรคแรก

สำหรับในเรื่องมรดกของพระภิกษุ  จากบทบัญญัติตามมาตรา  1624  ที่กำหนดว่า  ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติวัดไม่…เห็นว่า  พรภิกษุ  ตามนัยของบทบัญญัติใน  ป.พ.พ.  ได้แก่พระภิกษุที่ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  ไม่หมายความรวมถึงสามเณร  แม่ชี  นักพรต  หรือนักบวชในศาสนาอื่นด้วย

ดังนั้น  แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า  ก่อนบวชหนึ่งได้เช่าซื้อรถยนต์ไว้  1  คัน  ราคา  5  แสนบาท  โดยชำระเงินครบถ้วนแล้ว  แม้จะได้โอนใส่ชื่อทางทะเบียนในขณะที่บวชเป็นสามเณรก็ตาม  ก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  รวมทั้งเงินสด  1  แสนบาทที่มีผู้นำมาถวายในขณะนั้นด้วย  จึงตกทอดเป็นมรดกแก่สองและสาม  ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุหนึ่ง  ตามมาตรา  1624  ประกอบมาตรา  1629(3)  ซึ่งทั้งสองคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่าๆกัน  ตามมาตรา  1633

ส่วนโทรทัศน์สี  โทรศัพท์มือถือ  และเงินสดอีก  5  หมื่นบาท  ซึ่งญาติโยมนำมาถวายให้แก่พระภิกษุหนึ่งในขณะที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว  เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอุปสมบท  จึงต้องตกเป็นสมบัติของวัดท่าเตียน  ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุหนึ่งในขณะที่ถึงแก่มรณภาพ  เพราะไม่ได้มีการจำหน่ายไปในระหว่างที่มีชีวิตอยู่  ตามมาตรา  1623

สรุป  รถยนต์ราคา  5  แสนบาทและเงินสด  1  แสนบาท  ตกทอดแก่สองและสาม  คนละเท่าๆกัน  คือคนละ  3  แสนบาท  ส่วนโทรทัศน์สี โทรศัพท์มือถือ  และเงินสดอีก  5  หมื่นบาทที่ได้มาขณะอุปสมบทเป็นพระภิกษุตกเป็นสมบัติของวัดท่าเตียน

 

ข้อ  3  นายเก่งรับนายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  ในขณะที่เขาเองก็ยังมีบุตรสาวที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่  2  คน  คือ  น.ส.เอ  และ  น.ส.บี  แต่ทั้งสองมีคนมีความประพฤติไม่ดี  และชอบเที่ยวเตร่กลางคืนโดยไม่ยอมฟังคำว่ากล่าวตักเตือนจากบิดา  นายเก่งจึงได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดของตนจำนวน  3  ล้านบาทให้แก่นายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว  นายหนึ่งมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายคือนายสอง  มีบุตรด้วยกัน  1  คน  คือ  ด.ญ.จอย  ต่อมานายเก่งป่วยเป็นโรคหัวใจวายตาย  หลังจากนายเก่งตายลง  นายหนึ่งเสียใจมากและไม่อยากรับมรดกแต่เพียงคนเดียว  เขาจึงได้สละมรดกตามพินัยกรรมโดยทำเป็นหนังสือและมอบไว้กับผู้อำนวยการเขตพระโขนง  กรุงเทพฯ  จงวินิจฉัยว่ามรดกของนายเก่งจำนวน  3  ล้านบาท  จะตกทอดแก่ใครบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1615  วรรคแรก  การที่ทายาทสละมรดกนั้น  มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดก

มาตรา  1617  ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก  ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น

มาตรา  1618  ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้  หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก  ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้นๆ  แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายเก่งเจ้ามรดกตายลง  โดยได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว  ย่อมถือว่า  น.ส.เอ  และ  น.ส.บี  ถูกตัดมิให้รับมรดกโดยปริยาย  ตามมาตรา  1608  วรรคสอง  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหนึ่งได้สละมรดกตามพินัยกรรมหลังเจ้ามรดกตาย  โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่  ตามมาตรา  1612  จึงเป็นการสละมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย  ด.ญ.จอย  แม้จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่งอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานก็จะเข้าสืบมรดกที่นายหนึ่งได้สละแล้วไม่ได้ตามมาตรา  1617

อนึ่งการสละมรดกของนายหนึ่งกรณีนี้เป็นเหตุให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกไปและทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมนั้นกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกต่อไป  ตามมาตรา  1698(3)  มาตรา  1699  มาตรา  1620  วรรคแรก  และมาตรา  1615  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  1618  ดังนั้น  ทรัพย์ตามพินัยกรรมจำนวน  3  ล้านบาท  จึงต้องแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายเก่งต่อไป

น.ส.เอ  และ  น.ส.บี  แม้จะถูกตัดมิให้รับมรดกโดยปริยายตามพินัยกรรม  แต่เมื่อพินัยกรรมตกเป็นอันไร้ผล  เนื่องจากผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม  ตามมาตรา  1698(3)  ทั้งสองคนจึงยังมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมอยู่

ส่วนนายหนึ่ง  แม้จะได้สละมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม  แต่ก็ยังมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้  ตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627

สำหรับนางสองนั้นเป็นบุตรสะใภ้ของนายหนึ่ง  มิใช่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายของนายหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา  1629  จึงไม่มีสิทธิรับมรดกใดๆเลย

ดังนั้น  มรดกของนายเก่งจำนวน  3  ล้านบาท  จึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม  คือนายหนึ่ง  น.ส.เอ  และ  น.ส.บี  คนละ  1  ล้านบาท ตามมาตรา  1629(1)  และมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนายเก่งจำนวน  3  ล้านบาท  ตกทอดได้แก่  นายหนึ่ง  น.ส.เอ  และ  น.ส.บี  คนละ  1  ล้านบาท  ตามมาตรา  1629(1)  และมาตรา  1633

 

ข้อ  4  นายหนึ่งและนายสองเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอและนางบี  ทั้งคู่ไม่มีบุตรสาวจึงได้ไปขอนางสาวดีมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  นางสาวดีมีสามีที่อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรสาวชื่อเด็กหญิงทอง  นายหนึ่งทำตัวเป็นนักเลงการพนันและชอบเที่ยวเตร่ไม่รู้จักทำมาหากินจนนายเอบิดาไม่พอใจ  เขาจึงได้ทำพินัยกรรมตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกใดๆของตนทั้งสิ้น  พอนางบีมารดาทราบจึงได้ว่ากล่าวตักเตือนให้นายหนึ่งเลิกพฤติกรรมต่างๆที่ไม่ดีเสีย  ต่อมานายหนึ่งก็ประพฤติตนเป็นคนดี  นายเอจึงได้ทำหนังสือถอนการตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกของตน  มอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตจตุจักร  กรุงเทพฯ  หลังจากนั้นไม่นานนางสาวดีก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตนายเอเสียใจมากจึงล้มป่วยลงเป็นโรคหัวใจวายตายในเวลาต่อมา  นายเอตายลงมีเงินสดฝากอยู่ในธนาคาร  120,000  บาท  (หนึ่งแสนสองหมื่นบาท)  จงวินิจฉัยว่า  มรดกของนายเอจะตกทอดแก่ใครบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

มาตรา  1609  การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้  ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทำโดยพินัยกรรม  จะถอนเสียก็ได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น  แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่  การถอนการตัดจะทำโดยพินัยกรรมหรือโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นายเอตายลงโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้  เงินสดที่ฝากอยู่ในธนาคารจำนวน  120,000  บาท  ย่อมเป็นมรดกตามมาตรา  1600  โดยหลักแล้วย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1599  ซึ่งได้แก่

1       นายหนึ่ง  และนายสอง  ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้สืบสันดาน  ตามมาตรา  1629(1)

2       นางสาวดีบุตรบุญธรรม  ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627

3       นางบีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายเอได้ทำพินัยกรรมตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดกใดๆ  ของตนทั้งสิ้นโดยทำเป็นพินัยกรรมนั้น  จึงทำให้นายหนึ่งถูกตัดมิให้รับมรดกโดยชัดแจ้ง  ตามมาตรา  1608(1)  แม้ต่อมานายเอจะถอนการตัดนายหนึ่งมิให้รับมรดก  โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตจตุจักร  กรุงเทพฯ  นั้นก็ไม่มีผลตามกฎหมาย  เพราะว่าถ้าเจ้ามรดกตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรม  การถอนการตัดดังกล่าวจะต้องถอนโดยพินัยกรรมเท่านั้น  จะถอนโดยการทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้  ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา  1609  ดังนั้นนายหนึ่งจึงยังคงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของนายเออยู่เช่นเดิม

ส่วนนางสาวดีนั้นได้ถึงแก่ความตายก่อนนายเอเจ้ามรดก  ย่อมไม่อาจรับมรดกของนายเอได้  (มาตรา  1604)  แต่เมื่อนางสาวดีเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่  1  ตามมาตรา  1629(1)  และมี  ด.ญ.ทอง  เป็นผู้สืบสันดานที่สืบสายโลหิตโดยตรง  ดังนั้น  ด.ญ.ทอง  ผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวดีจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวดีมารดาได้ตามมาตรา  1639  และมาตรา  1642  ประกอบมาตรา  1643

ดังนั้น  มรดกของนายเอจำนวน  120,000  บาท  จึงตกทอดแก่นายสอง  ด.ญ.ทอง  และนางบี  คนละส่วนเท่าๆกัน  โดยได้รับส่วนแบ่งคนละ  40,000  บาท  ตามมาตรา  1629  และมาตรา  1633  ประกอบมาตรา  1635(1)

สรุป  มรดกของนายเอตกทอดแก่นายสอง  ด.ญ.ทอง  และนางบี  คนละ  40,000  บาท 

Advertisement