การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายจันทร์อยู่กินกับนางมีนาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกันคือนางเดือนและนางดาว  ซึ่งนายจันทร์ให้การอุปการะเลี้ยงดูอย่างดี  ต่อมานางเดือนอยู่กินกับนายธันวาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกันคือ  นายผจญ  ต่อมานางเดือนและนายธันวาแยกทางกันและนางเดือนไม่ยอมคืนดีด้วย  ต่อมานางเดือนทำพินัยกรรมยกเงินสด  200,000  บาท  ให้นางดาว  ทำให้นายผจญไม่พอใจที่นางเดือนไม่ยอมคืนดีกับนายธันวาและยังทำพินัยกรรมยกเงินให้นางดาว  นายผจญจึงลงมือฆ่านางเดือน  นายผจญถูกจับและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกนายผจญฐานเจตนาฆ่านางเดือน  หลังจากนั้นนางมีนาถึงแก่ความตายโดยมีเงินสดในธนาคารอีก  300,000  บาท  เช่นนี้  จงแบ่งมรดกของนางมีนา

ธงคำตอบ

มาตรา  1457  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ  หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา  1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้น  ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นางมีนามีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายคือ  นางเดือนและนางดาวตามมาตรา  1546  ส่วนนางจันทร์อยู่กินกับนางมีนาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา  1457  จึงเป็นคู่สมรสที่มิชอบด้วยกฎหมาย  ไม่มีสิทธิรับมรดกตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  ดังนั้น  ผู้มีสิทธิได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของนางมีนาคือ  นางเดือนและนางดาวซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานของนางมีนาเจ้ามรดกตามมาตรา  1629(1)  และมาตรา  1546  และเมื่อเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันจึงชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งในกองมรดกเท่ากัน  คือ  คนละ  150,000  บาทตามมาตรา  1633

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อนางเดือนทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  นั้นได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก  โดยหลักแล้วในกรณีเช่นนี้บทบัญญัติมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1642  และมาตรา  1643  ให้สิทธิผู้สืบสันดานโดยตรงของบุคคลดังกล่าวเข้ารับมรดกแทนที่กันได้  แต่ถ้าไม่มีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ได้จนหมดสาย  ดังนั้นเมื่อนางเดือนได้ถึงแก่ความตายก่อนนางมีนาเจ้ามรดก  โดยหลักแล้วนายผจญบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางเดือนตามมาตรา  1546  ซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง  ย่อมมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นางเดือนเพื่อรับมรดกของนางมีนาได้

แต่เมื่อกรณีนี้นายผจญซึ่งจะเป็นผู้เข้ารับมรดกแทนที่นางเดือนเพื่อรับมรดกของนางมีนาได้เจตนาฆ่านางเดือนมารดา  ซึ่งต่อมาถูกจับและศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฐานเจตนาฆ่านางเดือนแล้ว  เช่นนี้  การกระทำของนายผจญจึงเป็นการฆ่าผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตนให้ถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  จึงต้องถูกจำกัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา  1606(1)  และไม่มีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดกตามมาตรา  1644  ย่อมทำให้นายผจญเสียสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นางเดือนเพื่อรับมรดกของนางมีนา  ดังนั้นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางมีนาจึงมีเพียงคนเดียวคือนางดาวตามมาตรา  1633  โดยมีสิทธิได้รับมรดก  300,000  บาท  แต่เพียงผู้เดียว

สรุป  มรดกทั้งหมด  300,000  บาท  ของนางมีนาตกทอดแก่นางดาวแต่เพียงผู้เดียว  เนื่องจากนายผจญผู้สืบสันดานโดยตรงของนางเดือนต้องด้วยเหตุเสียสิทธิรับมรดกตามมาตรา  1606(1)  จึงมิอาจเข้ารับมรดกแทนที่ได้

 

ข้อ  2  นายอาทิตย์มีบุตรชอบด้วยกฎหมายสามคน  คือ  นายจันทร์  นายอังคาร  และนายพุธ  ปรากฏว่านายอาทิตย์ได้ทำพินัยกรรมมีข้อความว่า  ตัดเงินให้นายจันทร์ได้รับเพียง  1  ล้านบาท  ส่วนที่เหลือให้นายอังคารและนายพุธคนละส่วนเท่าๆกัน  ต่อมานายอังคารรถยนต์คว่ำตาย  หลังจากนั้นอีกสองเดือนนายอาทิตย์ตายโดยมีมรดกจำนวน  13  ล้านบาท  จงแบ่งมรดกของนายอาทิตย์

ธงคำตอบ

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายจันทร์  นายอังคารและนายพุธเป็นผู้สืบสันดานของนายอาทิตย์จึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ที่มีสิทธิรับมรดกของนายอาทิตย์  เมื่อเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน  การได้รับส่วนแบ่งในกองมรดกจึงชอบที่จะได้รับการแบ่งมรดกนั้นในจำนวนเท่ากันตามมาตรา  1633

สำกรับการที่นายอาทิตย์ได้ทำพินัยกรรมมีข้อความว่า  ตัดเงินให้นายจันทร์  1  ล้านบาท  ส่วนที่เหลือให้นายอังคารและพุธคนละเท่าๆกัน  เช่นนี้แม้จะได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา  1608(1)  คือได้แสดงเจตนาตัดไว้โดยพินัยกรรมก็ตาม  ก็ไม่ทำให้นายจันทร์เสียสิทธิในการรับมรดกเนื่องจากการตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องเป็นการตัดมิให้ได้รับมรดกใดๆเลย  กรณีนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการตัดนายจันทร์มิให้รับมรดก  นายจันทร์จึงยังมีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมจำนวน  1  ล้านบาท  และยังมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกที่อยู่นอกพินัยกรรมด้วย

ส่วนนายอังคารและนายพุธย่อมมีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมคนละ  6  ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏว่านายอังคารถึงแก่ความตายก่อนนายอาทิตย์เจ้ามรดก  ดังนั้นมรดกตามพินัยกรรมในส่วนของนายอังคารจำนวน  6  ล้านบาท  จึงเป็นอันตกไปและกลับคืนสู่กองมรดกเป็นทรัพย์สินนอกพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมต่อไปตามมาตรา  1698(1)  ประกอบมาตรา  1699  และมาตรา  1620  วรรคแรก  ซึ่งนายจันทร์และนายพุธนั้น  ต่างมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ตามมาตรา  1629(1)  จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากันคือ  คนละ  3  ล้านบาทตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนายอาทิตย์จำนวน  13  ล้านบาทตกทอดแก่นายจันทร์ในฐานะผู้รับพินัยกรรม  1  ล้านบาท  และในฐานะทายาทโดยธรรมอีก  3  ล้านบาทรวมเป็นเงิน  4  ล้านบาท  ส่วนนายพุธได้รับในฐานะผู้รับพินัยกรรม  6 ล้านบาทและในฐานะทายาทโดยธรรมอีก  3  ล้านบาทรวมเป็นเงิน  9  ล้านบาท

 

ข้อ  3  นายหนึ่ง  นายสองและนายสาม  เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอกกับนางโท  ซึ่งทั้งคู่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายเอกได้ไปขอนางสาวส้มจีนมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยความยินยอมของนางโทแล้ว  ต่อมานายสองได้แอบไปมีความสัมพันธ์กับนางสาวส้มจีนจนมีบุตรด้วยกัน  1  คนคือ  ด.ช.เค  นายเอกเสียใจมากจนเป็นโรคหัวใจวายตาย  นายเอกตายลงมีมรดก  5  ล้านบาท  หลังจากนายเอกตายได้  1  เดือน  นางสาวส้มจีนก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  หลังจากนั้นอีก  1  ปี  นายหนึ่งเกิดเบื่อหน่ายในชีวิตจึงได้ทำหนังสือสละมรดกโดยชอบด้วยกฎหมาย  และไปบวชอยู่ที่วัดเทพลีลา  จงวินิจฉัยว่ามรดกของนายเอกจะตกทอดแก่ใครบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  1599  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท  ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา  1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1615  วรรคแรก  การที่ทายาทสละมรดกนั้น  มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

มาตรา  1618  ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้  หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก  ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้นๆ  แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

วินิจฉัย

เมื่อนายเอกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมใดๆไว้  มรดกทั้งหมดของนายเอกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1599 ประกอบมาตรา  1600

สำหรับทายาทโดยธรรมของนายเอกได้แก่  นางโทซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกในฐานะคู่สมรสตามมาตรา  1629 วรรคท้าย  และนายหนึ่ง  นายสองและนายสามบุตรชอบด้วยกฎหมายของเอก  อยู่ในฐานะผู้สืบสันดาน  จึงมีสิทธิรับมรดกตามมาตรา  1629(1)  ส่วนนางสาวส้มจีนซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย  กฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงมีสิทธิรับมรดกตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627  สำหรับการแบ่งมรดกนั้น  เมื่อปรากฏว่านายเอกมีทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่และมีคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่  กรณีเช่นนี้นางโทคู่สมรสมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร  ดังนั้นทั้ง  5  คนจะได้รับมรดกในเงิน  5  ล้านบาทในส่วนที่เท่าๆกัน  คือ  ได้รับคนละ  1  ล้านบาทตามมาตรา  1635(1)  ประกอบมาตรา  1633

อนึ่งการที่นางสาวส้มจีนบุตรบุญธรรมประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายภายหลังที่นายเอกบิดาบุญธรรมถึงแก่ความตายไปแล้ว  1  เดือนนั้น มรดกของนางสาวส้มจีนจำนวน  1  ล้านบาทจึงตกทอดแก่  ด.ช.เค  บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1546  (กรณีมิใช่เรื่องการรับมรดกแทนที่ตามมาตรา  1639  เพราะนางสาวส้มจีนถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดก)

ส่วนการที่นายหนึ่งสละมรดกภายหลังจากที่นายเอกบิดาถึงแก่ความตายไปแล้ว  1  ปีนั้น  ตามกฎหมายถือว่าการสละมรดกของนายหนึ่งมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่เวลาที่นายเอกเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา  1615  วรรคแรก  ดังนั้นมรดกในส่วนนี้จึงกลับคืนสู้กองมรดกและแบ่งปันให้กับทายาทโดยธรรมอื่นของนายเอกต่อไปตามมาตรา  1618  ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกคือ  นางโท  นายสอง  นายสามและนางสาวส้มจีน

ในส่วนของนางสาวส้มจีนก็จะตกทอดแก่  ด.ช.เค  บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1546  ดังนั้นมรดกในส่วนของนายหนึ่งที่สละมรดกนั้นจึงตกได้แก่  นางโท  นายสอง  นายสามและ  ด.ช.เค  คนละ  2  แสนห้าหมื่นบาทในส่วนที่เท่าๆกันตามมาตรา  1633

สรุป  มรดก  5  ล้านบาทจึงตกทอดได้แก่นางโท  นายสอง  นายสามและ  ด.ช.เค  คนละ  1  ล้าน  2  แสน  5  หมื่นบาท

 

ข้อ  4  นายก้องและนางนิ่มเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  มีบุตรด้วยกัน  2  คน  คือ  นายโตและนายเล็ก  นายโตจดทะเบียนสมรสกับนางอ้วน  มีบุตร  1  คน  คือ  ด.ญ. ต่อ  ต่อมานายก้องละทิ้งนางนิ่มและไปอยู่กินกับนางวัน  มีบุตรด้วยกัน  1  คนชื่อ  ด.ช. เก่ง  โดยนายก้องให้การอุปการะเลี้ยงดู  ด.ช. เก่ง  ตั้งแต่เกิด  แต่นายก้องไม่ได้จดทะเบียนรับ  ด.ช. เก่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด  นายก้องทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดจำนวน  600,000  บาท  ให้นางวันแต่เพียงผู้เดียว  หลังจากนั้นนายโตประสบอุบัติเหตุถูกรถชนตาย  ต่อมานายก้องตาย  นางวันซึ่งมีฐานะร่ำรวยอยู่แล้วได้สละมรดกของนายก้องโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ  ดังนี้ให้ท่านแบ่งมรดกของนายก้อง 

ธงคำตอบ

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1617  ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก  ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น

มาตรา  1618  ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้  หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก  ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้นๆ  แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1635  ถ้าลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

การที่นางวันผู้รับพินัยกรรมสละมรดกของนายก้อง  โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตบางซื่อซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการรับหนังสือสละมรดกนั้น  เป็นการสละมรดกที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วตามมาตรา  1612  บุตรของนางวันคือ  ด.ช.เก่ง  จึงไม่มีสิทธิสืบมรดกตามพินัยกรรมตามมาตรา  1617  จึงต้องนำทรัพย์มรดกนั้นไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายก้องตามมาตรา  1618

ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายก้อง  คือ  ผู้สืบสันดานของนายก้อง  ซึ่งได้แก่นายโตและนายเล็กที่เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  และ  ด.ช.เก่ง  ที่แม้จะไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายก้องแต่  ด.ช.เก่งถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายก้องบิดารับรองแล้วโดยพฤติการณ์ที่นายก้องให้การอุปการะเลี้ยงดู  ด.ช.เก่งตั้งแต่เกิด  ด.ช.เก่งจึงเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1) ส่วนนางนิ่มที่ยังเป็นคู่สมรสของนายก้องอยู่ก็มีสิทธิรับมรดกของนายก้องตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  โดยนายโต  นายเล็ก  ด.ช.เก่งและนางนิ่มจะได้รับมรดกคนละเท่าๆกัน  คือได้รับคนละ  150,000  บาทตามมาตรา  1635(1)

ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายโตตายก่อนนายก้องเจ้ามรดก  ด.ญ.ต่อ  บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโตซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายโต  ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ตามสิทธิที่นายโตจะได้รับตามมาตรา  1639  ส่วนนางอ้วนภริยาของนายโตไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายโตสามีแต่อย่างใด  เพราะการรับมรดกแทนที่จำกัดเฉพาะให้ผู้สืบสันดานของผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้นตามมาตรา  1643 (ฎ. 5189/2539)

สรุป  มรดกของนายก้อง  600,000  บาท  ตกได้แก่  นายเล็ก  ด.ช.เก่ง  ด.ญ.ต่อ  และนางนิ่ม  โดยได้รับคนละ  150,000  บาท

Advertisement