การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ดำเป็นหญิงหม้ายเพราะสามีประสบอุบัติเหตุตาย  ดำมีน้องชายร่วมบิดามารดาหนึ่งคนคือ  แดง  และมีน้องสารร่วมมารดาอีกหนึ่งคนคือ  ขาว  ขาวเป็นนักธุรกิจชอบเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆในขณะที่ไปทำธุรกิจต่างประเทศก็ได้พบรักกับเหลือง  ซึ่งเป็นนักธุรกิจเหมือนกันจึงได้แต่งงานกัน  โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย  มีบุตร  1  คน  คือ  เขียว  ขณะที่เขียวอายุได้  5  ปีนั้น  ขาวและเหลืองซึ่งเป็นบิดามารดาได้เดินทางไปต่างประเทศด้วยกันและประสบอุบัติเหตุเพราะเครื่องบินโดยสารตกเสียชีวิตทั้งคู่  ดำซึ่งเป็นป้าจึงได้เลี้ยงดูเขียวเหมือนเป็นลูกของตนเองและคิดว่าจะนำไปจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรม  แต่ปรากฏว่าดำประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน  ดำตายลงมีทรัพย์มรดกคือมีที่ดินพร้อมบ้านราคา  6  ล้านบาท  และเงินสดในธนาคารอีก  4  ล้านบาท  โดยที่เธอไม่ได้ทำพินัยกรรมใดๆไว้  จงแบ่งมรดกของดำ

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

แดงและขาวถือเป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายของดำ  เมื่อดำตายมรดกจึงตกทอดแก่คนทั้งสองตามมาตรา  1620  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  1629(4)

แต่เนื่องจากขายได้ตายก่อนดำเจ้ามรดก  และขาวมีเขียวซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงสามารถรับมรดกแทนที่ขาวในมรดกของดำได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1629(4)  มาตรา  1642  และมาตรา  1643

อย่างไรก็ตาม  แม้เขียวจะอยู่ในอุปการะของดำโดยการเลี้ยงดูและดำจะนำไปจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมแต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนแต่อย่างใด  ดังนั้น  เขียวจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานของดำ  แต่เขียวก็เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของขาวจึงรับมรดกแทนที่ของขาวเพื่อรับมรดกของดำได้  โดยแบ่งกันกับแดงซึ่งเป็นลุงคนละครึ่งตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกของดำคือบ้านพร้อมที่ดินราคา  6  ล้านบาท  และเงินในธนาคารอีก  4  ล้านบาท  รวมเป็นเงิน  10  ล้านบาท  จึงตกทอดแก่แดงและเขียวคนละ  5  ล้านบาท

 

ข้อ  2  นายเอกและนางโท  เป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกันสามคนคือ  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  โดยนายหนึ่งได้สมรสกับนางแดงและมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  เด็กหญิงอ๋อย  ส่วนนายสามได้สมรสกับนางส้มและมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อ  เด็กชายเปี๊ยก นายเอกมีมรดกอยู่จำนวน  4  ล้านบาท  ได้ทำพินัยกรรมยกให้นายหนึ่งจำนวน  2  ล้านบาท  และนายสามจำนวน  2  ล้านบาท  เพราะเห็นว่าบุตรทั้งสองคนนั้นมีครอบครัวประกอบกับความรักหลาน  ปรากฏว่านายหนึ่งได้ตายก่อนนายเอกหลังจากนั้นนายเอกได้ถึงแก่ความตาย นายสามเสียใจและสงสารมารดาของตนกับพี่จึงได้สละมรดกตามพินัยกรรมที่ตนได้รับนั้น  ดังนี้  จงแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1617  ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก  ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น

มาตรา  1618  ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้  หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก  ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้นๆ  แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายเอกเจ้ามรดกมีมรดกอยู่จำนวน  4  ล้านบาท  ได้ทำพินัยกรรมยกให้บุตรของตนคือนายหนึ่ง  2  ล้านบาท  และนายสาม  2  ล้านบาท  ดังนั้นนายสองซึ่งเป็นบุตรอีกคนหนึ่งและนางโทภริยาจึงถือว่าเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของนายเอกโดยปริยายด้วยการที่เจ้ามรดกจำหน่ายทรัพย์มรดกหมดตามมาตรา  1608  วรรคท้าย  นายหนึ่งผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อนนายเอกผู้ทำพินัยกรรม  ฉะนั้นข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงตกไปตามมาตรา  1698(1)  จำนวน  2  ล้านบาทตามพินัยกรรมจึงกลับคืนสู่กองมรดก  และกลายเป็นทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม  ซึ่งจะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกต่อไปตามมาตรา  1699  และมาตรา  1620  ปรากฏว่าหลังจากนายเอกเจ้ามรดกตายแล้ว  นายสามผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดกตามพินัยกรรมจำนวน  2  ล้านบาท  เป็นเหตุให้ข้อกำหนดตามพินัยกรรมเป็นอันตกไปเช่นกันตามมาตรา  1698(3)  ซึ่งจำนวนเงินตามพินัยกรรมที่นายสามสละนั้นจะกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมของนายเอกตามมาตรา  1618  มาตรา  1699  และมาตรา  1620  วรรคสอง  และเด็กชายเปี๊ยกผู้สืบสันดานของนายสามจะสืบมรดกที่นายสามผู้รับพินัยกรรมสละไปไม่ได้ตามมาตรา  1617

ดังนั้น  มรดกของนายเอกจำนวน  4  ล้านบาท  จะตกทอดได้แก่บุคคลใดบ้างสามารถพิจารณาได้ดังนี้

1       นางโทในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

2       เด็กหญิงอ๋อยในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นายหนึ่งบิดาของตนตามมาตรา 1629(1)  มาตรา  1639  มาตรา  1642  และมาตรา  1643

3       นายสองและนายสามในฐานะผู้สืบสันดานอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ตามมาตรา  1629(1)

ทั้งนี้  ในการแบ่งมรดก  นางโทจะได้รับส่วนแบ่งจำนวน  1  ล้านบาท  เสมือนหนึ่งเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา  1635(1)  เด็กหญิงอ๋อยจะได้รับมรดกแทนที่นายหนึ่งจำนวน  1  ล้านบาท  นายสองและนายสามจะได้รับส่วนแบ่งคนละ  1  ล้านบาทในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันย่อมได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากันตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนายเอกจำนวน  4  ล้านบาท  สามารถแบ่งได้ดังนี้

นางโท  จำนวน  1  ล้านบาท

เด็กหญิงอ๋อย  จำนวน  1  ล้านบาท

นายสอง  จำนวน  1  ล้านบาท

นายสาม  จำนวน  1  ล้านบาท

นางแดงและนางส้ม  ไม่ได้รับมรดกเพราะเป็นลูกสะใภ้ไม่ใช่ทายาทโดยธรรม

เด็กชายเปี๊ยก  ไม่สามารถสืบมรดกได้เพราะนายสามบิดาได้สละมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม

 

ข้อ  3  นางส้มและนายขนุน  เป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาของนายมะยม  และ  น.ส.มังคุด  โดยนายมะยมได้ให้นางส้มใช้นามสกุลตนเอง  ส่วนนายขนุนใช้นามสกุล  น.ส.มังคุด  เพราะนายมะยมได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางมะนาวจึงไม่ได้มาสนใจ  น.ส.มังคุดและบุตรทั้งสองอีก  เมื่อนายมะไฟบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมะยมทราบเรื่องทั้งหมด  ก็ได้ทำพินัยกรรมยกบ้านราคา  3,000,000  บาท  ให้นางส้ม  และยกรถยนต์มูลค่า  4,500,000  บาท  ให้นายขนุน  ส่วนนางส้มจดทะเบียนสมรสกับนายองุ่น  มีบุตรชื่อ  นายมะม่วง  แต่นางส้มมีปากเสียงกันบ่อยกับนายองุ่นจึงแยกกันอยู่  แต่นายขนุนได้จดทะเบียนรับนายละมุดเป็นบุตรบุญธรรม  ปรากฏว่านายมะไฟ  นางส้ม  นายขนุน  และนายมะยมเดินทางไปเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก  ทั้งหมดได้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำ  ทำให้นางส้มและนายมะยมถึงแก่ความตายในทันที  ส่วนนายมะไฟและนายขนุนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล  เมื่อนายมะไฟรู้สึกตัวและทราบข่าวว่านางส้มและนายมะยมถึงแก่ความตายก็เสียใจมากและถึงแก่ความตาย  ส่วนนายขนุนได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ถ้าหากว่านายมะไฟยังมีนางสาวมะเฟืองเป็นบุตรบุญธรรมอีกคนหนึ่ง  จงแบ่งมรดกนายมะไฟ

ธงคำตอบ

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การที่นายมะยมอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.มังคุด  มีบุตร  2  คน  ชื่อนางส้มซึ่งนายมะยมให้ใช้นามสกุล ถือว่านางส้มเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ตามมาตรา  1627  จึงมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานของนายมะยม  และยังมีนายขนุนเป็นบุตรนอกกฎหมายอีกคน  แต่นายมะยมก็มิได้ให้การรับรองแต่อย่างใด  ดังนั้นนายขนุนจึงยังไม่มีฐานะเป็นผู้สืบสันดานของนายมะยม

เมื่อนายมะยมไปจดทะเบียนสมรสกับนางมะนาวแต่ไม่มีบุตรด้วยกันและไม่ได้มาสนใจ  น.ส.มังคุดและบุตรอีกเลย  เป็นเหตุให้นายมะไฟบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมะยมได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่นายขนุนได้รถยนต์  (4,500,000  บาท)  นางส้มได้บ้าน (3,000,000 บาท)  เป็นกรณีที่นายมะไฟทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกหมดทำให้นายมะยมซึ่งเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ไม่ได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม  จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้ได้รับมรดกโดยปริยายตามมาตรา  1608  วรรคท้าย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นางส้ม  นายมะยม  นายขนุน  นายมะไฟ  เดินทางไปพิษณุโลกและประสบอุบัติเหตุ  นางส้มและนายมะยมจมน้ำตายทันที  ดังนั้น  ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของบ้านที่นายมะไฟทำพินัยกรรมยกให้นางส้มจึงเป็นอันตกไปตามมาตรา  1698(1) เพราะนางส้มผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนนายมะไฟผู้ทำพินัยกรรม  จึงต้องปันทรัพย์มรดกในบ้าน  3,000,000  บาทนี้แก่ทายาทโดยธรรมของนายมะไฟเจ้ามรดกต่อไปตามมาตรา  1699  และมาตรา  1620  วรรคสอง

เมื่อนายมะไฟเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมีการทำพินัยกรรมในรถยนต์  (4,500,000  บาท)  ให้แก่นายขนุน  ซึ่งในขณะที่นายมะไฟตาย  นายขนุนผู้รับพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่  ดังนั้น  ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของรถยนต์ยังมีผลใช้บังคับอยู่รถยนต์จึงตกได้แก่นายขนุนทันที เพราะการตกทอดแห่งทรัพย์มรดกไม่ต้องแสดงเจตนาเข้ารับเอา  แต่เป็นไปโดยผลของกฎหมาย

ส่วนทรัพย์มรดกบ้านราคา  3,000,000  บาทนี้  ต้องนำไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายมะไฟซึ่งนายมะไฟมีนายมะยมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวมะเฟืองเป็นบุตรบุญธรรม  ซึ่งทั้งสองมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันและมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันคนละ  1,500,000  บาท  ตามมาตรา  1627  มาตรา  1629(1)  และมาตรา  1633  ปรากฏว่านายมะยมทายาทตามมาตรา  1629(1)  ถึงแก่ความตายไปก่อนนายมะไฟเจ้ามรดก  โดยมีนางส้มเป็นผู้สืบสันดานของนายมะยม  แต่นางส้มได้ตายไปก่อนเช่นกัน  แต่นางส้มยังมีนายมะม่วงเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง  ดังนั้นในส่วนแบ่ง  1,500,000  บาทนี้  นายมะม่วงจึงมีสิทธิในการรับมรดกแทนที่นายมะยมได้ตามมาตรา   1639  และมาตรา  1643  ส่วนนางมะนาวภริยานายมะยมไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายมะยมเพราะไม่ใช่ผู้สืบสันดาน

สรุป

1       นายขนุน  รับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมในรถยนต์  4,500,000  บาท  (แม้ว่าในเวลาต่อมานายขนุนจะถึงแก่ความตายก็ตาม  แต่ตายภายหลังเจ้ามรดกตายแล้ว)

2       ทรัพย์มรดกที่เป็นบ้าน  3,000,000  บาท  ตกได้แก่

1)    น.ส.มะเฟือง  เป็นบุตรบุญธรรมของนายมะไฟ  ได้  1,500,000  บาท

2)    นายมะม่วง  ในฐานะรับมรดกแทนที่นายมะยม  ได้  1,500,000  บาท

 

ข้อ  4  นายเอกมีบุตร  2  คน  คือ  นายหนึ่ง  นายสอง  และยังมีบุตรบุญธรรมชื่อนายสาม  นายเอกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกเป็นเงินสด 3  ล้านบาท  ให้นายสองแต่เพียงผู้เดียว  เมื่อนายหนึ่งทราบเรื่องจึงใช้ปืนขู่บังคับให้นายเอกทำพินัยกรรมบกเงินครึ่งหนึ่งให้นายขันบุตรบุญธรรมของนายหนึ่ง  แต่นายเอกไม่ยอมจึงขัดขืนใช้ปืนของตนเองยิงป้องกันตัว  เป็นเหตุให้นายหนึ่งบาดเจ็บสาหัสเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล  ซึ่งในขณะที่นายหนึ่งก่อเหตุนายสองและนายสามเห็นเหตุการณ์  นายสองจึงได้ทำหนังสือสละมรดกมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตบางซื่อโดยไม่ขอรับมรดกตามพินัยกรรม  ส่วนนายสามไปเที่ยวสุโขทัยก็ประสบอุบัติเหตุจมน้ำตาย  นายโทบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสามได้เดินทางไปรับศพนายสามกลับมาบำเพ็ญกุศลที่กรุงเทพฯ  เมื่อนายเอกทราบข่าวการตายของนายสามจึงเศร้าใจและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  จงแบ่งมรดกของนายเอก 

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาแต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ  แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์  หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ  หรือเพิกถอน  หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1619  ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด  ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้

วินิจฉัย

การที่นายเอกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมด  3,000,000  บาทให้แก่นายสองเพียงผู้เดียว  ทำให้นายหนึ่งบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและนายสามบุตรบุญธรรมของนายเอกเป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม  ถือว่านายหนึ่งและนายสามถูกตัดมิให้ได้รับมรดกโดยปริยายตามมาตรา  1608  วรรคท้าย

เมื่อนายหนึ่งทราบเรื่องพินัยกรรม  ก็ได้ใช้ปืนขู่บังคับให้นายเอกเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกมรดกให้นายขันบุตรบุญธรรมของนายหนึ่งเป็นเงิน  1,500,000  บาท  (ครึ่งหนึ่ง)  ดังนั้นนายหนึ่งจึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา  1606(4)  ซึ่งเป็นการถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย

แต่ปรากฏว่า  นายเอกได้ใช้ปืนยิงไปที่นายหนึ่งเป็นการป้องกันตัว  ทำให้นายหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส  ในขณะเกิดเหตุตั้งแต่แรกนายสองและนายสามเห็นเหตุการณ์  แต่มิได้ไปร้องเรียนเพื่อนำตัวนายหนึ่งมาลงโทษ  แต่นายสองและนายสามก็ไม่ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก เพราะในการนี้นายเอกเจ้ามรดกยังไม่ได้ถูกนายหนึ่งฆ่าตาย  ทั้งสองคนนี้จึงไม่ถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา  1606(3)

การที่นายสองทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกตามพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนาจำหน่ายสิทธิที่อาจเกิดมีขึ้นในอนาคต  ซึ่งการสละมรดกจึงไม่มีผลใช้บังคับ  แม้จะทำเป็นหนังสือมละมรดกมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตบางซื่อก็ตาม  ตามมาตรา  1612  ประกอบมาตรา  1619 เพราะนายสองทำการสละมรดกก่อนนายเอกเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  ดังนั้นนายสองจึงยังมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมได้อยู่

สรุป  นายสองเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม  จำนวน  3,000,000  บาท

Advertisement