การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางสมใจราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง  ขอให้ศาลลงโทษนายเอกฐานวิ่งราวทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  นางสมใจยื่นอุทธรณ์  หากปรากฏว่า

(ก)  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง  จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  กรณีหนึ่ง

(ข)  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า  คดีมีมูล  ประทับฟ้องอีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว  นายเอกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  165  วรรคสาม  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป  กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ  จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้  หรือจำเลยจะไม่มา  แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้  ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย  และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

นางสมใจ  ราษฎร  เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญา  ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  พิพากษายกฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้อง  นายเอกจึงยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย  จึงไม่เป็นคู่ความในคดี  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  นายเอกซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้  ตามมาตรา  165  วรรคสาม  (ฎ. 371/2530, ฎ. 3777/2527)

(ข)  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องในกรณีนี้  แม้ได้ความว่า  นายเอกผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว  นายเอกจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน  ตามมาตรา  170  วรรคแรก  (ฎ. 1895/2519)

สรุป 

(ก)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

(ข)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์คดีอาญา  ระหว่างการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ทนายโจทก์จึงได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้องหรือมิฉะนั้นก็อนุญาตให้ทนายโจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้องแทน

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  คำแถลงด้วยวาจาของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ  และมี

(7) ลายมือโจทก์  ผู้เรียง  ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

มาตรา  163  เมื่อมีเหตุอันควร  โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้  เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้  และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

วินิจฉัย

กรณีทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแล้วนั้น  โจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้องเมื่อทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  จึงเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องซึ่งตาม  มาตรา  163  วรรคแรก  บัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาล  โดยอ้างเหตุอันสมควรในระหว่างการพิจารณาก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  จะร้องขอด้วยวาจาไม่ได้  (ฎ. 620/2483, ฎ. 300/2507)

ดังนั้น  การที่ทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อท้ายคำฟ้อง  จึงไม่ชอบด้วย  มาตรา  163  วรรคแรก

กรณีทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาขออนุญาตให้ทนายโจทก์ลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์

ตามมาตรา  158(7)  บัญญัติว่า  คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีลายมือชื่อโจทก์ในท้ายคำฟ้อง  ทนายโจทก์จะลงชื่อในท้ายคำฟ้องแทนโจทก์ไม่ได้  แม้โจทก์ระบุไว้ในใบแต่งทนายให้ทนายโจทก์มีอำนาจลงชื่อในท้ายคำฟ้องแทนโจทก์ก็ตาม  (ฎ. 607/2514)  การที่ทนายโจทก์จะลงชื่อในท้ายคำฟ้องแทนโจทก์ได้  จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายโจทก์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทน  นอกเหนือไปจากการแต่งตั้งให้เป็นทนายความดำเนินคดี (ฎ. 938/2530)

ดังนั้น  การที่ทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้ทนายโจทก์ลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วยมาตรา   158(7)

สรุป  คำแถลงด้วยวาจาของทนายโจทก์ทั้งสองกรณีดังกล่าว  ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินโฉนดเลขที่  123  ของนายมด  เพื่อถือเอาการครอบครองที่ดินนั้นเป็นของตน  ขอให้ลงโทษ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  352  หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า

(ก)  จำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินโฉนดเลขที่  123  จริงตามฟ้อง  แต่ที่ดินแปลงนั้นมิใช่เป็นของนายมด  หากแต่เป็นของนายปลวก  กรณีหนึ่ง

(ข)  ที่ดินโฉนดเลขที่  123  ตามฟ้อง  เป็นของนายมดจริง  แต่จำเลยมิได้เข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินแปลงดังกล่าว  จำเลยเพียงแต่ลักเก็บเอาผลมะม่วงที่ปลูกอยู่ในที่ดินนั้นไปโดยทุจริตอีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  หากไม่ปรากฏแก่ศาลว่า  ข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้น  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

(ก)  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่  123  เพื่อถือการครอบครองที่ดินนั้นเป็นของตนเท่ากับเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของนายมด  การที่ทางพิจารณาได้ความว่า  จำเลยบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวจริง  แต่ที่ดินดังกล่าวนั้นมิใช่เป็นของนายมด  หากแต่เป็นของนายปลวกนั้น  เป็นการแตกต่างเพียงเรื่องตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกบุกรุกเท่านั้น  มิใช่แตกต่างกันในตัวอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกบุกรุกอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่เป็นวัตถุแห่งการกระทำที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง  จึงมิใช่เป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญ  เมื่อไม่ปรากฏแก่ศาลว่า  ข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  กรณีย่อมเข้าหลักเกณฑ์ตาม  มาตรา  192  วรรคสอง  ที่ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้  (ฎ. 1876/2528, ฎ. 2157/2518 และ  ฎ. 913/2513)

(ข)  การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า  จำเลยบุกรุกที่ดินของนายมด  แต่ทางพิจารณาได้ความว่า  จำเลยลักทรัพย์ของนายมดนั้น  ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ  แม้จำเลยจะมิได้หลงต่อสู้  ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียตามมาตรา  192  วรรคสอง  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นไม่ได้  (ฎ. 821/2502)

สรุป 

(ก)  ศาลจะพิจารณาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้

(ข)  ศาลต้องพิพากษายกฟ้องไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลย  ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ

 

ข้อ  4  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยพยายามฆ่า  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  80, 288  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ความว่า  จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลไม่สาหัส  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  295

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลสาหัสพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297

ดังนี้  คำพิพากษาฎีกาดังกล่าว  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

มาตรา  220  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

มาตรา  225  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา  และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม  เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง

วินิจฉัย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ. มาตรา  297  ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าแล้ว

เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  และศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลไม่สาหัส  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  295  ก็ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ฐานพยายามฆ่าแล้วเช่นเดียวกัน

เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าแล้ว  ความผิดฐานพยายามฆ่าจึงต้องห้ามฎีกา  ตามมาตรา  220 คดีจึงไม่อาจขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้อีก  ดังนั้นการที่โจทก์ยังฎีกาขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าอีก  แม้โดยหลักศาลฎีกาจะมีอำนาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษเป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  297  ได้  เพราะถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ  แต่เมื่อความผิดฐานพยายามฆ่าซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  ต้องห้ามตามมาตรา  220  เสียแล้ว  จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นในข้อหาทำร้ายร่างกายสาหัส  ตาม  ป.อ. มาตรา  297  ได้  ศาลฎีกาต้องพิพากษายกฎีกาของโจทก์  จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัสตาม  ป.อ.  มาตรา  297  ไม่ได้  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  212  ประกอบมาตรา  225  (ฎ. 525/2526  (ประชุมใหญ่))

สรุป  คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว  จึงมิชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement