การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นางสมใจราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง  ขอให้ศาลลงโทษนายเอกฐานวิ่งราวทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  นางสมใจยื่นอุทธรณ์  หากปรากฏว่า

(ก)  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง  จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  กรณีหนึ่ง

(ข)  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า  คดีมีมูล  ประทับฟ้องอีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว  นายเอกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  165  วรรคสาม  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป  กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ  จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้  หรือจำเลยจะไม่มา  แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้  ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย  และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

นางสมใจ  ราษฎร  เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญา  ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  พิพากษายกฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้อง  นายเอกจึงยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย  จึงไม่เป็นคู่ความในคดี  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  นายเอกซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้  ตามมาตรา  165  วรรคสาม  (ฎ. 371/2530, ฎ. 3777/2527)

(ข)  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องในกรณีนี้  แม้ได้ความว่า  นายเอกผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว  นายเอกจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน  ตามมาตรา  170  วรรคแรก  (ฎ. 1895/2519)

สรุป 

(ก)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

(ข)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมพินัยกรรม  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 266  (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี  และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท)  และบรรยายฟ้องด้วยว่า  จำเลยเคยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  268  มีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกสองปี  แต่จำเลยไม่เข็ดหลาบ กลับมาทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน  จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลลงโทษแก่จำเลยในคดีนี้  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  93

จำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพตามฟ้อง  โจทก์แถลงของดสืบพยาน  ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษและเพิ่มเติมโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

ตามมาตรา  176  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในคดีอาญาทั่วไปหากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ก็ได้  (ฎ. 1214/2529)  เว้นแต่ในคดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุก  ตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  แม้จำเลยจะรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลก็ต้องฟังการสืบพยานโจทก์จนแน่ใจว่าจำเลยกระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้  แต่หากโจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง(ฎ. 591/2536)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดฐานปลอมพินัยกรรม  ตาม  ป.อ.  มาตรา  266  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่  1  ปี  ถึง  10  ปี  แม้ได้ความว่าจะเป็นความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำ  แต่ก็ไม่ใช่อัตราโทษอย่างต่ำตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  เป็นอัตราโทษอย่างต่ำเพียง  1  ปีเท่านั้น  ดังนั้น  เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง    ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้  ตามมาตรา  176  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพตามฟ้อง  มีความหมายว่าจำเลยรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานปลอมพินัยกรรมในคดีหลัง  และรับสารภาพในเรื่องที่โจทก์ขอให้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  ดังนั้น  ศาลจึงพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ 

(ฎ. 2167/2547  ฎ. 2413/2547)

สรุป  ศาลจึงพิพากษาลงโทษและเพิ่มเติมโทษจำเลยได้

 

ข้อ  3  แต่ละกรณีดังต่อไปนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ก)  โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์  แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

(ข)  โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์  แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์

หมายเหตุ  ความผิดฐานชิงทรัพย์  ลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย  หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย

ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า

ความผิดฐานลักทรัพย์  เอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสี่  และวรรคหก  ห้ามมิให้พิพากษา  หรือสั่ง  เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง  และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

วินิจฉัย

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  เป็นกรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยลักทรัพย์กับทำร้ายร่างกายหรือลักทรัพย์กับความผิดต่อเสรีภาพ  แต่เมื่อสืบพยานในศาลได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  จึงเป็นการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  ซึ่งการฉกฉวยเอาซึ่งหน้านี้เป็นส่วนที่โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้  ตามมาตรา  192  วรรคแรก  กรณีเช่นนี้  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้  อีกทั้งยังเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา  192  วรรคสี่อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ดร  ความผิดฐานชิงทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง  เมื่อสืบพยานในศาลได้ความว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้  ตามมาตรา  192  วรรคหก  (ฎ. 831/2532)

ดังนั้น  กรณีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์

(ข)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  แต่จำเลยมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์  เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้น  โจทก์สืบสม  แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตรา  ซึ่งมาตรา  192  วรรคห้า  กำหนดให้ศาลสามารถลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้  แม้ฐานความผิดที่ถูกต้องจะมีอัตราโทษสูงกว่าก็ตาม  เพราะถือว่าเป็นข้อยกเว้นของ  มาตรา  192  วรรคแรก  (ฎ. 391/2509)

ดังนั้น  กรณีนี้ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์

สรุป 

(ก)  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์

(ข)  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  336  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(8)  ลงโทษจำคุก  2  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด  1  ปี  โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น  ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ลงโทษปรับ  6,000  บาท

ดังนี้  จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  218  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย  และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี  หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่  ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา  219   ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย

จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับ  เป็นการฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจลงโทษปรับจำเลย  6,000  บาท  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า   จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  335(8)  ลงโทษจำคุก  2  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  1  ปี  และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  334  ลงโทษปรับ  6,000  บาท  เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นปรับโทษอย่างเดียวและยังเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนทั้งบทลงโทษและโทษด้วย  จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  ในกรณีนี้จึงไม่ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา  218  แต่ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา  219  ต่อไป

เมื่อพิจารณาตามมาตรา  219  แล้วได้ความว่า  การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  4  หมื่นบาท  ตามมาตรา  219  ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่มีข้อยกเว้นให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการลงโทษจำคุก  ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษปรับอย่างเดียว  กรณีนี้ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  (ฎ. 4525/2533)

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ตามมาตรา  219

สรุป  จำเลยฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้

Advertisement