การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์  ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ  ศาลอนุญาต

(ก)  ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก  พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมไม่มาศาล  คงมีแต่ทนายความของโจทก์ร่วมมาศาล  กรณีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก  พนักงานอัยการ  โจทก์ร่วมและทนายความของโจทก์ร่วมไม่มาศาล  กรณีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  166  วรรคแรก  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

มาตรา  181  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา  139  และ  166  มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม

วินิจฉัย

(ก)  กรณีโจทก์ขาดนัด  ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง  ตามมาตรา  166  นั้น  นอกจากหมายถึงกรณีโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว  ยังรวมถึงกรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณาคดี  ตามมาตรา  181  ด้วย

ศาลจะพิพากษายกฟ้อง  เพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ร่วมไม่มาศาลตามกำหนดนัด  แต่ทนายความของโจทก์ร่วมยังมาศาล  ในกรณีนี้ศาลจะยกฟ้อง  เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้  เพราะถือว่า  ทนายความมาทำหน้าที่แทนโจทก์ร่วมแล้ว  (ฎ. 1382/2496)

ส่วนกรณีที่พนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด  แต่โจทก์ร่วมมาศาล  ในกรณีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง  เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้เช่นกัน  เพราะถือว่ายังมีโจทก์ร่วมที่มีฐานะเป็นโจทก์มาศาลอยู่  (ฎ. 1519/2497)

ดังนั้น  เมื่อฟังได้ความว่า  ทนายความของโจทก์ร่วมมาศาล  อันถือว่าทนายความมาทำหน้าที่แทนโจทก์ร่วม  เท่ากับว่ายังมีโจทก์มาศาล  จึงไม่ต้องด้วยมาตรา  166  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  181  ที่ศาลจะยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้แต่อย่างใด

(ข)  ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่  เห็นว่า  ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก  พนักงานอัยการโจทก์ร่วมและทนายความของโจทก์ร่วมไม่มาศาล  ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัด  ในกรณีเช่นนี้  การที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากการที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์  เพราะโจทก์ขาดนัดนั้น  ใช้ได้เฉพาะกรณีนัดสืบพยานโจทก์ทุกนัดเท่านั้น  ไม่ใช้กับกรณีนัดสืบพยานจำเลย  เพราะในขณะนั้นโจทก์ไม่มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อศาลแล้ว  หากโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย  โจทก์ก็ย่อมเสียสิทธิในการคัดค้านพยานจำเลยเท่านั้น  กรณีนี้ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้  ไม่ต้องด้วยมาตรา  166  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  181  แต่อย่างใด  (ฎ. 1256/2521)

สรุป

(ก)  ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้

(ข)  ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้

 

ข้อ  2  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297  (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี)  และมีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบอีกกึ่งหนึ่งด้วย

จำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพตามฟ้อง  โจทก์และจำเลยต่างแถลงต่อศาลว่าของดสืบพยาน ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษ  และเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

การที่จำเลยสารภาพตามฟ้อง  โดยหลักแล้วศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ก็ได้ 

(ฎ. 1214/2529)  เว้นแต่ในกรณีที่ความผิดที่จำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  ที่แม้จำเลยจะรับสารภาพตามฟ้องแล้ว  ศาลก็ยังต้องให้โจทก์สืบพยานให้เห็นว่า  จำเลยได้กระทำผิดจริง  ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสที่จำเลยรับสารภาพ  กฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ให้จำคุกตั้งแต่  6  เดือนถึง  10  ปี  ไม่ใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  เมื่อจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์  ตามมาตรา  176  วรรคแรก

ส่วนการเพิ่มเติมโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ  จากคำรับสารภาพของจำเลยที่ว่า  ขอรับสารภาพตามฟ้อง  นั้น  หมายความถึงจำเลยรับสารภาพในความผิดทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  และรับสารภาพในเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วย  กรณีนี้แม้โจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลก็พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้  (ฎ. 2167/2547  ฎ. 2413/2547)

สรุป  ศาลจึงพิพากษาลงโทษและเพิ่มเติมโทษจำเลยได้

 

ข้อ  3  แต่ละกรณีดังต่อไปนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  กรณีที่ลงโทษได้โทษสูงสุดที่ลงโทษได้เป็นเท่าใด

(ก)  โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  จำเลยไม่ได้หลงต่อสู้  ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  288

(ข)  โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่น  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288จำเลยหลงต่อสู้ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย   ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต  หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่า  ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้  ศาลจะลงโทษจำเลย  ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้อง  และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  แต่จากการสืบพยานได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  เป็นกรณีข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องกรณีเช่นนี้  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ  เว้นแต่ปรากฏว่า  การที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้  สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงได้ความว่า  ข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  เป็นข้อแตกต่างมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ในกรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาได้โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  ดังนั้น  คดีนี้ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้  ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

(ข)  ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่น  ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่จากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ในกรณีเช่นนี้  แม้ว่าจะเป็นข้อแตดต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ  แต่เมื่อได้ความว่า  จำเลยหลงต่อสู้  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความไม่ได้ตามมาตรา  192  วรรคสอง

สรุป

(ก)  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

(ข)  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ  4  นายเอกเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายโทฐานลักทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว

(ก)  ศาลชั้นต้นส่งว่าคดีมีมูล  ประทับฟ้อง  กรณีนี้นายโทจะอุทธรณ์ว่าคดีไม่มีมูลได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  กรณีนี้นายเอกจะอุทธรณ์ว่าคดีมีมูลได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

มาตรา  193  ทวิ  ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่

กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

(ก)  เมื่อนายเอกเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาล  ขอให้ลงโทษนายโทฐานลักทรัพย์  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล  ประทับฟ้อง  ในกรณีนี้แม้ได้ความว่า  นายโทผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว นายโทจึงอุทธรณ์ว่าคดีไม่มีมูลไม่ได้  ต้องห้ามตามมาตรา  170  วรรคแรก 

(ฎ. 1895/2519)

(ข)  การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูลแล้วพิพากษายกฟ้อง  ในกรณีนี้ตามมาตรา  170  วรรคแรก  บัญญัติว่าโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติลักษณะอุทธรณ์ฎีกา  ซึ่งมีความว่า  จะต้องพิจารณาถึงข้อห้ามอุทธรณ์และข้อห้ามฎีกาด้วย

การที่นายเอกอุทธรณ์ว่าคดีมีมูล  เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาสืบเนื่องจากการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งว่าคดีไม่มีมูล  อุทธรณ์ของนายโทจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  เมื่อได้ความว่า  คดีนี้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์  ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  และปรับไม่เกิน  6 พันบาท  จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา  193  ทวิ

สรุป

(ก)  นายโทอุทธรณ์ว่าคดีไม่มีมูลไม่ได้

(ข)  นายเอกอุทธรณ์ว่าคดีมีมูลไม่ได้เช่นกัน

Advertisement