การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอก  นายโท  และนายตรี  ต่างเป็นโจทก์ฟ้องนายเบี้ยวฐานฉ้อโกงคนละสำนวน  แต่ศาลสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสามสำนวนเป็นคดีเดียวกัน  ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  วันที่  5  กุมภาพันธ์  2552  ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามสำนวนและทนายความไม่มาศาล  แต่ทนายความของโทซึ่งเป็นโจทก์สำนวนที่  2  ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี  ศาลตรวจดูรายงานการส่งหมายนัดให้โจทก์ทั้งสามสำนวนแล้ว  ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ส่งหมายนัดให้โจทก์ทั้งสามในวันเดียวกันเมื่อวันที่  27  มกราคม  2552  โดยนายเอกและนายโทได้ลงชื่อรับหมายนัดด้วยตนเอง  สำหรับนายตรีเจ้าหน้าที่ได้ส่งหมายนัดให้โดยวิธีปิดหมาย  แต่ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสามสำนวน

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลที่ให้ยกฟ้องทั้งสามสำนวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  166  วรรคแรก  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลที่ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  แม้ศาลจะมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีของนายเอก  นายโทและนายตรี  โจทก์ทั้ง

สามสำนวนเข้าด้วยกันก็ตาม  แต่ก็เป็นเพียงการรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น  ดังนั้น การที่ศาลจะใช้อำนาจตามมาตรา  166  วรรคแรก  ยกฟ้องโจทก์ที่ไม่มาศาลตามกำหนดนัดได้นั้น  ศาลจึงอยู่ในบังคับที่จะต้องแยกพิจารณาเป็นรายสำนวนไป  (ฎ. 5461/2534)โดยหลักแล้ว  การยกฟ้องเพราะเหตุที่โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดนั้น  ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ทราบนัดโดยชอบแล้วและโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุสมควร

คดีสำนวนแรกของนายเอก  เมื่อปรากฏว่านายเอกลงชื่อรับหมายนัดด้วยตนเอง  หมายนัดที่ส่งให้แก่นายเอกย่อมมีผลใช้ได้ทันทีในวันที่ส่งหมายนัด  คือ  ในวันที่  27  มกราคม  2552  ดังนั้น  การที่นายเอกไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่  5  กุมภาพันธ์  2552  กรณีจึงต้องถือว่านายเอกได้ทราบนัดของศาลโดยชอบแล้ว  เมื่อไม่มาศาลตามกำหนดนัด  คำสั่งศาลที่ให้ยกฟ้องของนายเอกโจทก์สำนวนแรกจึงชอบด้วยมาตรา  166  วรรคแรกแล้ว

คดีสำนวนที่สองของนายโท  แม้จะถือว่าการที่นายโทลงชื่อรับหมายนัดด้วยตนเองเป็นการทราบนัดของศาลโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นเดียวกันกับนายเอกก็ตาม  แต่คำว่า  โจทก์  ตามมาตรา  166   หมายความรวมถึงทั้งทนายโจทก์  ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และผู้รับมอบฉันทะจากโจทก์ให้มาเลื่อนคดีด้วย  ดังนั้น  แม้ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนายโทซึ่งทราบนัดของศาลโดยชอบแล้ว  จะไม่มาศาลตามกำหนดนัดก็ตาม  แต่เมื่อทนายความของนายโท  โจทก์สำนวนที่  2  ได้มองฉันทะให้เสมือนทนายความมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี  กรณีจึงต้องถือว่าสำนวนคดีที่  2  ของนายโทนั้นมีโจทก์มาศาลตามกำหนดนัดแล้ว  การที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องของนายโท  โจทก์สำนวนที่  2  จึงเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา  166  วรรคแรก  (ฎ.  1739/2528)

คดีสำนวนที่สามของนายตรี  กรณีที่ศาลจะยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด  ตามมาตรา  166  วรรคแรกได้นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องไว้และโจทก์ทราบกำหนดของศาลโดยชอบแล้วไม่มาศาล  ศาลจึงจะพิพากษายกฟ้องเสียได้  เมื่อปรากฏว่าหมายนัดที่เจ้าหน้าที่ส่งให้แก่นายตรีโดยวิธีปิดหมาย  เมื่อวันที่  27  มกราคม  2552  จะมีผลใช้ได้ในวันที่  11  กุมภาพันธ์  (15  วัน)  กรณีจึงถือว่าโจทก์สำนวนที่  3  ยังไม่ทราบกำหนดนัดของศาลโดยชอบ  จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา  166  วรรคแรก  ที่ศาลจะยกฟ้องนายตรี  โจทก์สำนวนที่  3  เสียได้  คำสั่งยกฟ้องโจทก์สำนวนที่  3  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 947/2533  และ   ฎ. 2178/2536)

สรุป  คำสั่งของศาลที่ให้ยกฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายเฉพาะคดีสำนวนที่หนึ่งของนายเอกเท่านั้น  ส่วนคำสั่งยกฟ้องคดีที่สองของนายโทและคดีที่สามของนายตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  นายโชติเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายเหี้ยมในข้อหาพยายามฆ่านายโชติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  288 , 80  ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนายโชติไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  อีก  2  เดือน  ต่อมา  พนักงานอัยการฟ้องนายเหี้ยมในข้อหาพยายามฆ่านายโชติ  ผู้เสียหายดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นอีก  นายเหี้ยมให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่า พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนายเหี้ยมในเรื่องเดียวกันนี้ที่นายโชติเป็นโจทก์ฟ้องศาลชั้นต้นสืบพยานของพนักงานอัยการโจทก์จนเสร็จแล้วนัดสืบพยานของนายเหี้ยมจำเลยครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลย  นายเหี้ยมและทนายความมาศาล  ส่วนพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  จึงพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  181  ประกอบมาตรา  166

ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้คดีของนายเหี้ยมที่ว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้องนายเหี้ยมในเรื่องเดียวกันนี้ที่นายโชติเป็นโจทก์ฟ้องนั้นฟังขึ้นหรือไม่  และคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องเพราะพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลชอบหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  166  วรรคแรกและวรรคสาม  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

มาตรา  181  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา  139  และ  166  มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ข้อต่อสู้คดีของนายเหี้ยมฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  คดีที่นายโชติเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายเหี้ยมในข้อหาพยายามฆ่า  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้น  แม้ตามมาตรา  166  วรรคแรก  บัญญัติว่า  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ก็ตาม  แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ได้บัญญัติต่อไปว่า  ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีอีก  เว้นแต่จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ความผิดฐานพยายามฆ่านายโชติมิใช่เป้นคดีความผิดต่อส่วนตัว  กรณีเช่นนี้พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนายเหี้ยมในเรื่องเดียวกันนี้อีกได้  ข้อต่อสู้ของนายเหี้ยมที่ว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนั้นฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องเพราะพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลชอบหรือไม่  เห็นว่า  แม้คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเหี้ยม  พนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยานจำเลยก็ตาม  แต่พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างใดต่อศาลเนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันสืบพยานจำเลย  ซึ่งการที่พนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย  ก็คงเสียสิทธิในการซักค้านพยานจำเลยเท่านั้น  กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา  181  ประกอบมาตรา  166  ที่จะยกฟ่องเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้  คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องเพราะพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาล  จึงไม่ชอบ  (ฎ. 1382/2492 ,

ฎ. 2891/2516)

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเหี้ยมฟังไม่ขึ้น  และคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายมด  จึงใช้อาวุธปืนเล็งยิงตรงไปที่นายมด  กระสุนปืนถูกนายมดได้รับอันตรายสาหัส  ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่านายมดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  288,  80  หากทางพิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องว่า แท้จริงแล้วจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายปลวก  แต่กระสุนปืนที่จำเลยยิงไปที่นายปลวกนั้นไม่ถูกนายปลวกแต่พลาดไปถูกนายมดได้รับอันตรายสาหัส  และจำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่านายปลวกตาม  ป.อ. มาตรา  288,  80  บทหนึ่ง  และฐานพยายามฆ่านายมดโดยพลาดตาม  ป.อ.  มาตรา  288, 80  ประกอบมาตรา  60  อีกบทหนึ่ง  เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท  ให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่านายมดตามฟ้องเพียงบทเดียว

ให้วินิจฉัยว่า  คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสี่  ห้ามมิให้พิพากษา  หรือสั่ง  เกินคำขอ  หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง  และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ

วินิจฉัย

คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายมด  แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าแท้จริงแล้วจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายปลวก  หากแต่ลูกกระสุนปืนที่จำเลยยิงไปที่นายปลวกนั้นไม่ถูกนายปลวก  แต่พลาดไปถูกนายมดได้รับอันตรายสาหัส  ซึ่งตาม  ป.อ. มาตรา  60  บัญญัติให้ถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าแก่นายมดผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้นก็ตาม  กรณีเช่นนี้  ก็ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา  (เจตนาโดยพลาด)  แตกต่างกับฟ้อง (เจตนาประสงค์ต่อผล) ในข้อสาระสำคัญ  และการที่จำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่  ย่อมถือได้ว่าคดีนี้จำเลยมิได้หลงต่อสู้  ดังนั้น  ศาลย่อมมีอำนาจที่พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่านายมดโดยพลาด  ตาม  ป.อ.มาตรา  288, 80  ประกอบมาตรา  60  ตามที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  (ฎ. 4166/2550)

ส่วนการที่ศาลปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่านายปลวกอีกบทหนึ่ง  ตามที่พิจารณาได้ความด้วยนั้น  เป็นเรื่องนอกฟ้องและนอกเหนือ คำขอบังคับของโจทก์  เพราะคดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยต่อนายปลวก  และอีกทั้งโจทก์มิได้มีคำขอใดๆ  ที่ขอให้ลงโทษจำเลยเกี่ยวกับการกระทำต่อนายปลวกด้วย  กรณีเช่นนี้ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา  (เจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายปลวก)  เช่นว่านี้  ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย  ดังนั้น  การที่ศาลปรับบทลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่านายปลวกตามที่พิจารณาได้ความว่าอีกบทหนึ่งด้วย  จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา  192  วรรคแรกและวรรคสี่

สรุป  คำพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  341  ลงโทษปรับ  5,000  บาท ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  342  ลงโทษจำคุก  1  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  1  ปี

ดังนี้  โจทก์  จำเลย  จะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  341  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา  342  ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

ธงคำตอบ

มาตรา  218  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย  และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี  หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่  ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา  219   ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย

โจทก์  จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  341  ลงโทษปรับ  5,000  บาท  และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด  ตาม  ป.อ.  มาตรา  342  ลงโทษจำคุก  1  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้  1  ปี  กรณีเช่นนี้ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  เพราะแก้ไขทั้งบทและโทษ  ทั้งยังใช้ดุลพินิจต่างกันในเรื่องรอการลงโทษด้วย  กรณีจึงไม่ห้ามคู่ความฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  218  จึงต้องพิจารณาตามมาตรา  219  ต่อไป

การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษ  จำคุกจำเลยไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  40,000  บาท  กรณีนี้  มาตรา  219 ห้ามโจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง  ส่วนจำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วยเท่านั้น

เมื่อได้ความว่า  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับและอุทธรณ์ลงโทษจำคุก  แต่รอการลงโทษไว้  กรณีเช่นนี้ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เพราะเป็นการกำหนดโทษจำคุกโดยมีเงื่อนไขให้เป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่า  อีกทั้งการที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนบทลงโทษจาก  ป.อ. มาตรา  341  มาเป็นมาตรา  342  ก็ถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเท่านั้นหาทำให้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยแต่ประการใด  (ฎ. 4525/2533)  ดังนั้น  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้เช่นกัน

สรุป  ทั้งโจทก์และจำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้      

Advertisement