การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่ง  จำเลยซึ่งแพ้คดีในศาลชั้นต้นได้อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าขึ้นศาล  ศาลอนุญาตแต่ถึงกำหนดจำเลยไม่วางเงินเพราะหาเงินไม่ทัน  จากนั้นจำเลยร้องขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างอนาถา  ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตโดยยกคำร้องพร้อมกับมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์  จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นแต่ประการใด  ดังนี้  จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 234  ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์  ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้น  ไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง

วินิจฉัย

ตามมาตรา  234  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไว้ดังนี้

1)    ต้องทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์

2)    ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน  15  วัน  นับแต่ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

3)    นำค่าฤชาธรรมเนียมมาวางศาล

4)    ถ้าหากเป็นหนี้เงินก็ต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา  หรือหาประกันไว้ต่อศาล

กรณีตามอุทาหรณ์  จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องอุทธรณ์ได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตโดยยกคำร้องขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างอนาถาของจำเลย  พร้อมกับมีคำสั่งไม่รับฟ้องอุทธรณ์  กรณีเช่นนี้  จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ได้โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น  ทั้งนี้แม้ได้ความว่าจำเลยจะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ก็ตาม  เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา  จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งคำสั่งก่อนแต่ประการใด

สรป  จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องอุทธรณ์ได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายฐานละเมิดรวม  2  ล้านบาท  จำเลยให้การสู้คดีตามกฎหมายขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นฟังพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วนัดฟังคำพิพากษา  ก่อนถึงวันนัด  2  วัน  ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาในคดีขอเป็นโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้โจทก์ยืมไปแล้วสูญหายเนื่องจากการละเมิดของจำเลยแล้วเรียกเอาค่าเสียหายเพิ่มเติมรวม  3  ล้าน  ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องควรไปฟ้องเป็นคดีใหม่เพราะคดีเดิมจะพิพากษาอยู่แล้ว  มีคำสั่งยกคำร้อง  จำเลยมีความเห็นว่าศาลชั้นต้นควรรับพิจารณาคดีของผู้ร้องไปเสียทีเดียว  หากให้ไปฟ้องเป็นคดีใหม่  จำเลยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น  ต้องจ้างทนายสู้คดีอีก  ดังนี้  จำเลยจะขออุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้รับพิจารณาคดีของผู้ร้องต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

วินิจฉัย

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  223  ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่ากฎหมาย  ไม่ได้บัญญัติชัดแจ้งว่า  คู่ความอุทธรณ์ได้  เท่านั้น  คงบัญญัติแต่เพียงว่าให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  ดังนั้นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรา  223  จึงหาได้จำกัดแต่เพียงว่าผู้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นจะต้องเป็นคู่ความเท่านั้น  ถ้าผู้อุทธรณ์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีแล้ว  ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา  223  จึงอาจแบ่งได้  2  กรณี  คือ

 1)    คู่ความ  กล่าวคือ  บุคคลผู้ยื่นฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล

2)    บุคคลภายนอกซึ่งถูกกระทบกระทั่งหรือมีส่วนได้เสียในคดี

คดีโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายฐานละเมิด  ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยพิพาทกันและถือว่าโจทก์จำเลยมีฐานะเป็นคู่ความในคดี

ส่วนการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาแล้วศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้น  กรณีเช่นนี้  ผู้ที่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้คือ  ผู้ร้อง  เมื่อได้ความว่า  ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์  จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์  เพราะจำเลยไม่ใช่คู่ความในส่วนคดีของผู้ร้อง  อีกทั้ง  การที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลภายนอกซึ่งถูกกระทบกระทั่งหรือมีส่วนได้เสียในคดีแต่ประการใด  ดังนั้น  จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามมาตรา  223  (ฎ. 1254/2547)

สรุป  จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น

 

ข้อ  3  (ก)  คำว่า  ยึด  ตาม  ป.วิ.แพ่ง  หมายความว่าอย่างไร  จงอธิบายพอสังเขป

(ข)  โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  โจทก์สืบทราบว่าจำเลยลักลอบนำทองแท่งหนีภาษีเข้ามาในประเทศ  ถูกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจับกุมจำเลยพร้อมของกลางเก็บไว้  เพื่อเป็นหลักฐานจะดำเนินคดีตามกฎหมาย  และจะขอให้ศาลริบของกลางต่อไป  ดังนี้  โจทก์จะขอให้ศาลยึดทองแท่งนี้ไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  254  ในคดีอื่นๆ  นอกจากคดีมโนสาเร่  โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว  ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไปเพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใดๆดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา  รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย

(ก)  อธิบาย  คำว่า  ยึด  หมายถึง  การที่โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ไปกระทำการยึดทรัพย์สิน  และทรัพย์สินหรือเงินที่ยึดจะต้องเป็นกรรรมสิทธิ์ของจำเลย  ฎ. 481/2541)  และจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดไม่สำคัญ  เช่น  จำเลยนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ไว้กับธนาคาร  กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของจำเลย  แม้ที่ดินจะติดจำนองอยู่  โจทก์ก็นำยึดได้  แต่ถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่า  ที่ดินเป็นของจำเลยแต่นำไปขายฝากกับบุคคลภายนอกไว้  โดยหลักกฎหมายเกี่ยวกับขายฝาก  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่วันทำสัญญา  (ป.พ.พ.  มาตรา  491)  เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ใช่ของจำเลย  โจทก์จึงยึดไม่ได้

(ข)  วินิจฉัย  โจทก์จะขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทองแท่งนี้ไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษาได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทองแท่ง  ถือเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างศาลพิจารณาก่อนพิพากษา  ตามมาตรา  254(1)  เมื่อได้ความว่า  ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบทองแท่งหนีภาษีนี้ก็ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย  ดังนั้นโจทก์ก็ชอบจะให้ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาได้  ตามมาตรา  254(1)  (ฎ. 1533/2525)

สรุป  โจทก์ชอบจะขอให้ศาลมีคำสั่งริบทองแท่งดังกล่าวได้

 

ข้อ  4  บริษัทเอ  เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายบี  คดีถึงที่สุดแล้วนายบีไม่ชำระหนี้  บริษัทเอได้ขอให้ยึดทรัพย์สินของนายบีเพื่อขายทอดตลาด  ก่อนถึงวันนัดขายทอดตลาด  บริษัทซีได้ร้องขอเข้ามาในคดีอ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทเอ  บริษัทเอไม่มีทรัพย์สินใดๆ  ที่จะบังคับคดีเอาชำระหนี้ได้นอกจากสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินนายบี  บริษัทซีของสวมสิทธิของบริษัทเอขายทอดตลาดเอาชำระหนี้ของตน  ดังนี้  บริษัทซีจะดำเนินการเช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

วินิจฉัย

บริษัทซีผู้ร้องจะขอสวมสิทธิบริษัทเอขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่ตนได้หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  ผู้ที่จะมีสิทธิบังคับคดีและผู้มีหน้าที่ต้องถูกบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ตามมาตรา  271  กำหนด ให้เป็นสิทธิและหน้าที่ของคู่ความ  หรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี  หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ว่า  บริษัทซีผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทเอ  ประสงค์จะขอสวมสิทธิของบริษัทเอขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่ตน  เช่นนี้  บริษัทซีผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิใช่คู่ความในคดีหรือเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะเป็นฝ่ายชนะคดี  (ฎ. 8325/2544)  ดังนั้น  จึงไม่อาจสวมสิทธิบริษัทเอเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่ตนได้  ทั้งกรณีดังกล่าวนี้  ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจบริษัทซีเข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีได้แต่ประการใด  (เทียบ  ฎ. 7567/2547)

สรุป  บริษัทซีไม่อาจสวมสิทธิของบริษัทเอเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่ตนได้

Advertisement