การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องว่าได้ทำสัญญาซื้อผ้าแพรจากจำเลยรวมเป็นเงิน  5  ล้านบาท  โจทก์วางมัดจำไว้  1  ล้านบาท  ถึงกำหนดส่งสินค้า  จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้โจทก์  ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ขาดผลกำไรจากการขายสินค้านั้นรวม  1  ล้านบาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะ  เพราะเป็นสินค้าหนีภาษี  โจทก์ไม่เสียหาย  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงได้ความตามข้อต่อสู้ของจำเลย  พิพากษายกฟ้อง  โจทก์ไม่อุทธรณ์แต่นำคดีนั้นมาฟ้องใหม่เรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำ  1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย  ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความ  โดยจำเลยยอมผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นงวดๆและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว  ภายหลังจำเลยจะกลับใจอุทธรณ์  ขอยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น  หากยังอยู่ในระยะเวลาที่อุทธรณ์ได้  ดังนี้จำเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  138  ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น  และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้  แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้  เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

มาตรา  148  คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก  ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความแล้ว  จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นอย่างหนึ่งอย่างใด  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  138  วรรคสอง  กล่าวคือ

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

จำเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ได้นำคดีเดิมซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว  เนื่องจากโจทก์ไม่อุทธรณ์มาฟ้องจำเลยอีก  เมื่อได้ความว่า  คดีนี้กับคดีเดิมโจทก์จำเลยก็เป็นคู่ความเดียวกัน  ประเด็นที่นำมาฟ้องก็เป็นประเด็นเดียวกันกับคดีก่อน  จึงเป็นกรณีที่โจทก์รื้อฟ้องกัน  อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน  อันถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ  ต้องห้ามตามมาตรา  148

เมื่อฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำแล้ว  คำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นจึงถือว่าละเมิดต่อกฎหมาย  อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  กรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  138  วรรคสอง  (2)  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ายังอยู่ในช่วงเวลาที่จะอุทธรณ์ได้  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมได้  ตามมาตรา  138  วรรคสอง  (2) (ฎ. 2684/2539)

สรุป  จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายรวม  2  ล้านบาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ซื้อเชื่อสินค้าโจทก์  ลายมือผู้เซ็นรับสินค้าในใบสินค้าปลอมคดีโจทก์ขาดอายุความ  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย  จำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ว่าไม่ได้ซื้อเชื่อสินค้าโจทก์  ลายมือผู้เซ็นรับสินค้าในใบรับสินค้าที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นลายมือปลอม  หนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  คดีโจทก์ขาดอายุความ

ดังนี้  จำเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  225  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น  คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้  หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์  คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  225  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการยื่นอุทธรณ์นั้น

1)    ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2)    ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  และ

3)    อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เว้นแต่  จะต้องด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ก็ยังมีสิทธิที่จะอ้างอิงปัญหา  เพื่ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ได้  คือ

1)    เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

2)    เป็นปัญหาที่คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกข้อกฎหมายใดๆขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้  หรือ

3)    เพราะเหตุเป็นเรื่องศาลชั้นต้นที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถแยกอุทธรณ์ของจำเลยได้  3  ประเด็นดังนี้

1       จำเลยไม่ได้ซื้อเชื่อจากโจทก์  ลายมือผู้เซ็นรับสินค้าในใบรับสินค้าที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นลายเซ็นปลอม

2       หนังสือมอบอำนาจโจทก์ให้ฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

3       คดีโจทก์ขาดอายุความ

จำเลยจะสามารถอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่  เห็นว่า  ในประเด็นที่  1  และประเด็นที่  3  ประเด็นเหล่านี้จำเลยได้ต่อสู้ไว้โดยชอบแล้วในศาลชั้นต้น  จำเลยจึงชอบที่จะอุทธรณ์ประเด็นดังกล่าวได้  ตามมาตรา  225  วรรคแรก

ส่วนในประเด็นที่  2  เรื่องหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น  จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้โดยชอบในศาลชั้นต้น  ซึ่งโดยปกติแล้ว  จะยกขึ้นอุทธรณ์ไม่ได้แต่อย่างไรก็ดี  ในกรณีอำนาจฟ้องถือว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  จึงต้องด้วยยกเว้น  ตามมาตรา  225  วรรคสอง  กรณีเช่นนี้  แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้โดยชอบในศาลชั้นต้น  จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์ได้  (ฎ. 5095/2548)

สรุป  จำเลยอุทธรณ์ได้

หมายเหตุ  ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  หมายถึง  ปัญหาที่ไม่เกี่ยวเฉพาะตัวโจทก์หรือจำเลย  แต่เป็นเรื่องทั่วไปของสาธารณชน  ประเทศชาติและสังคม  เช่น  เรื่องเขตอำนาจศาล  อำนาจฟ้อง  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลหรือการพิพากษาชอบหรือไม่  การปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์หรือไม่  เป็นต้น 

 

ข้อ  3  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี  ศาลจังวัดยะลาพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้  พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายแก่โจทก์  จำเลยอุทธรณ์  ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี  โจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ประเทศมาเลเซีย  โดยไม่เหลือทรัพย์สินใดๆในประเทศไทย  จำเลยทราบข่าวการย้ายภูมิลำเนาของโจทก์  เกรงว่าถ้าโจทก์แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแก่จำเลย  จำเลยได้ยื่นคำร้องอ้างว่าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักร  และไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้ในราชอาณาจักร  ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันค่าฤชาธรรมเนียม  และค่าใช้จ่ายมาวางศาลก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษา  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า

(ก)  ศาลใดมีอำนาจไต่สวนและสั่งคำร้องของจำเลย

(ข)  ศาลจะสั่งให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันฯ  ตามคำร้องของจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  253  วรรคแรก  ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร  หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆก่อนพิพากษาขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

มาตรา  253  ทวิ  ในกรณีที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา  253  วรรคหนึ่ง  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีไม่ว่าเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

วินิจฉัย

(ก)  ศาลใดมีอำนาจไต่สวนและสั่งคำร้องของจำเลย  เห็นว่า  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยร้องขอคุ้มครองในขณะที่คดีอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี  กรณีเช่นนี้  แสดงว่าศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว  ศาลอุทธรณ์จึงเป็นศาลที่มีอำนาจไต่สวนและสั่งคำร้องของจำเลย

(ข)  ศาลจะสั่งให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันฯตามคำร้องของจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  การคุ้มครองประโยชน์  ตามมาตรา  253  ทวิ  ต้องเป็นกรณีโจทก์แพ้คดีในศาลชั้นต้น  แล้วโจทก์อุทธรณ์  ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีโจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปจากประเทศไทยทั้งไม่มีสำนักทำการงานและทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร  หรือเป็นคดีที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจำเลยอาจร้องขอคุ้มครอง  ตามมาตรา  253  และมาตรา  253  ทวิได้  แต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า  จำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตราดังกล่าว  ดังนั้น  ศาลอุทธรณ์จะสั่งตามคำร้องขอของจำเลยไม่ได้  เพราะคำร้องขอของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์  มาตรา  253  ทวิ  วรรคแรก

สรุป 

(ก)  ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่มีอำนาจไต่สวนและสั่งคำร้องของจำเลย

(ข)  ศาลอุทธรณ์จะสั่งตามคำร้องขอของจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  4  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนแหวนเพชร  ราคา  200,000  บาท  ที่จำเลยยืมไปใช้ในวันแต่งงานของเพื่อนร่วมรุ่น  ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา  200,000  บาท  จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนแหวนเพชรดังกล่าว  ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาตามฟ้องแก่โจทก์  คดีถึงที่สุด  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ  เนื่องจากคนร้ายยกเค้าบ้าน  แหวนถูกลักไป  ทั้งไม่มีเงินจะใช้ราคา  โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดียึดรถยนต์ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้  ก่อนถึงวันนัดขายทอดตลาดตำรวจจับคนร้ายได้พร้อมของกลางได้คืนแหวนเพชรให้จำเลย  จำเลยได้นำแหวนเพชรมาคืนให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับ  อ้างว่าได้ยึดทรัพย์แล้วเลยขั้นตอนที่จะรับคืน  จึงไม่รับคืน  ดังนี้ข้ออ้างของโจทก์รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต้องดำเนินการบังคับคดีก่อนหลังตามลำดับที่ระบุไว้ในคำพิพากษา  หาใช่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามอำเภอใจไม่  (ฎ. 5641/2540 , ฎ 788/2543)

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยคืนแหวนเพชร  ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา  200,000  บาท  ให้แก่โจทก์นั้น  เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามลำดับในคำพิพากษา  กล่าวคือ  ถ้าการบังคับคดีตามลำดับนั้น  ในลำดับแรกยังบังคับได้อยู่  ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิเลือกปฏิบัติการชำระหนี้  อีกทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้ในลำดับหลังเช่นกัน

เมื่อได้ความว่า  ตำรวจจับคนร้ายพร้อมของกลางและได้คืนแหวนเพชรให้จำเลย  ทำให้จำเลยสามารถนำแหวนเพชรมาคืนให้โจทก์ได้  กรณีเช่นนี้  ต้องถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว  ข้อที่ว่าหากจำเลยคืนแหวนเพชรไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาจึงไม่เกิดขึ้น  แม้โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดียึดรถยนต์ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดมาชำระหนี้  ซึ่งเป็นการบังคับชำระหนี้ในลำดับที่  2  แล้วก็ตาม  แต่เมื่อจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะนำแหวนเพชรมาคืนให้โจทก์ได้  ก็ไม่มีเหตุที่จะขายทอดตลาดรถยนต์อีกต่อไป

ดังนั้น  เมื่อจำเลยได้นำแหวนเพชรมาคืนโจทก์  โจทก์ไม่ยอมรับโดยอ้างว่าได้ยึดทรัพย์แล้ว  เลยขั้นตอนที่จะรับคืน  จึงรับคืนไม่ได้  ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

Advertisement