การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  จำเลยซึ่งแพ้คดีได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยจำเลยชำระค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  แต่ไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา  229  ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย  จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น  ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า  จำเลยไม่มีเจตนาฝ่าฝืนไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์  จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์  ให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นภายใน  5  วัน  นับแต่วันทราบคำสั่ง  แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป  จำเลยไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งศาลอุทธรณ์  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าจำเลยจะฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  236  วรรคแรก  เมื่อคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ให้ศาลส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและฟ้องอุทธรณ์  ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องตรวจสำนวน  ให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์  ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้อง  แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์  คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุด  แล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน

มาตรา   247  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้น  ให้ยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งอุทธรณ์นั้นและภายใต้บังคับบทบัญญัติสี่มาตราต่อไปนี้กับกฎหมายอื่นว่าด้วยการฎีกา  ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ  1  ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่จะถือว่าเป็นที่สุดตามมาตรา  236  วรรคแรกนั้น  ต้องได้ความว่า  ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  จำเลยจะฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีนี้ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย  และคำสั่งของศาลอุทธรณ์กรณีนี้ก็ไม่ได้มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยแต่ประการใด  ศาลอุทธรณ์เพียงแต่เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์  และให้แจ้งจำเลยชำระค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดและให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ต่อไปเท่านั้น  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา  236  วรรคแรก  อันจะทำให้คดีถึงที่สุดไม่    ดังนั้น  จำเลยจึงชอบที่จะฎีกาต่อไปได้  ตามมาตรา  247 (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่  919/2550)

สรุป  จำเลยฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ต่อไปได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  1,000,000  บาท  แก่โจทก์จำเลยให้การว่า  สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องไม่มีมูลหนี้  จำเลยไม่ต้องรับผิด  ขอให้ยกฟ้องในวันนัดสืบพยานโจทก์  โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า  สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องมีมูลหนี้ตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายแก่โจทก์  ซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยให้รับผิดชำระเงินตามเช็คดังกล่าวแล้ว  แต่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าเช็คมีมูลหนี้มาจากการเล่นพนันกัน  คดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้  จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์แล้วนัดฟังคำพิพากษา  ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาในวันที่โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันดังกล่าว  โดยอ้างว่าผิดระเบียบ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากคำแถลงรับของโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยตามฟ้องไม่มีมูลหนี้  จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์

ให้วินิจฉัยว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์  และที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอน

การพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  24  วรรคแรกและวรรคท้าย  เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง  ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว  จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก  หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ  หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป  ก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้วเมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ  ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป  ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น

คำสั่งใดๆของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227, 228  และ  247

มาตรา  226  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228

 (1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด  ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน  คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา  หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่  ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา  227  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น  มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

วินิจฉัย

คำสั่งระหว่างพิจารณาจะอุทธรณ์ทันทีไม่ได้  ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว  ตามมาตรา  226

ส่วนกรณีที่ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  ตามความในมาตรา  227  และ  228  นั้น  คำสั่งศาลกรณีนี้  ตามกฎหมายบัญญัติมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  และอยู่ภายใต้บังคับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  กล่าวคือ  คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ได้ทันทีและจะต้องอุทธรณ์ภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี  (โดยไม่ต้องโต้แย้ง)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์ได้หรือไม่  เห็นว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์แล้วมีคำสั่งพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยตรง  ฟังข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากคำแถลงรับของโจทก์และจำเลยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยตามฟ้องไม่มีมูลนั้น  จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์  เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาสืบพยาน  โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันนั้น  เป็นอันเพียงพอที่จะรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้  โดยไม่จำเป็นต้องให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบ  จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณามิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย  ตามมาตรา  24  กรณีเช่นนี้โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์  โดยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนมีคำพิพากษาไม่ได้  ต้องห้ามตามมาตรา  226(2)  (ฎ. 201/2524)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้หรือไม่  เห็นว่า  คำสั่งของศาลดังกล่าวถือเป็นคำสั่งใดๆ  ก่อนที่ศาลนั้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีและมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง  ตามมาตรา  227, 228  ทั้งมิได้ทำให้คดีนั้นเสร็จไปจากศาล  จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในระหว่างพิจารณาและคู่ความฝ่ายที่โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว  ตามมาตรา  226(1) (2)  (ฎ. 160/2514  และ  ฎ. 7/2544)

แต่อย่างไรก็ดีคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226(2)  คู่ความจะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เสียก่อนจึงจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายหลัง  และประการสำคัญศาลต้องให้คู่ความมีโอกาสและมีเวลาพอสมควรที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้  แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษาในวันเวลาเดียวกัน  ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีเวลาและโอกาสยื่นคำโต้แย้งและคำสั่งดังกล่าวได้  กรณีเช่นนี้โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อนมีคำพิพากษา  (ฎ. 169/2511)

สรุป  โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์ไม่ได้  แต่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบได้

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์  จำเลยให้การต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย  และจำเลยก็เป็นทายาท  โจทก์จะขับไล่จำเลยไม่ได้  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าบ้านและที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย  และโจทก์จำเลยต่างก็เป็นทายาทของผู้ตาย  และมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์  ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนความอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์  จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่าบ้านและที่ดินที่พิพาทมีค่าเช่าเดือนละ  20,000  บาท  ในระหว่างคดี และโจทก์เป็นผู้รับไปแต่ฝ่ายเดียว  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาล  ศาลไต่สวนไดข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลย  และมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาล

ดังนี้  ศาลใดมีอำนาจสั่งคำร้องของจำเลย   และคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา  253  และมาตรา  254  คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล  เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  เช่น  ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก  หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท  หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คำขอตามวรรคแรกให้บังคับตามมาตรา  21  มาตรา  25  มาตรา  227  มาตรา  228  มาตรา  260  และมาตรา  262

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ศาลใดมีอำนาจสั่งคำร้องของจำเลย  เห็นว่า  การที่จำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาล  ถือเป็นคำขอวิธีการชั่วคราว  ตามมาตรา  264  เมื่อจำเลยยื่นในระหว่างอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา  จึงเป็นศาลที่มีอำนาจสั่งคำร้องของจำเลย  ทั้งมาตรา  264  ก็มิได้บัญญัติให้นำมาตรา  254  วรรคท้ายมาใช้กับคำขอ  ตามมาตรา  264

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  คำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ในการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ยื่นไว้  ตามมาตรา  264  ศาลจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทในคดีให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนพิพากษา

เมื่อจำเลยให้การต่อสู้และให้ศาลยกฟ้องโจทก์  แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้งให้ใช้ค่าเสียหายที่มิได้รับผลประโยชน์จากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายด้วย  กรณีเช่นนี้  จำเลยจะร้องขอให้โจทก์นำผลประโยชน์และค่าเช่ามาวางศาลอุทธรณ์ไม่ได้  เพราะถ้าจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำขอท้ายคำให้การของจำเลยเท่านั้น  ไม่มีผลบังคับไปถึงค่าเช่าและผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินพิพาทด้วยแต่ประการใด  ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  264  ( ฎ.  1463/2515)

สรุป  ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่อำนาจสั่งคำร้องของจำเลย  และคำสั่งที่ให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์  กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน  30,000  บาท  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  โจทก์ขอให้บังคับคดีระหว่างพนักงานบังคับคดีจัดการตามคำพิพากษา  จำเลยได้นำเงิน  30,000  บาท  มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา  ในกรณีใดกรณีหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(1) นายจันทร์ยื่นคำร้องว่า  ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์  โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดี  ขอให้ศาลมีคำสั่งกันที่ดินพิพาทจากการบังคับคดีของโจทก์

(2) นายอังคารยื่นคำร้องว่า  นายอังคารเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน  50,000  บาท  แก่นายอังคาร  แต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดที่นายอังคารอาจบังคับคดีได้  ขอให้มีคำสั่งให้นายอังคารเฉลี่ยทรัพย์จากเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้น

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายจันทร์  และนายอังคารไว้พิจารณาหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  287  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  288  และ  289  บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย

มาตรา  290  เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก  แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ไม่ว่าในกรณีใดๆ  ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเช่นว่ามานี้  เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายจันทร์ไว้พิจารณาหรือไม่  เห็นว่า  คำร้องของนายจันทร์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งกันที่ดินพิพาทจากการบังคับคดีของโจทก์  ถือเป็นคำขอ  ตามมาตรา  287  ซึ่งบัญญัติว่า  การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย  ซึ่งการที่โจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้โจทก์เข้าครอบครองบ้านพิพาทนั้นถือเป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดไว้  มิใช่เป็นการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในอันที่ผู้ร้องจะขอกันส่วนบ้านพิพาทในคดีนี้ได้  ทั้งนี้เพราะการร้องขอกันส่วน  ได้แก่  การที่บุคคลภายนอกผู้เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกนี้ตามคำพิพากษามาชำระหนี้ของตนก่อนเจ้าหนี้อื่น  แต่กรณีมิใช่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  287  ดังกล่าว  นายจันทร์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอกันส่วนที่ดินพิพาทจากการบังคับคดีของโจทก์ในที่ดินได้  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายจันทร์ไว้พิจารณาไม่ได้  (ฎ. 4832/2536)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายอังคารไว้พิจารณาหรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  ตามมาตรา  290  กำหนด  ให้อำนาจเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ตนเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น  แต่เงินจำนวน  30,000  บาท  เป็นเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา มิใช่ทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  กรณีเช่นนี้แม้นายอังคารเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นของจำเลย  นายอังคารก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายอังคารเฉลี่ยทรัพย์ตามคำร้องได้  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับคำร้องของนายอังคารไว้พิจารณาไม่ได้  (ฎ. 1324/2503  (ประชุมใหญ่)  ฎ. 6324/2538)

สรุป  ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายจันทร์และนายอังคาร

Advertisement