การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส  โจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปจำนวน  60,000  บาท  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์  จำเลยให้การต่อสู้คดีระหว่างพิจารณา  บริษัทมิตรแท้  จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต  ต่อมา  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  20,000  บาท  แก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่า  โจทก์เสียหายตามฟ้อง  ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เต็มตามฟ้อง  จำเลยอุทธรณ์ว่า  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้บริษัทมิตรแท้  จำกัด  ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม  เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1  ในประมวลกฎหมายนี้  ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(5) “คำคู่ความ  หมายความว่า  บรรดาคำฟ้อง  คำให้การหรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ

มาตรา  57  บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น  โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา  ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น  แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม  คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการ  เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

มาตรา  224  วรรคแรก  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ตามมาตรา  224  วรรคแรก  ที่กำหนดว่า  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท  ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน  50,000 บาท  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทนี้  ให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์  เป็นหลักในการพิจารณา  มิใช่ทุนทรัพย์ที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น  (ฎ.3367/2538)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่  เห็นว่า  อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า  โจทก์เสียหายตามฟ้อง  ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เต็มตามฟ้อง  ถือเป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดค่าเสียหายอันเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น  จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีจำนวนเท่ากับค่าเสียหายที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยรับผิดเพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียง  40,000  บาท  ซึ่งถือว่าไม่เกิน  50,000  บาท  กรณีเช่นนี้  อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์  ตามมาตรา  224  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่  เห็นว่า  อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้บริษัทมิตรแท้  จำกัด  ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น  เมื่อพิจารณาแล้วได้ความว่า  คำร้องสอดของบริษัทมิตรแท้  จำกัด  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วม  ตามมาตรา  57(2)  ถือเป็นคำคู่ความ  ตามมาตรา  1(5)  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำร้องของบริษัทมิตรแท้  จำกัด  ผู้ร้องสอดในฐานะคู่ความผู้ถูกกระทบสิทธิโดยผลของคำสั่งนั้น  จึงชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตามมาตรา  233  คดีนี้เมื่อปรากฏว่าบริษัทฯ  มิได้อุทธรณ์  จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแทนผู้ร้องแต่ประการใด  ทั้งนี้เพราะจำเลยมิใช่คู่ความในส่วนของคดีร้องสอดหรือไม่เป็นบุคคลภายนอกที่ถูกกระทบกระเทือนหรือมีส่วนได้เสียในการที่ศาลยกคำร้องดังกล่าวนั่นเอง  (ฎ. 1254/2527)

สรุป  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  2  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์  จำเลยต่างอุทธรณ์  จำเลยที่  1  อุทธรณ์พร้อมกับขอดำเนินอย่างคนอนาถาขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล  รวมทั้งเงินวางศาล  ศาลอนุญาต จำเลยที่  2  อุทธรณ์แต่ไม่วางค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา  229  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่  2  ทนายของจำเลยที่  2  มีความเห็นว่า  เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่  1  และ  2  ต้องร่วมกันรับผิดชอบ  เมื่อศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้จำเลยที่  1  ย่อมมีผลถึงจำเลยที่  2  ด้วย  ดังนี้  ความเห็นของทนายจำเลยที่  2  รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  229  การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย  ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาล  เพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์  (คือฝ่ายโจทก์หรือจำเลยความเดิมซึ่งเป็นฝ่ายที่มิได้อุทธรณ์ความนั้น)  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  235  และ  236

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้น  ตามมาตรา  229  ได้กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ต้องวางค่าธรรมเนียมศาลพร้อมอุทธรณ์  เว้นแต่  คดีที่ขอฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา  และศาลได้อนุญาต  ตามมาตรา  157  และมาตรา  149  วรรคท้ายแล้ว  ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาล  (ฎ. 316/2518)

การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์  จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์  เมื่อจำเลยที่  1  อุทธรณ์  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นพร้อมกับคำขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา  ศาลอนุญาต  กรณีเช่นนี้การที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่  1  ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา  จะมีผลไปถึงจำเลยที่  2  ด้วยหรือไม่ เห็นว่า  ตามมาตรา  157  บัญญัติว่า  เมื่อศาลอนุญาตให้บุคคลใดฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างอนาถา  บุคคลนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น  ค่าธรรมเนียมเช่นว่านั้นให้รวมถึงเงินค่าวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา  ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักบทบัญญัติดังกล่าว  แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า  การยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลรวมทั้งเงินวางศาลในการยื่นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างอนาถานั้น  เป็นเรื่องของจำเลยแต่ละคน  แม้ศาลจะอนุญาตให้จำเลยที่  1  ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถาก็ไม่มีผลถึงจำเลยที่  2  แต่อย่างใด  (ฎ. 8188/2538)

ดังนั้น  ความเห็นของทนายจำเลยที่  2  ที่ว่า  เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่  1  และที่  2  ต้องร่วมกันรับผิดชอบ  เมื่อศาลยกค่าธรรมเนียมศาลให้จำเลยที่  1  ย่อมมีผลถึงจำเลยที่  2  ด้วย  จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  การที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1  ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่มีผลถึงจำเลยที่  2  ความเห็นของทนายจำเลยที่  2  ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลย  ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์  และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน  10  ล้านบาท  ฐานละเมิดลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าโจทก์  จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยไม่ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าโจทก์  ขอให้ยกฟ้อง  ก่อนวันสืบพยานโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยฝากไว้กับธนาคารและห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนมีคำพิพากษา  แต่มิได้แนบสำเนาคำร้องเพื่อส่งให้แก่จำเลย  และศาลมิได้สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยได้มีโอกาสได้คัดค้านก่อน  ในวันไต่สวนศาลสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว  โดยจำเลยไม่ได้มีโอกาสได้คัดค้านก่อน และมีคำสั่งให้อายัดเงินฝากธนาคารและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนมีคำพิพากษา

ดังนี้  การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของโจทก์  โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสจำเลยได้คัดค้านก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  21  เมื่อคู่ความฝ่ายใดเสนอคำขอหรือคำแถลงต่อศาล

(3) ถ้าประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้ว่า  คำขออันใดอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียวแล้ว  ให้ศาลมีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่นๆ  ก่อนออกคำสั่งในเรื่องนั้นๆได้  เว้นแต่ในกรณีที่คำขอนั้นเป็นเรื่องขอหมายเรียกให้ให้การ  หรือเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินก่อนคำพิพากษา  หรือเพื่อให้ออกหมายบังคับ  หรือเพื่อจับหรือกักขังจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา

มาตรา  254  ในคดีอื่นๆ  นอกจากคดีมโนสาเร่  โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว  ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไปเพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใดๆดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา  รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย

(2) ให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป  ซึ่งการละเมิดหรือการผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง  หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลยหรือมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน  ขาย  ยักย้ายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย  หรือมีคำสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลายซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว  ทั้งนี้  จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  คำขอคุ้มครองชั่วคราว  ตามมาตรา  254  วรรคแรก  ถือเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเฉพาะคำขอให้ยึดหรืออายัด  ตามมาตรา 254(1)  และคำขอให้จับกุมและกักขังจำเลย  ตามมาตรา  254(4)  และถือว่าเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด  กล่าวคือ  ศาลจะสั่งคำขอโดยไม่ต้องส่งสำเนาคำขอและไม่ต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อน  ส่วนคำขอห้ามชั่วคราว  ตามมาตรา  254(2)และ(3)  ถือเป็นดุลพินิจของศาลที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ก็ได้  (ฎ. 699/2508)

การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของโจทก์  โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสจำเลยได้คัดค้านก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  แยกพิจารณาดังนี้

ประเด็นแรก  โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยฝากไว้กับธนาคาร  เห็นว่าคำร้องของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นคำขอ  ตามมาตรา  254(1)  ซึ่งถือว่าเป็นคำขอฝ่ายเดียว  และเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัดที่ศาลอยู่ในบังคับที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้  ดังนั้น  การที่ศาลไต่สวนสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องขอให้จำเลย  จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ตามมาตรา  254(2) ประกอบมาตรา  21(3)  ตอนท้าย

อนึ่ง  เมื่อได้ความว่าเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด  หากศาลยังส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยกรณีเช่นนี้  อาจทำให้ผู้ขอได้รับความเสียหาย  กล่าวคือ  จำเลยอาจยักย้ายทรัพย์สินหลบหนีการยึดหรืออายัดได้

ประเด็นที่สอง  คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทไว้ก่อนมีคำพิพากษา  เห็นว่า  คำร้องขอของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นคำขอ  ตามมาตรา  254(2)  อันเป็นคำขอฝ่ายเดียวที่ไม่เคร่งครัด  กล่าวคือ  เป็นดุลพินิจของศาลที่จะส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ก็ได้  ดังนั้น  เมื่อได้ความว่า  ศาลไต่สวนสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยได้มีโอกาสคัดค้านก่อน  อันถือว่า  ศาลใช้ดุลพินิจไม่รับฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง  ตามมาตรา  21(3)  ตอนต้น  ฉะนั้น  คำสั่งศาลในกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

สรุป  คำสั่งศาลที่อนุญาตตามคำขอของโจทก์โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสจำเลยได้คัดค้านก่อนทั้ง  2  กรณีนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ข้อ  4  ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของร่วม  จำเลยไม่ปฏิบัติ  ศาลแพ่งออกหมายบังคับตามคำร้องขอของโจทก์  และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินดังกล่าวเพื่อขายนำเงินมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง  ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า  ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่เป็นส่วนของโจทก์กึ่งหนึ่ง  ขอให้กันเงินที่ได้จากการขายที่ดินส่วนที่โจทก์จะได้รับดังกล่าวกึ่งหนึ่ง

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลแพ่งจะมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  282  วรรคแรก  ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งใดกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่ง  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้  เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจที่จะรวบรวมเงินให้พอชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธียึดหรืออายัด  และขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติในลักษณะนี้

มาตรา  287  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  288  และ  289  บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่บุคคลภายนอกจะใช้สิทธิทางศาล  ตามมาตรา  287  ได้นั้น  ต้องได้ความว่า  มีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้  และการบังคับคดีนั้น  ไปกระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิ์หรือสิทธิอื่นๆของบุคคลภายนอก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลแพ่งจะมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้หรือไม่  เห็นว่า  คำพิพากษาที่ให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของร่วมด้วยกันนั้น  โจทก์และจำเลยมิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน  การบังคับคดีแก่ที่ดินเพื่อแบ่งในระหว่างเจ้าของรวม  จึงมิใช่การบังคับแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  282  วรรคแรก  กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์  ตามมาตรา  287  ที่บัญญัติว่า  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  288  และ  289  บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิ์หรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย  ผู้ร้องย่อมไม่อาจกล่าวอ้างสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่แก่โจทก์เข้ามาในชั้นบังคับคดีนี้ได้  หากผู้ร้องมีสิทธิในเงินที่โจทก์จะได้รับจากการบังคับคดีแก่ที่ดินในคดีนี้อย่างไรก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ต่างหากจากคดีนี้  ศาลแพ่งชอบที่จะไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา  (ฎ.5470/2536)

สรุป  ศาลแพ่งชอบที่จะไม่รับคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้องไว้พิจารณา 

Advertisement