การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์  ก่อนถึงวันนัด  2  วัน  โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายป่วย  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตในวันนั้นเอง  โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งแต่ประการใด  ครั้นถึงวันนัดปรากฏว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ดังนี้  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี  และจะอุทธรณ์ในข้อจำหน่ายคดีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  226  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด  ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน  คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา  หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่  ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา  227  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น  มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

มาตรา  228  ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(1) ให้กักขัง  หรือปรับไหม  หรือจำขัง  ผู้ใด  ตามประมวลกฎหมายนี้

(2) มีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา  หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป  หรือ

(3) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง  หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คำสั่งเช่นว่านี้  คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน  นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป

แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา  ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป  และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น  แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา  คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา  (3)  ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า  การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี  หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้  ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์  หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น

ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้  ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา  223

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณานั้น  มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1       จะต้องเป็นคำสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดี

2       เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล  กล่าวคือ  ศาลยังต้องทำคดีนั้นต่อไป

3       ไม่ใช่คำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227  และมาตรา  228

เมื่อเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว  คู่ความจะอุทธรณ์คำสั่งทันทีไม่ได้  ต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นตามมาตรา  226 (2)  ส่วนคำสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์  3  ประการนี้ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีได้หรือไม่  เห็นว่า การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณากล่าวคือ  เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วศาลยังต้องพิจารณาคดีนั้นอีกต่อไป  (ไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล)  เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลไว้  อีกทั้งโจทก์ก็มีเวลาที่จะโต้แย้งถึง  2  วัน  ซึ่งนับได้ว่าโจทก์มีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งได้  กรณีเช่นนี้  เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งเช่นว่านั้นไว้  จึงหมดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี  ตามมาตรา  226  (2)  ประกอบมาตรา  226  (1)  (ฎ.756/2543)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในข้อจำหน่ายคดีได้หรือไม่  เห็นว่า  คำสั่งจำหน่ายคดีไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาคดี  กล่าวคือ  เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วทำให้คดีเสร็จไปจากศาล  กล่าวคือ  ศาลไม่มีหน้าที่ต้องพิจารณาคดีนั้นอีกต่อไป  กรณีเช่นนี้  โจทก์อุทธรณ์ได้  แม้โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ก็ตาม  เพราะคำสั่งจำหน่ายคดีไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา  ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าเป็นที่สุด  หรือห้ามหรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์แต่ประการใด  (ฎ.1365/2530)

สรุป  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีไม่ได้  แต่สามารถอุทธรณ์ในคำสั่งจำหน่ายคดีได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดชำระหนี้  จำเลยให้การปฏิเสธ  ศาลชั้นต้นกำหนดให้มีการชี้สองสถานระหว่างนั้น

(ก)  นายสน  ยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา  57(1)

(ข)  โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกธนาคารกรุงสุโขทัย  จำกัด  มหาชน  เข้ามาเป็นจำเลยร่วม  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  57(3) (ก)

ทั้งสองกรณีศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  นายสนและโจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  18  วรรคท้าย  คำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227 228  และ  247

มาตรา  57  บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพ่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง  หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่  โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้อง  เกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

(3) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี  (ก)  ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้  เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน  ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี

มาตรา  226  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด  ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน  คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา  หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่  ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา  227  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น  มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

มาตรา  228  ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(1) ให้กักขัง  หรือปรับไหม  หรือจำขัง  ผู้ใด  ตามประมวลกฎหมายนี้

(2) มีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา  หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป  หรือ

(3) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง  หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คำสั่งเช่นว่านี้  คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน  นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป

แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา  ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป  และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น  แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา  คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา  (3)  ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า  การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี  หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้  ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์  หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น

ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้  ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา  223

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  คำสั่งระหว่างพิจารณาจะอุทธรณ์ทันทีไม่ได้  ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว  ตามมาตรา  226  ตัวอย่างเช่น  คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง  (ฎ.698/2481)  คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าคดีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากให้ดำเนินคดีอย่างคดีมโนสาเร่  (ฎ.917/2539)  เป็นต้น

ส่วนกรณีที่ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  ตามความมาตรา  227  และ  228  นั้น  คำสั่งศาลกรณีนี้ตามกฎหมายบัญญัติมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  และอยู่ภายใต้บังคับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  หมายความว่า  คำสั่งของศาลกรณีนี้  คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ได้ทันทีและจะต้องอุทธรณ์ภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี  (โดยไม่ต้องโต้แย้ง)

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์  นายสนจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาคดีได้หรือไม่เห็นว่า  การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม  ตามมาตรา  57(1)  คำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องซึ่งถือเป็นคำคู่ความ  การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องอันมีผลเป็นการไม่รับคำร้องสอด  ดังนั้น  คำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความ  ตามมาตรา  227  ประกอบมาตรา  18  จึงไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  กรณีเช่นนี้นายสนย่อมอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด  1  เดือน  นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง  (ฎ.4410 4411 / 2542)

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาคดีได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความ  ตามมาตรา  57(3)  คำร้องดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นคำฟ้องหรือคู่ความ  ดังนั้น  เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ให้เรียกธนาคารกรุงสุโขทัยฯ  เข้ามาเป็นจำเลยร่วม  กรณีจึงไม่เป็นคำสั่งไม่รับหรือคืนคู่ความ  ตามมาตรา  18  แต่อย่างใด  แต่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา  ตามมาตรา  226(1)  (ฎ.9108/2544)

สรุป 

(ก)  นายสนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด  1  เดือน  นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

(ข)  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาคดีไม่ได้   

 

ข้อ  3  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด  ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี  ให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน  2,500,000  บาทแก่โจทก์  ศาลชั้นต้นมีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาครบกำหนดเวลาในคำบังคับ  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  ในชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินของจำเลยและดำเนินการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล  ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินที่ยึด  จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่า  รายได้ประจำปีจากที่ดินที่ยึดเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมกับค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี  ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการที่ดินที่ยึดเพื่อนำเงินรายได้จากที่ดินที่ยึดมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา  โจทก์แถลงคัดค้าน  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย  จำเลยอุทธรณ์คำสั่งพร้อมกับคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้งดการขายที่ดินของจำเลยไว้ก่อน  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์  ต่อมาศาลทำการไต่สวนคำร้องได้ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวและมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการขายที่ดินของจำเลยไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา  253  และมาตรา  254  คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล  เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  เช่น  ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก  หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท  หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คำขอตามวรรคแรกให้บังคับตามมาตรา  21  มาตรา  25  มาตรา  227  มาตรา  228  มาตรา  260  และมาตรา  262

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  คำสั่งของศาลที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการขายที่ดินของจำเลยไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า การที่จำเลยร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งงดการขายที่ดินที่ยึดไว้ก่อนในระหว่างอุทธรณ์ถือเป็นคำขอที่จำเลยประสงค์ให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองจำเลยไว้ก่อนมีคำพิพากษาตามมาตรา  264  กรณีเช่นนี้  หากศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ  ศาลจะต้องไต่สวนแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนมีคำพิพากษา

เมื่อได้ความว่าศาลมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย  ย่อมมีผลเท่ากับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไว้  ซึ่งถ้าหากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้ว  หากศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีความเห็นว่าควรตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการที่ดินตามคำร้อง  ก็จะไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้  จึงไม่ชอบที่สั่งยกคำร้องของจำเลย  เนื่องจากไม่เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของจำเลย  แต่เมื่อศาลได้ยกคำร้องของจำเลย  คำสั่งของศาลย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา  264  (ฎ.3752/2533)

สรุป  คำสั่งของศาลที่ให้ยกคำร้องของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา  นายแดงยื่นคำร้องว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของตนไม่ใช่ของจำเลย  ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนการยึดที่ดินแก่นายแดง  โจทก์ยื่นคำให้การว่าที่ดินที่นำยึดเป็นของจำเลย  ไม่ใช่ของนายแดง  ขอให้ยกคำร้อง  ระหว่างพิจารณาโจทก์กับนายแดงตกลงให้ศาลถอนการยึดที่ดินดังกล่าว  โดยนายเขียวได้นำโฉนดที่ดินของนายเขียวมาวางค้ำประกันต่อศาลแทนการถอนการยึดที่ดินดังกล่าวมีข้อตกลงว่า  ถ้านายแดงแพ้คดี  นายเขียวยินยอมให้โจทก์บังคับชำระหนี้จากที่ดินของนายเขียวดังกล่าวแทนที่ดินโจทก์นำยึด  ต่อมาศาลพิพากษาว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นของนายแดงไม่ใช่ของจำเลย  โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดโจทก์อุทธรณ์  ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  นายเขียวยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคืนโฉนด  ที่ดินของนายเขียวที่วางค้ำประกันต่อศาลไว้นั้น   โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า  คดียังไม่ถึงที่สุด  หากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี  โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินของนายเขียวได้  นายเขียวไม่มีสิทธิขอคืน  ขอให้ยกคำร้อง

ให้วินิจฉัยว่า  นายเขียวมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  274  ถ้าบุคคลใดๆได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลโดยทำเป็นหนังสือประกันหรือโดยวิธีอื่นๆ  เพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษา  หรือคำสั่ง  หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นย่อมใช้บังคับแก่การประกันนั้นได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันขึ้นใหม่

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  สำหรับกำหนดระยะเวลาของการค้ำประกันในศาลนั้น  นอกจากจะตกลงกันให้ค้ำประกันชั่วจำกัดระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง  และภายใต้เงื่อนไขใดก็ได้แล้ว  ผู้ค้ำประกันอาจตกลงเข้าค้ำประกันตลอดไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดก็ได้  แต่ถ้าไม่ตกลงกันไว้ให้ชัดแจ้งว่าเป็นการค้ำประกันตลอดไปจนกว่าคดีถึงที่สุดหรือไม่  ย่อมเป็นการค้ำประกันเพียงชั่วระยะเวลาในระหว่างพิจารณาของแต่ละชั้นศาลเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเขียวผู้ค้ำประกันมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวหรือไม่  เห็นว่าตามสัญญาค้ำประกัน  มีข้อตกลงกันเพียงว่า  ถ้านายแดงแพ้คดีนายเขียวยินยอมให้โจทก์บังคับชำระหนี้จากที่ดินของนายเขียว  แทนที่ดินที่โจทก์นำยึดเท่านั้น  สัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อความระบุว่า  นายเขียวผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนค้ำประกันตลอดไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดโดยชัดแจ้งแต่อย่างใด  (ฎ.3653/2534)  ดังนั้น  เมื่อศาลพิพากษาให้นายแดงชนะคดี  (พิพากษายกฟ้อง)  โดยพิพากษาว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นของนายแดงไม่ใช่ของจำเลย  จึงไม่มีหนี้ที่นายเขียวผู้ค้ำประกันจะต้องชำระตามสัญญาค้ำประกัน  และสัญญาค้ำประกันย่อมระงับสิ้นไปทันที  แม้โจทก์จะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลนั้นอยู่ก็ตาม  โจทก์ไม่อาจอ้างว่าหากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ตนชนะคดีแล้ว  โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาจากที่ดินที่นายเขียวนำมาวางค้ำประกันต่อศาลได้  คำคัดค้านของโจทก์ฟังไม่ขึ้น  นายเขียวจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนโฉนดที่ดินได้  (ฎ.8228/2538)

สรุป  นายเขียวมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนโฉนดที่ดินได้

Advertisement