การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3005 (LA 305),(LW 306) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ 

ข้อ 1.       โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1  และจำเลยที่ 2  ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์โดยประมาทในทางการที่จ้างชนโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีระหว่างพิจารณาคดีโจทก์กับจำเลยที่ 2  จำเลยที่ 2  ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1  เข้าเป็นคู่ความร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 หากการพิจารณาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดี จำเลยที่ 2 มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้  ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะออกหมายเรียกจำเลยที่ 1  เข้าเป็นคู่ความตามคำร้องขอของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57

วินิจฉัย   

ตามปัญหาจำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นการ    ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความด้วยถูกหมายเรียกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) แต่ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความจะต้องเป็นบุคคลภายนอกที่มิใช่โจทก์จำเลยในคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลย จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นคู่ความ แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นคู่ความอยู่เพราะศาลยังต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ดังนั้นถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะไม่ออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความตามคำร้องขอของจำเลยที่ 2

 

ข้อ 2.       วรเดชตกลงซื้อที่ดินตั้งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีจากปัญญามีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอยุธยาเพื่อก่อสร้างโรงงานโดยในสัญญาจะซื้อขายมีข้อตกลงกันว่าวรเดชได้ว่าจ้างปัญญาก่อสร้างโรงงานและจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อการก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา  ปัญญาผิดสัญญาวรเดชบอกเลิกสัญญาและประสงค์จะฟ้องปัญญาให้คืนเงินมัดจำและชดใช้ค่าเสียหาย  วรเดชจะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) และ 4 ทวิ

วินิจฉัย  

ตามปัญหาวรเดชผู้ซื้อที่ดินอ้างว่าปัญหาผู้ขายที่ดินผิดสัญญาไม่ก่อสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา วรเดชจึงบอกเลิกสัญญาและประสงค์จะฟ้องเรียกค่ามัดจำคืน และให้ชดใช้ค่าเสียหาย จึงไม่ใช่คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ ต้องบังคับตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) วรเดชชอบที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล

ดังนั้น วรเดชต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จังหวัดอยุธยา อันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

 

ข้อ 3.       เอกเป็นโจทก์ฟ้องยอดเป็นจำเลยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขายที่ดินขอให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่าโจทก์ยังค้างชำระราคาที่ดินจำเลย การที่จำเลยให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อเกิดจากการฉ้อฉลและสำคัญผิดเป็นโมฆะขอให้เพิกถอนโจทก์จากผู้ถือกรรมสิทธิ์และริบมัดจำ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา  ยอดได้เป็นโจทก์ฟ้องเอกเป็นจำเลย อ้างว่าจำเลยตกลงซื้อที่ดิน โจทก์ชำระเงินวันทำสัญญาบางส่วน โจทก์ใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อแล้วจะชำระราคาส่วนที่เหลือให้โจทก์แต่จำเลยไม่ชำระราคาที่ดิน      ที่ค้างแก่โจทก์  ขอศาลบังคับให้จำเลยชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ  ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำฟ้องของโจทก์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1 (3) และ 173 วรรคสอง (1)

วินิจฉัย   

ตามปัญหา เอกเป็นโจทก์ฟ้องยอดเป็นจำเลยขอให้รังวัดแบ่งแยกที่ดินที่เอกซื้อจากยอด ยอดให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่าโจทก์ยังค้างชำระราคาที่ดินที่จำเลยให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ซื้อเกิดจากการฉ้อฉลและสำคัญผิดเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนโจทก์จากผู้ถือกรรมสิทธิ์และริบมัดจำ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ยอดได้เป็นโจทก์ฟ้องเอกเป็นจำเลย อ้างว่าเอกซื้อที่ดินจากยอดแล้วไม่ชำระราคาที่ค้าง ขอศาลบังคับให้จำเลยชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ     คดีที่ยอดเป็นโจทก์ฟ้องเอกเป็นจำเลยในคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกับคดีที่เอกเป็นโจทก์ฟ้องยอดเป็นจำเลยและอยู่ในระหว่างพิจารณา ยอดเป็นโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีก่อนและฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1(3) จำเลยฟ้องแย้งได้กลับฐานะเป็นโจทก์ เมื่อคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับฟ้องแย้งในคดีก่อนและโจทก์เป็นคนเดียวกัน ข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เพราะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ดังนั้น ศาลจะสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์เพราะเป็นฟ้องซ้อน

 

ข้อ 4.       โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์โดยไม่สุจริต  ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนโรงเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด  จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1  มิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง ศาลพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์มีมูลไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1  โดยไม่มีการสืบพยาน  ส่วนโจทก์กับจำเลยที่ 2  ศาลแจ้งกำหนดวันนัดสืบพยานให้ทราบแล้วโดยชอบ  ถึงกำหนดวันนัดสืบพยาน โจทก์และทนายไม่มาศาลมาแต่จำเลย  จำเลยขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ  ดังนี้ คำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยที่ 1  ขาดนัด และคำสั่งจำหน่ายคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง, มาตรา 200 และมาตรา 202

วินิจฉัย  

 ตามปัญหา เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้วการพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องอยู่ในบังคับ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรค 1 และวรรคสอง เมื่อศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าฟ้องโจทก์มีมูลไม่ขัดต่อกฎหมาย ก่อนศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีศาลต้องสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบเพราะคดีนี้เป็นการพิพาทกันเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ โดยโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินจำเลยมาปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำแดนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ หากศาลพิพากษาชี้ขาดไปโดยไม่มีการสืบพยานจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2    ยื่นคำให้การต้องพิจารณาคดีไปอย่างธรรมดา เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม    ป.วิ.แพ่ง มาตรา 200 และเมื่อจำเลยขอให้ศาลยกฟ้องหมายถึงจำเลยประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป     แต่ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 202

สรุป   คำพิพากษาศาลที่ชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

Advertisement