การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเจี๊ยบผู้พิพากษาศาลจังหวัดได้พิจารณาคดีแพ่งที่นายป๋อฟ้องนายแป๋งว่าทำละเมิด  เรียกค่าสินไหมทดแทน  3  แสนบาท  นายแป๋งให้การต่อสู้ว่า  นายป๋อเป็นผู้ทำละเมิดและฟ้องแย้งเรียกค่าสินไหมทดแทน  4  แสนบาท  แล้วพิพากษาให้นายป๋อเป็นฝ่ายชนะคดี ยกฟ้องนายแป๋ง 

ท่านว่าการพิจารณาพิพากษาคดีของนายเจี๊ยบชอบหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

ตามหลักพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  25(4)  ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวของศาลจังหวัด  (ศาลชั้นต้น)  มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์  (ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้อง)  ไม่เกิน  3  แสนบาท

การที่นายเจี๊ยบผู้พิพากษาคนเดียวของศาลจังหวัดได้พิจารณาคดีแพ่งที่นายป๋อฟ้องนายแป๋งว่าทำละเมิด  เรียกค่าสินไหมทดแทน  3 แสนบาทนั้น  ถือว่าเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์  คือ  จำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน  3  แสนบาท  จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลจังหวัด  ดังนั้นนายเจี๊ยบจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว

แต่ในกรณีที่นายแป๋งให้การต่อสู้ว่านายป๋อเป็นผู้ทำละเมิด  และฟ้องแย้งเรียกค่าสินไหมทดแทน  4  แสนบาทนั้น  การฟ้องแย้งของนายแป๋งถือว่าเป็นการฟ้องคดีใหม่  การคำนวณทุนทรัพย์จึงต้องคำนวณแยกจากฟ้องเดิม  ดังนั้นเมื่อการฟ้องแย้งของนายแป๋งเป็นคดีทีมีทุนทรัพย์เกิน  3  แสนบาท  จึงเกินอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว  ดังนั้น  นายเจี๊ยบผู้พิพากษาคนเดียวในศาลจังหวัดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาฟ้องแย้งของนายแป๋ง  และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  นายเจี๊ยบได้พิจารณาพิพากษาฟ้องแย้งของนายแป๋งโดยพิพากษายกฟ้องฟ้องแย้งของนายแป๋ง  การพิจารณาพิพากษาคดีของนายเจี๊ยบจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป  การพิจารณาพิพากษาคดีของนายเจี๊ยบ  ในกรณีที่นายป๋อฟ้องชอบด้วยกฎหมาย  แต่การพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนที่นายแป๋งฟ้องแย้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  ในศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา  มีนายนิติ  ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา  ได้พิจารณาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์สามแสนบาท  ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดี  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทเกินสามแสนบาท  นายนิติเห็นว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  จึงนำคดีไปปรึกษากับนายยิ่งใหญ่  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาตรวจสำนวนลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาร่วมกับนายนิติ  พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี  คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา  26  ภายใต้บังคับมาตรา  25  ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น  นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน  จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา  25(4)  ไปแล้ว  ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  ศาลแขวงซึ่งมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์  (ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้อง)  ไม่เกิน  3  แสนบาท  (มาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17)

การที่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาได้พิจารณาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์  3  แสนบาทนั้น  นายนิติผู้พิพากษาศาลแขวงฯ  ย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวได้ตามมาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในระหว่างการพิจารณาคดีว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทเกิน  3  แสนบาท  คดีจึงเกินอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา  ดังนั้นนายนิติผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ  และคืนฟ้องให้โจทก์เพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจ  นายนิติจะนำคดีไปปรึกษากับนายยิ่งใหญ่  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะทำคำพิพากษา  โดยเห็นว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา  31(4)  มิได้  เพราะตามมาตรา  26  ประกอบกับมาตรา  31(4)  นั้นเป็นการให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นเท่านั้น  มิได้ให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีในศาลแขวงแต่อย่างใด  อีกทั้งถ้าให้อำนาจผู้พิพากษาคนเดียวในศาลแขวงดำเนินการดังกล่าวได้  ก็จะเป็นการขยายอำนาจของศาลแขวงให้มีอำนาจเหมือนศาลจังหวัด

ดังนั้น  การที่นายนิติไม่สั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแต่นำคดีดังกล่าวไปปรึกษากับนายยิ่งใหญ่  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาตรวจสำนวน  และลงลายมือชื่อร่วมกับนายนิติ  พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีนั้น  คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  คำพิพากษาของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  นายขาว  นายดำ  นายเทา  ผู้พิพากษาศาลฎีกา  ได้เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ปรากฏว่าคดีดังกล่าวมีปัญหาข้อกฎหมายที่องค์คณะทั้งสามไม่อาจหาข้อยุติได้  จึงได้เสนอต่อประธานศาลฎีกาให้มีการนำคดีเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา  ในการประชุมใหญ่นั้น  มีองค์คณะทั้งสามคนและผู้พิพากษาในศาลฎีกาอีกแปดสิบคนเข้าร่วมประชุมจนได้ข้อยุติ  แต่นายเทาไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมใหญ่  จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะ  นายเก่งผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มิได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกา  จึงลงลายมือชื่อในคำพิพากษาร่วมเป็นองค์คณะกับนายขาวและนายดำหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีแล้ว 

คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  27  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  หรือศาลฎีกา  ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์  ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค  และผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลนั้นหรือในแผนกคดีของศาลดังกล่าว  เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมแผนกคดีแล้ว  มีอำนาจพิพากษาหรือทำคำสั่งคดีนั้นได้  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย

วินิจฉัย

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  27  วรรคแรก  ได้บัญญัติว่า  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกานั้น  จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย  3  คนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้  ดังนั้นตามอุทาหรณ์  การที่นายขาว  นายดำ  และนายเทา  ผู้พิพากษาศาลฎีกาได้เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเรื่องหนึ่งนั้น  การพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาทั้งสามคนในคดีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

และในกรณีที่มีการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา  พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  27  วรรคสอง  ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้าประชุมใหญ่ศาลฎีกาเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่แล้ว  มีอำนาจพิพากษาคดีนั้นได้

เมื่อตามอุทาหรณ์  ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ได้มีการนำคดีแพ่งเรื่องดังกล่าวทีมีปัญหาข้อกฎหมายที่องค์คณะทั้งสามไม่อาจหาข้อยุติได้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจนได้ข้อยุติ  แต่นายเทาซึ่งไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมใหญ่  จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะ  และนายเก่งผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มิได้เข้าประชุมใหญ่ศาลฎีกา  จึงลงลายมือชื่อในคำพิพากษาร่วมเป็นองค์คณะกับนายขาว  และนายดำหลังจากได้ตรวจสำนวนแล้วนั้น  คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะแม้คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวจะได้มีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาครบ  3  คนเป็นองค์คณะแล้วก็ตาม  แต่นายเก่งมิได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในครั้งนี้  ดังนั้นนายเก่งจึงไม่มีอำนาจในการตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาตามมาตรา  27  วรรคสอง

สรุป  คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement