การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เขียวเป็นโจทก์ฟ้องนายเหลืองต่อศาลจังหวัดข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  290  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่  3  ปี  ถึง  15  ปี  นายใหญ่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสำนวนคดีดังกล่าวให้นายเอกผู้พิพากษาศาลจังหวัดไต่สวนมูลฟ้อง  นายเอกได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่มีมูลควรพิพากษายกฟ้องจึงนำสำนวนคดีไปปรึกษากับนายใหญ่  นายใหญ่จึงมอบหมายให้นายเด่นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนั้น  ตรวจสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องร่วมกับนายเอก

ท่านเห็นว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน  หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  แล้วแต่กรณี

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง  แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา  25(5)

วินิจฉัย

การที่นายเอกผู้พิพากษาศาลจังหวัด  ซึ่งเป็นผู้พิพากษาคนเดียวทำการไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ย่อมมีอำนาจทำได้  ตามมาตรา  25(3)

เมื่อนายเอกผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว  เห็นว่าคดีไม่มีมูล  ควรพิพากษายกฟ้อง  แต่คดีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนานั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนด  คือจำคุกตั้งแต่  3  ปีถึง  15  ปี  ซึ่งถือว่าเกินอัตราโทษตามมาตรา  25(5)  คือ  มีอัตราโทษจำคุกเกินกว่า  3  ปี  จึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียว  นายเอกผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวนมูลฟ้องจะพิพากษายกฟ้องไม่ได้  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  31(1)  ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดี ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ดังนั้นจึงต้องมีผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะ  และผู้พิพากษาที่จะเป็นองค์คณะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษานั้น  ได้แก่  ผู้พิพากษาที่บัญญัติไว้ในมาตรา  29(3)  คือ  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค  หรือผู้ทำการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค  ตามมาตรา  29  วรรคท้าย

ดังนั้นในกรณีนี้นายใหญ่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาเป็นองค์คณะร่วมกับนายเอกเท่านั้น  จะมอบหมายให้ผู้ใดทำคำพิพากษาแทนไม่ได้  การที่นายใหญ่มอบหมายให้นายเด่นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนั้นตรวจสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องร่วมกับนายเอก  จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  31(1)  ประกอบมาตรา  29(3) 

สรุป  การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  2  ศาลแขวงสุพรรณบุรี  โดยนายอรรถวิทย์  ผู้พิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรี  พิจารณาคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องมีทุนทรัพย์สามแสนบาท ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์ที่พิพาทเกินสามแสนบาท  นายอรรถวิทย์เห็นว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นไม่อาจก้าวล่วงได้  จึงนำคดีไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงสุพรรณตรวจสำนวนลงชื่อทำคำพิพากษาเป็นองค์คณะ  แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี  คำพิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา  26  ภายใต้บังคับมาตรา  25  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น  นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน  จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา  25(4)  ไปแล้ว  ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว

วินิจฉัย

ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17  คือคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน  3  แสนบาท  และมีผู้พิพากษาคนเดียว

โจทก์ฟ้องคดีมีทุนทรัพย์  3  แสนบาท  ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง  แต่เมื่อพิจารณาไปแล้วปรากฏว่า  ทุนทรัพย์ที่พิพาทมีราคาเกินกว่า  3  แสนบาท  คดีจึงเกินอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา  นายอรรถวิทย์ผู้พิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรีจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ  และคืนฟ้องให้โจทก์นำคดีไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจ  นายอรรถวิทย์จะนำคดีไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงสุพรรณบุรีตรวจสำนวนและลงชื่อเป็นองค์คณะทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  26  ประกอบมาตรา  31(4)  โดยถือว่าเป็นเหตุอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้มิได้  เพราะคดีตามมาตรา  31(4)  เป็นคดีที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  คือ ศาลจังหวัดคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ตามมาตรา  31(4)  ถ้านายอรรถวิทย์เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัด  จึงจะมีอำนาจนำคดีไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลลงชื่อทำคำพิพากษาเป็นองค์คณะสองคนเพื่อให้ครบองค์คณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  26  ได้  แต่เมื่อกรณีเป็นเรื่องของศาลแขวง  ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกินอำนาจของศาลแขวง  เพราะจะเป็นการขยายอำนาจของศาลแขวงให้มีอำนาจเหมือนศาลจังหวัด

สรุป  คำพิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  ในจังหวัดราชบุรีมีศาลจังหวัดและศาลแขวง  พนักงานอัยการได้นำคดีลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี  ปรับไม่เกินหกพันบาท  ไปฟ้องต่อศาลแขวง  ซึ่งจำเลยในคดีนี้เคยกระทำความผิดมาก่อนและศาลจังหวัดได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนดหนึ่งปี  และปรับหกพันบาท  มีเหตุอันควรปราณีตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  56  ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดสองปี  จำเลยได้กระทำความผิดในคดีนี้อีกโดยยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลารอการลงโทษ  จึงขอให้ศาลนำโทษจำคุกที่ศาลจังหวัดรอการลงโทษไว้มาบวกกับโทษในคดีนี้ด้วย  ศาลแขวงได้สั่งประทับรับฟ้อง  จำเลยให้การรับสารภาพ  นายรักเกียรติ  ผู้พิพากษาศาลแขวงจึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนดหนึ่งปี  ปรับหกพันบาท  จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  78  ให้จำคุกจำเลยหกเดือน  ปรับสามพันบาท  และให้นำโทษจำคุกที่ศาลจังหวัดรอการลงโทษจำเลยไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยหนึ่งปีหกเดือน  และปรับสามพันบาท

การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงถูกต้องหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน  หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

มาตรา  58  วรรคแรก  เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง  หรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า  ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา  56  ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น  ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง  หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง  แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  ปรับไม่เกิน  6,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(5)  ประกอบมาตรา  17

แต่ในการพิพากษาคดีอาญา  ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวถูกจำกัดอำนาจในการพิพากษาตามมาตรา  25(5)  กล่าวคือ  จะพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน  6  เดือน  หรือปรับเกิน  10,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้  ดังนั้นการที่ศาลแขวงโดยนายรักเกียรติ  ผู้พิพากษาคนเดียวพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด  1  ปี  ปรับ  6,000  บาท  แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  78  คงเหลือให้จำคุก  6  เดือน และปรับ  3,000  บาท  ย่อมกระทำได้  เพราะไม่เกินอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียว  ตามมาตรา  25(5)

ส่วนประเด็นว่าการที่ศาลแขวงนำโทษจำคุกที่ศาลจังหวัดรอการลงโทษจำเลยไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกคดีนี้รวมเป็นจำคุกจำเลย  1  ปี  6  เดือน  และปรับ  3,000  บาท  ซึ่งถือว่าเกินอำนาจของศาลแขวงในการพิพากษาคดีอาญา  ตามมาตรา  25(5)  จะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  หรือไม่  เห็นว่า  การบวกโทษที่รอการลงโทษไว้เป็นการนำเอาโทษที่ศาลในคดีก่อนพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยไว้  แต่ให้รอการลงโทษที่กำหนดไว้นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด  เมื่อจำเลยมากระทำผิดขึ้นอีกภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้  และคดีนั้นอยู่ในอำนาจศาลแขวง  ศาลแขวงก็จะต้องนำเอาโทษที่ศาลในคดีก่อนกำหนดและให้รอการลงโทษจำเลยไว้มาบวกกับโทษในคดีหลัง  ตาม  ป.อ.มาตรา  58  ซึ่งบัญญัติบังคับและให้อำนาจไว้  แม้โทษนั้นจะให้จำคุกเกิน  6  เดือนหรือปรับเกิน  10,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวก็มีอำนาจพิพากษาคดีนั้นได้  ไม่ถือว่าเกินอำนาจ  ดังนั้นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงในคดีนี้จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  ตามมาตรา  25(5)  ประกอบ  ป.อ.มาตรา  58

และในกรณีนี้ก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  31(2)  ในเรื่องเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ที่จะต้องให้ผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาคหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาเป็นองค์คณะร่วมด้วย  ตามมาตรา  29(3)  แต่อย่างใด

สรุป  การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement