การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1.       ประสงค์ยื่นคำร้องขอรับมรดกไม่มีพินัยกรรมของประสานซึ่งเป็นเงินฝากในธนาคาร เป็นเงินจำนวนสามแสนบาท ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ประสิทธิ์ยื่นคำร้องคัดค้านว่าประสงค์ไม่มีสิทธิรับมรดกของประสานเพราะไม่ได้เป็นทายาทของประสาน มรดกของประสานเป็นเงินฝากในธนาคารมีจำนวนเก้าแสนบาท คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือจะรับไว้พิจารณา ขอให้ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกคำร้องของประสงค์ ศาลแขวง  พระนครเหนือพิจารณาแล้วเห็นว่าประสงค์เป็นทายาทโดยธรรมของประสาน มีสิทธิรับมรดกของประสาน ประสงค์ร้องขอรับมรดกของประสานจำนวนสามแสนบาท
คดีอยู่ในอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือ พิพากษาว่าประสงค์  มีสิทธิรับมรดกของประสานจำนวนสามแสนบาท ยกคำร้องคัดค้านของประสิทธิ์
คำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
คำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือชอบด้วยกฎหมาย  ประสงค์เป็นทายาทโดยธรรมของประสานจึงมีสิทธิรับมรดกของประสาน  แม้มรดกของประสานในธนาคารจะมีจำนวนถึงเก้าแสนบาทตามที่ประสิทธิกล่าวอ้าง  แต่ประสงค์ร้องขอรับมรดกของประสานเสียงสามแสนบาท  ไม่ได้ขอรับมรดกซึ่งเป็นเงินฝากทั้งหมดในธนาคาร  คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือที่จะพิจารณาพิพากษา  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 วรรคหนึ่ง (4)
ข้อ 2.       นายเอก ประธานศาลอุทธรณ์ ได้จ่ายสำนวนคดีให้นาย ก. นาย ข. และนาย ค. ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามลำดับ เป็นองค์คณะพิจารณาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง เมื่อนาย ก. นาย ข. และนาย ค. ได้รับสำนวนคดีแล้ว แต่ยังมิได้มีการปรึกษาคดีกัน ปรากฏว่า นาย ก. หัวใจวายกะทันหัน และนาย ข. ได้ย้ายไปรับราชการยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 นายเอกจึงมอบหมายให้นายดำผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และนายแดงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวแทนนาย ก. และนาย ข.
นายโท รองประธานศาลอุทธรณ์ คนที่ 1 ได้ทำหนังสือโต้แย้งเสนอต่อประธานศาลอุทธรณ์ว่า การที่ประธานศาลอุทธรณ์มอบหมายสำนวนคดีให้นายดำและนายแดง เป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการโอนสำนวนคดี จะต้องให้รองประธานศาลอุทธรณ์ที่มีอาวุโสสูงสุดได้เสนอความเห็นให้โอนสำนวนคดีเสียก่อน ประธานศาลอุทธรณ์จึงจะทำการโอนคดีให้นายดำและนายแดงได้
ท่านเห็นว่าการกระทำของนายเอกและนายโทชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ

การกระทำของนายเอกชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ตามมาตรา 30 และมาตรา 28 (2)การกระทำหรือคำโต้แย้งของนายโทไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง เพราะกรณีตามอุทาหรณ์เป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 มิใช่เป็นการโอนสำนวนตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ  3.      นายปอผู้พิพากษาศาลแขวงได้นั่งพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท เมื่อพิจารณาคดีเสร็จแล้วเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงจึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแปดเดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกสี่เดือน แต่เนื่องจากจำเลยกระทำความผิดเป็นครั้งแรกสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอไว้มีกำหนดหนึ่งปี

คำพิพากษาของนายปอชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ

คำพิพากษาของนายปอชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5)

การทำคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือนของนายปอ อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะที่จะทำได้ตามมาตรา 25 (5) ประกอบกับการรอการลงโทษนั้นมิใช่โทษที่ศาลลง คำพิพากษาของนายปอผู้พิพากษาศาลแขวงจึงชอบตามมาตรา 25 (5)

Advertisement