การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เนื่องจากในจังหวัดนั้นไม่มีศาลอื่นตั้งอยู่  นายจีนจึงนำคดีไปฟ้องนายแขกยังศาลจังหวัดในข้อหาฐานลักทรัพย์ของนายจีน  ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  ปรับไม่เกินหกพันบาท  นายดำรงผู้พิพากษาศาลจังหวัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว  เห็นว่า  พยานโจทก์รับฟังไม่ได้  คดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง

นายจีนอุทธรณ์ว่า  คำพิพากษาของนายดำรงผู้พิพากษาศาลจังหวัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะผู้พิพากษาศาลจังหวัดนั่งพิจารณาพิพากษาคดีไม่ครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  26  ซึ่งบัญญัติว่า  องค์คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง

อุทธรณ์ของนายจีนฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน  หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  167  ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล  ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล  ถ้าคดีไม่มีมูลให้พิพากษายกฟ้อง

วินิจฉัย

ศาลจังหวัดโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  ปรับไม่เกิน  6,000  บาท  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(3),(5)

เมื่อนายดำรงผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่าพยานโจทก์รับฟังไม่ได้คดีไม่มีมูลจึงพิพากษายกฟ้อง  นายดำรงผู้พิพากษาคนเดียวย่อมสามารถกระทำได้  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(3)  และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  167

ที่นายจีนอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของนายดำรงผู้พิพากษาศาลจังหวัดไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้พิพากษาศาลจังหวัดนั่งพิจารณาพิพากษาคดีไม่ครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  26  นั้น  เห็นว่า  อำนาจในการไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา  ตามมาตรา  25  วรรคแรก  ให้อำนาจผู้พิพากษาคนเดียวที่จะกระทำได้  ดังนั้นอุทธรณ์ของนายจีนจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  อุทธรณ์ของนายจีนฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  2  ในศาลอาญามีคดีอาญาเรื่องหนึ่ง  นายกรกฎผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา  และนายเมษาผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา  เมื่อองค์คณะทั้งสองคนได้พิจารณาคดีเสร็จแล้วจึงปรึกษาคดีกันเพื่อทำคำพิพากษา  ปรากฏว่า  นายกรกฎผู้พิพากษาหัวหน้าคณะมีความเห็นแย้งกับนายเมษา  จึงไม่สามารถทำคำพิพากษาได้  นายกรกฎได้นำสำนวนคดีดังกล่าวไปปรึกษากับนายเอกซึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  นายเอกมีความเห็นเช่นเดียวกับนายกรกฎจึงลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาร่วมกับนายกรกฎ  คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  แล้วแต่กรณี

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(3) กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งเรื่องใดของศาลนั้น  จะต้องกระทำโดยองค์คณะซึ่งประกอบด้วย  ผู้พิพากษาหลายคน  และผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  184  ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  ให้อธิบดีผู้พิพากษา  ข้าหลวงศาลยุติธรรม  หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้นหรือเจ้าของสำนวนเป็นประธานถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน  ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย  ให้ประธานออกความเห็นสุดท้ายการวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก  ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป  จะหาเสียงข้างมากมิได้  ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นแย้งเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วในคดีแพ่ง  ถ้าผู้พิพากษาหลายคนซึ่งเป็นองค์คณะในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งมีความเห็นแย้งกันจนกาเสียงข้างมากมิได้  ให้ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ตามมาตรา  31(3)  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์ขณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  บทบัญญัติมาตรา  29(3)  กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาได้

แต่กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นคดีอาญาต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  184  อันเป็นบทเฉพาะนั้นมาใช้บังคับจะนำพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  29(3)  ประกอบมาตรา  31(3)  มาใช้บังคับไม่ได้ดังนั้นในกรณีนี้จึงต้องให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นแย้งเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก  ยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า  การที่นายกรกฎนำสำนวนคดีดังกล่าวไปปรึกษากับนายเอกซึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  และนายเอกมีความเห็นเช่นเดียวกับนายกรกฎจึงลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาร่วมกับนายกรกฎ  คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

สรุป  คำพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  3  นายเทพได้กู้เงินนายรวย  เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้นายเทพไม่ยอมชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระจำนวน  5  แสนบาท  ในวันที่  2  ตุลาคม  2550  นายรวยได้ยื่นฟ้องนายเทพต่อศาลแพ่ง  ขอให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าว  ต่อมาวันที่  16  กรกฎาคม  2550  นายเทพได้ทำนิติกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่นายเฮง  ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีราคาสามแสนบาท  ตามราคาประเมินของกรมที่ดิน

นายรวยเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการทำนิติกรรมดังกล่าว  จึงมาฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินของนายเทพ  เนื่องจากนายเทพไม่มีทรัพย์อื่นใด  เมื่อยกที่ดินดังกล่าวให้แก่นายเฮงแล้วหากศาลแพ่งพิพากษาให้นายรวยชนะคดีข้างต้น  นายรวยย่อมเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถบังคับคดีให้ได้เงินที่นายเทพกู้ยืมไปคืน  ศาลแพ่งสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่า  ที่ดินดังกล่าวมีราคาสามแสนบาท  ต้องไปยื่นฟ้องที่ศาลแขวงจึงจะถูกต้อง

การสั่งไม่รับฟ้องของศาลแพ่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  16  วรรคสอง  ศาลแพ่งและศาลอาญามีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร  นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้  ศาลแพ่งธนบุรี  ศาลอาญากรุงเทพใต้  ศาลอาญาธนบุรี  ศาลจังหวัดมีนบุรีและศาลยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์เป็นเรื่องที่นายเทพลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่นายเฮง  ซึ่งนายเทพไม่มีทรัพย์สินใดอีก  ถือได้ว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นฉ้อฉลเจ้าหนี้  ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  237

การที่นายรวยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินของนายเทพ  เป็นเพียงคดีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเท่านั้น มิได้เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์มาเป็นของนายรวยหรือนายรวยได้รับประโยชน์แต่อย่างใด  เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์พิพาทกลับมาเป้นของลูกหนี้  ฟ้องเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้  จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์  (ฎ. 919/2508 (ประชุทใหญ่))

เมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์  ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17  คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  16  วรรคสอง  คำสั่งของศาลแพ่งที่ไม่รับคดีนี้ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป  การสั่งไม่รับฟ้องของศาลแพ่งไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม 

Advertisement