การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายนพพรและบิดามารดาได้มาทำการสู่ขอนางสาวแววตาเพื่อทำการสมรส  และตกลงกันว่าให้ฝ่ายหญิงจัดเตรียมงานสมรสในพิธีการต่างๆ  รวมทั้งการจัดเลี้ยงมงคลสมรส  ส่วนฝ่ายชายจะจัดเตรียมเรือนหอเพื่อการอยู่กินฉันสามีภริยากัน  เมื่อถึงวันทำพิธีสมรสปรากฏว่านายนพพรไม่ได้มาทำการสมรสตามที่ตกลงกัน  นางสาวแววตาเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส  การจัดงานเลี้ยงมงคลสมรส  ชุดวิวาห์  และอื่นๆอีก  จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนต่อชื่อเสียงและการเตรียมการสมรสด้วย  เช่นนี้  จะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1440  ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้  ดังต่อไปนี้

(1)          ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น  บิดามารดา  หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

วินิจฉัย

โดยหลักของกฎหมาย  ในกรณีที่มีการหมั้น  และการหมั้นมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  คือฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง  เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นแล้ว  เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้น  ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาหมั้นย่อมมีสิทธิเรียกให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามมาตรา  1439  และมาตรา  1440

การที่นายนพพรและบิดามารดาได้มาทำการสู่ขอนางสาวแววตาเพื่อทำการสมรส  แต่ไม่ได้ทำการหมั้นกัน  คือไม่ได้มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่นางสาวแววตา  ดังนั้นการหมั้นจึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  คือให้ถือว่าไม่ได้มีการทำสัญญาหมั้นกันแต่อย่างใด

เมื่อถึงวันทำพิธีสมรส  การที่นายนพพรไม่ได้มาทำการสมรสนั้น  โดยหลักแล้วย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีที่จะถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น  และทำให้ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาหมั้นสามารถเรียกให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา  1439  และมาตรา  1440  ได้นั้น  ตามกฎหมายจะต้องได้มีการหมั้นกันก่อน  และการหมั้นนั้นสมบูรณ์  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่ได้มีการหมั้นกัน  ดังนั้นการที่นางสาวแววตาเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส  และค่าใช้จ่ายอื่นๆรวมทั้งต้องเสียหายต่อชื่อเสียงนั้น  นางสาวแววตาจึงไม่สามารถฟ้องเรียกให้นายนพพรรับผิดใช้ค่าทดแทนดังกล่าวได้

สรุป  นางสาวแววตาจะเรียกค่าทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชื่อเสียงและค่าใช้จ่ายเนื่องจากการเตรียมการสมรสจากนายนพพรไม่ได้

 

ข้อ  2  นายนิกรชอบนางสาวกาญจนา  แต่นางสาวกาญจนาไม่ชอบนายนิกร  ต่อมานายนิกรจึงได้ข่มขู่อันถึงขนาดให้นางสาวกาญจนาจดทะเบียนสมรสด้วย  แปดเดือนต่อมา  (เดือนกุมภาพันธ์)  นายนิกรได้ปล่อยให้นางสาวกาญจนามีอิสระไปไหนมาไหนได้  นางสาวกาญจนาได้พบเพื่อนเก่าคือนายสมหวังซึ่งเคยชอบพอกันมาก่อน  จึงได้พูดคุยตกลงกันและจดทะเบียนสมรสกันในเดือนสิงหาคม  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ถ้านายนิกรมีบ้านก่อนสมรส  1  หลัง  ได้ให้เช่าได้รับค่าเช่าเดือนละ  10,000  บาท  และนางสาวกาญจนาได้ซื้อสลากออมสินมูลค่า  1  ล้านบาท  ก่อนทำการสมรสกับนายนิกร  และมาได้รับรางวัล  1  ล้านบาท  ในเดือนตุลาคม  (เมื่อทำการสมรสกับนายสมหวังแล้ว)  เช่นนี้  ทรัพย์สินต่างๆจะตกเป็นของใคร  เพราะเหตุใด  ตามกำหมายใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1)  ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(3)  ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1498  การสมรสที่เป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น  ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง  เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น  เมื่อได้เคราะห์ถึงภาระในครอบครัว  ภาระในการหาเลี้ยงชีพ  และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย  ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว

มาตรา  1502  การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา  1507  วรรคแรก  ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส  การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

วินิจฉัย

การที่นายนิกรได้ข่มขู่อันถึงขนาดทำให้นางสาวกาญจนาจดทะเบียนสมรสด้วยเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1507  ย่อมทำให้การสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนาตกเป็นโมฆียะ  แต่การสมรสยังไม่สิ้นสุดลง  เพราะการสมรสจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการสมรสนั้นแล้ว  (มาตรา1502)  ดังนั้นเมื่อนางสาวกาญจนาได้จดทะเบียนสมรสกับนายสมหวังอีก  จึงเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วถือว่าเป็นการสมรสซ้อนที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา  1452  การสมรสระหว่างนางสาวกาญจนากับนายสมหวังจึงเป็นโมฆะตามมาตรา  1495

และตามข้อเท็จจริง  การที่นายนิกรมีบ้านอยู่ก่อนสมรส  บ้านจึงเป็นสินส่วนตัวของนายนิกร  เพราะเป็นทรัพย์สินที่นายนิกรมีอยู่ก่อนสมรสตามมาตรา  1471(1)  แต่สำหรับค่าเช่าบ้านเดือนละ  10,000  บาท  ที่ได้รับหลังจากสมรส  ถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนา  เพราะเป็นทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัวตามมาตรา  1474(3)

สำหรับสลากออมสิน  1  ล้านบาท  ที่นางสาวกาญจนามีอยู่ก่อนสมรส  ย่อมเป็นสินส่วนตัวของนางสาวกาญจนาตามมาตรา  1471(1)  แต่รางวัลจากสลากออมสิน  1  ล้านบาท  เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสตามมาตรา  1474(1)  โดยหลักย่อมเป็นสินสมรสของนางสาวกาญจนากับนายสมหวัง  แต่เมื่อการสมรสระหว่างนางสาวกาญจนากับนายสมหวังเป็นโมฆะ จึงไม่เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา  1498  วรรคแรก  ดังนั้นระหว่างนางสาวกาญจนากับนายสมหวัง  รางวัล  1  ล้านบาท  ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาหลังการสมรสจึงเป็นของนางสาวกาญจนาตามมาตรา  1498  วรรคสอง  แต่ระหว่างนางสาวกาญจนากับนายนิกร  ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส  และเมื่อการสมรสระหว่างทั้งสองยังไม่สิ้นสุดลง  ดังนั้นรางวัล  1  ล้านบาทดังกล่าว  จึงถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนาตามมาตรา  1474(1)  ประกอบมาตรา  1502

สรุป 

บ้าน  เป็นสินส่วนตัวของนายนิกร 

ค่าเช่าบ้าน  เป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนา 

สลากออมสิน  1  ล้านบาท  เป็นสินส่วนตัวของนางสาวกาญจนา 

รางวัลสลากออมสิน  1  ล้านบาท  เป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับนางสาวกาญจนา

 

ข้อ  3  นายสมบูรณ์กับนางอรสาเป็นสามีภริยากันแต่ทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา  ต่อมานางอรสาได้เก็บเสื้อผ้ากลับไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาตั้งแต่วันที่  1  กุมภาพันธ์  เมื่อถึงวันที่  28  ตุลาคม  นางอรสาได้ฟ้องหย่านายสมบูรณ์ต่อศาล  หลังจากนั้นนายสมบูรณ์ได้ใช้ชีวิตร่วมกับนางสาวดาราไปเที่ยวเตร่กันตลอดเวลากับเพื่อนๆ  ของนางสาวดาราและนายสมบูรณ์  เมื่อไปเที่ยวเตร่นายสมบูรณและนางสาวดาราก็หลับนอนร่วมกันในห้องพักเดียวกันตลอดเวลาเป็นประจำสม่ำเสมอ  นางสาวดาราเองก็กล่าวต่อหน้าเพื่อนๆว่า  นายสมบูรณ์เป็นสามีที่ดีมาก  และในกรณีนี้นางอรสาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดาราจะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1523  วรรคสอง  สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

วินิจฉัย

การที่นายสมบูรณ์สามีของนางอรสาได้ใช้ชีวิตร่วมกับนางสาวดาราซึ่งเห็นได้จากการไปเที่ยวเตร่ร่วมกันกับผู้อื่น  และหลับนอนร่วมกันในห้องพักเดียวกันตลอดเวลาเป็นประจำสม่ำเสมอ  อีกทั้งนางสาวดาราเองก็กล่าวต่อหน้าเพื่อนๆว่านายสมบูรณ์เป็นสามีที่ดี  การกระทำของนางสาวดาราถือว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับนายสมบูรณ์ในทำนองชู้สาวแล้ว  ดังนั้น  นางอรสาสามารถเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดาราได้ตามมาตรา  1523  วรรคสอง  โดยไม่ต้องฟ้องหย่านายสมบูรณ์

สรุป  นางอรสาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดาราได้

 

ข้อ  4  นายสำเภาได้ทำสัญญาหมั้นนางสาวสุนิสาด้วยแหวนหนึ่งวง  ต่อมาในวันอังคารที่  9  เมษายน  ได้ทำการจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอบางรักเวลา  09.09  น.  เมื่อเดินออกมาจากที่ว่าการอำเภอบางรัก  นายสำเภานำรถยนต์ที่ตั้งใจให้เป็นของหมั้นมาจอดไว้ที่หน้าตึกมอบให้นางสาวสุนิสาดีใจมาก  หลายเดือนต่อมานางสาวสุนิสาได้กลับไปมีความสัมพันธ์กับนายร่าเริงแฟนเก่าเกินกว่าความเหมาะสม  นายสำเภาโกรธมากจึงขอแหวนเพชรและรถยนต์คืน  เช่นนี้จะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3)  ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส  โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

(4)  ที่เป็นของหมั้น

วินิจฉัย

การที่นายสำเภาได้ทำสัญญาหมั้นนางสาวสุนิสาด้วยแหวนเพชรหนึ่งวงและได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แก่นางสาวสุนิสาแล้วนั้น  การหมั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  และถือว่าแหวนเพชรที่เป็นของหมั้นนั้นเป็นสินส่วนตัวของนางสาวสุนิสาตามมาตรา  1471(4)

และเมื่อมีการสมรสกันแล้ว  นายสำเภาได้มอบรถยนต์ให้นางสาวสุนิสาจึงเป็นการให้โดยเสน่ห์หารถยนต์จึงเป็นสินส่วนตัวของนางสาวสุนิสาตามมาตรา  1471(3)  และการให้ดังกล่าวนั้น  ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรสด้วยตามมาตรา  1469

ต่อมาเมื่อนางสาวสุนิสาได้กลับไปมีความสัมพันธ์กับนายร่าเริงแฟนเก่าทำให้นายสำเภาโกรธจึงขอแหวนเพชรและรถยนต์คืนจากนางสาวสุนิสานั้น  จะเห็นได้ว่านายสำเภาจะเรียกแหวนเพชนคืนไม่ได้  เพราะแหวนเพชรเป็นสินส่วนตัวของนางสาวสุนิสาตามมาตรา  1471(4)  ส่วนรถยนต์นั้น  เมื่อการให้รถยนต์แก่นางสาวสุนิสาเป็นสัญญาระหว่างสมรส  ซึ่งนายสำเภาสามารถบอกล้างได้ในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่ตามมาตรา  1469  ดังนั้น  นายสำเภาจึงเรียกรถยนต์คืนได้  โดยการบอกล้างสัญญาให้ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสนั้น

สรุป  นายสำเภาจะขอแหวนเพชรคืนไม่ได้  แต่ขอรถยนต์คืนได้

Advertisement