การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสุธีอายุ  21  ปี  ทำสัญญาหมั้น  น.ส.รัศมี  อายุ  17  ปี  ด้วยแหวนเพชร  1  วง  โดยบิดามารดาให้ความยินยอมถูกต้อง น.ส.รัศมีได้แอบไปเที่ยวเตร่กับนายสมบัติอายุ  21  ปี  ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสุธีด้วย  จนเกินเลยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันและตั้งครรภ์  นายสมบัติเห็นว่า  น.ส.รัศมีตั้งครรภ์แล้วจึงตัดสินใจจดทะเบียนสมรสด้วย  แต่บิดามารดาของ  น.ส.รัศมีไม่เห็นด้วย  จึงต้องการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรส  เช่นนี้  นายสุธีต้องการฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนและฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติ  และบิดาของ  น.ส.รัศมีจะฟ้องเพิกถอนการสมรสได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1435  การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว  การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา  1436  ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา  ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1445  ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น  เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา  1442  หรือมาตรา  1443  แล้วแต่กรณี

มาตรา  1454  ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา  1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา  1509  การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454  การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  1510  วรรคแรกและวรรคสอง  การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา  1454  เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา  1454  เท่านั้น  ขอให้เพิกถอนการสมรสได้

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์

วินิจฉัย

การที่นายสุธีอายุ  21  ปี  ทำสัญญาหมั้น  น.ส.รัศมีอายุ  17  ปี  โดยบิดามารดาให้ความยินยอมถูกต้องตามมาตรา  1435  วรรคแรกและมาตรา  1436(1)  และมีการส่งมอบแหวนเพชร  1  วง  เป็นของหมั้น  ถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อมีการหมั้นแล้ว  การที่  น.ส.รัศมีไปจดทะเบียนสมรสกับนายสมบัติ  จึงเป็นการกระทำอันเป็นการผิดสัญญาหมั้น  ผลทางกฎหมายคือ

1       นายสุธี  คู่หมั้นสามารถฟ้องเรียกแหวนเพชนอันเป็นของหมั้นคืนได้  เพราะเป็นกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น  กฎหมายบังคับให้ฝ่ายหญิงคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย  ตามมาตรา  1439  (ส่วนนายสุธีจะเรียกค่าทดแทน  ตามมาตรา  1440  ได้หรือไม่นั้น  ไม่อยู่ในประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย)  และ

2       การที่  น.ส.รัศมีได้แอบไปเที่ยวเตร่กับนายสมบัติ  ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสุธีจนเกินเลยมีความสัมพันธ์ทางเพศกันและตั้งครรภ์  นายสุธีสามารถเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติได้  ตามมาตรา  1445  เพราะนายสมบัติเป็นเพื่อนของนายสุธีจึงควรจะรู้ได้ว่า  น.ส.รัศมีหมั้นกับนายสุธีอยู่แล้วยังไปร่วมประเวณีด้วยอีก  แต่ทั้งนี้นายสุธีจะต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น  ตามมาตรา  1442  ก่อน

สำหรับการจดทะเบียนสมรสระหว่างนายสมบัติและ  น.ส.รัศมี  โดยบิดามารดาของ  น.ส.รัศมีไม่เห็นด้วย  จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา  1454  ประกอบมาตรา  1436(1)  การสมรสนี้จึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา  1509  ซึ่งมาตรา  1510  วรรคแรก  กำหนดให้บุคคลดังกล่าวในมาตรา  1451  ประกอบมาตรา  1436  เท่านั้น  ขอให้เพิกถอนการสมรสได้  ดังนั้น  โดยหลักแล้วบิดามารดาของ  น.ส.รัศมีสามารถฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะได้  แต่กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  น.ส.รัศมีตั้งครรภ์  สิทธิขอเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  1509  จึงเป็นอันระงับสิ้นไป  ทั้งนี้ไม่ว่า  น.ส.รัศมีจะมีอายุครบ  20  ปีบริบูรณ์หรือไม่ก็ตาม  การสมรสจึงสมบูรณ์ตลอดไป

สรุป  นายสุธีฟ้องเรียกแหวนหมั้นคืนจาก  น.ส.รัศมีได้และเรียกค่าทดแทนจากนายสมบัติได้  ส่วนบิดามารดาของ  น.ส.รัศมีจะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสไม่ได้

 

ข้อ  2  นายอำนวยจดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.นิสา  โดยไม่มีใครทราบว่า  น.ส.นิสาเป็นน้องสาวต่างมารดา  ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่นั้น  นายอำนวยได้รับเงิน  2  ล้านบาทโดยเสน่ห์หาจากญาติ  ส่วนนางนิสาได้ซื้อสลากกินแบ่งได้รับรางวัล  4  ล้านบาท  แต่ต่อมาต่างทราบความจริงจึงมีการฟ้องศาลให้พิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ  เช่นนี้  ถ้าศาลพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะแล้วทรัพย์สินต่างๆจะตกเป็นของใคร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1450  ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี  เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี  จะทำการสมรสกันไม่ได้  ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายดลหิตโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส  โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1496  วรรคแรก  คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

มาตรา  1498  การสมรสที่เป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น  ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง  เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น  เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว  ภาระในการหาเลี้ยงชีพ  และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายคลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว

วินิจฉัย

เมื่อนายอำนวยและ  น.ส.นิสาเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน  การสมรสของบุคคลทั้งสองจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา  1450  ผลคือ  การสมรสเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  1495

สำหรับการสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา  1450  เฉพาะแต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ  ตามมาตรา 1496  วรรคแรก  ดังนั้น  ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา  ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจึงยังคงมีอยู่  เงิน  2  ล้านบาทที่นายอำนวยได้รับจากญาติโดยเสน่หา  จึงเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา  1471(3)  ส่วนเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน  4  ล้านบาท  ย่อมเป็นสินสมรสตามมาตรา  1474(1)  (ฎ.1053/2537)

แต่เมื่อศาลพิพากษาให้การสมรสระหว่างนายอำนวยและ  น.ส.นิสาเป็นโมฆะแล้ว  ผลทางกฎหมายตามมาตรา  1498  วรรคแรก  คือ  การสมรสที่เป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา  สินส่วนตัวและสินสมรสดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่มีอยู่อีกต่อไป  ดังนั้นเงิน  2  ล้านบาทที่นายอำนวยได้รับในระหว่างการสมรสที่เป็นโมฆะ  ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอำนวยแต่เพียงผู้เดียว  ตามมาตรา  1498  วรรคสอง  ซึ่งให้ถือว่าทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาหลังการสมรสที่เป็นโมฆะคงเป็นของฝ่ายนั้น

ส่วนเงินรางวัล  4  ล้านบาท  ก็คงเป็นกรรมสิทธิ์ของ  น.ส.นิสาแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน  ตามมาตรา  1498  วรรคสอง

สรุป  ถ้าศาลพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะ  เงิน  2  ล้านบาท  และเงินรางวัล  4  ล้านบาท  ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอำนวยและ  น.ส.นิสาตามลำดับ  ตามมาตรา  1498

 

ข้อ  3  นายสมคิดและนางดวงตาเป็นสามีภริยากัน  ต่อมาฐานะดีขึ้น  นางดวงตาจึงลาออกจากงานมาดูแลครอบครัว  และเพื่อให้นายสมคิดสามารถทำหน้าที่การงานได้อย่างคล่องตัว  นางดวงตาจึงทำสัญญามอบอำนาจให้นายสมคิดมีอำนาจซื้อขายกู้ยืมได้โดยลำพังในการจัดการสินสมรส  นายสมคิดได้มอบสร้อยทองซึ่งมีมาก่อนสมรสให้แก่นางดวงตาด้วยความรัก  หลายเดือนต่อมานายสมคิดได้ขายที่ดินสินสมรสให้แก่นายบันเทิงและได้ทำสัญญากู้ยืมเงินหนึ่งล้านบาทจากนางมะขาม  นางดวงตาไม่พอใจที่ไม่บอกกล่าวให้ทราบจึงต้องการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ทำไปนั้น  นายสมคิดก็ไม่พอใจจึงต้องการฟ้องเอาสร้อยทองคืน  เช่นนี้   จะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1465  วรรคแรก  ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส  ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น  ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้

มาตรา  1466  สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ  ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส  หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส  และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

มาตรา  1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ขาย  แลกเปลี่ยน  ขายฝาก  ให้เช่าซื้อ  จำนอง  ปลดจำนอง  หรือโอนสิทธิจำนอง  ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(4)  ให้กู้ยืมเงิน

มาตรา  1476/1  วรรคแรก  สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1476  ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1465  และมาตรา  1466  ในกรณีดังกล่าวนี้  การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

มาตรา  1480  วรรคแรก  การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา  1476  ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว  หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้  เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว  หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

ในระหว่างสมรสนางดวงตาจะทำสัญญามอบอำนาจให้นายสมคิดมีอำนาจซื้อขายกู้ยืมได้โดยลำพังในการจัดการสินสมรสไม่ได้  เพราะตามมาตรา  1476/1  วรรคแรก  กำหนดว่าการตกลงให้จัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากมาตรา  1476  จะต้องทำเป็นสัญญาก่อนสมรส  ตามมาตรา  1465  และมาตรา  1466  เมื่อไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรส  การจัดการสินสมรสจึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา  1476

การขายที่ดินซึ่งเป็นสินสมรส  สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง  ตามมาตรา  1476(1)  เมื่อนายสมคิดทำสัญญาขายที่ดินสินสมรสให้กับนายบันเทิงไปโดยลำพัง  นางดวงตาจึงขอเพิกถอนได้ตามมาตรา  1480  วรรคแรก  แต่อย่างไรก็ตาม  นางบันเทิงผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน  จึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา  1480  วรรคแรกตอนท้าย  ดังนั้นนางดวงตาจึงฟ้องขอเพิกถอนการซื้อขายที่ดินดังกล่าวไม่ได้

ส่วนการกู้ยืมเงินจากนางมะขามนั้น  นายสมคิดสามารถกระทำได้โดยลำพังตนเอง  กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  1476(4)  ที่มุ่งหมายถึงการให้กู้ยืมเงินเท่านั้น  กรณีนี้นางดวงตาจึงฟ้องขอเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้ (ฎ.6193/2551)

สำหรับการที่นายสมคิดได้มอบสร้อยทองซึ่งเป็นสินส่วนตัวของตนตามมาตรา  1471(1)  ให้นางดวงตา  ถือเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา  1469  ที่นายสมคิดมีสิทธิบอกล้างในเวลาหนึ่งเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  กรณีนี้นายสมคิดจึงฟ้องเอาสร้อยทองคืนได้

สรุป  นายสมคิดฟ้องเอาสร้อยทองคืนได้  ส่วนนางดวงตาจะฟ้องเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้  คงฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินได้เท่านั้น

 

ข้อ  4  นายมนูญกับนางน้ำหวานเป็นสามีภริยากัน  นายมนูญได้ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางรำพึงภริยาของนายนที  ต่อมานางน้ำหวานจับได้ว่านายมนูญมีพฤติการณ์ดังกล่าว  จึงต้องการฟ้องหย่า  เช่นนี้  จะฟ้องหย่าได้ด้วยเหตุฟ้องหย่าอะไรบ้าง  (ให้บอกตามลำดับความสำคัญของกฎหมายด้วย)

หากนางน้ำหวานต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญ  และนางรำพึงด้วย  จะสามารถทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2)  สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว  ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่  ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก)  ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(3)  สามีหรือภริยาทำร้าย  หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ  หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้  ถ้าเป็นการร้ายแรง  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ 

(6)  สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้  ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา  1523  วรรคแรก  เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา  1516(1)  ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับอุปการะเลี้ยงดู  หรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

วินิจฉัย

นายมนูญกับนางน้ำหวานเป็นสามีภริยากัน  นายมนูญได้ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางรำพึงภริยาของนายนที  ต่อมานางน้ำหวานจับได้ว่านายมนูญมีพฤติการณ์ดังกล่าว  จึงต้องการฟ้องหย่า  ดังนี้นางน้ำหวานสามารถฟ้องหย่าได้  เพราะทั้งสองเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  โดยปรับเข้ากับเหตุฟ้องหย่าตามบทบัญญัติมาตรา  1516  ตามลำดับความสำคัญดังนี้  คือ

1       การที่นายมนูญไปมีเพศสัมพันธ์กับนางรำพึงภริยาของนายนที  ถือว่านายมนูญเป็นชู้กับนางรำพึง  นางน้ำหวานฟ้องหย่าได้  ตามมาตรา  1516(1)

2       การกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคหรือขัดขวางที่สามีและภริยาจะดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างสงบสุข  หรือขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ร่วมกันอันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรยากันอย่างร้ายแรง  นางน้ำหวานจึงฟ้องหย่านายมนูญได้  ตามมาตรา  1516(6)

3       การร่วมประเวณีกับหญิงมีสามี  ถือเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้ภริยาได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง  นางน้ำหวานจึงสามารถฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1516(2)(ก)  และ

4       เป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรง  นางน้ำหวานฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1516(3)

สำหรับนางน้ำหวาน  หากจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากทั้งนายมนูญและนางรำพึงด้วย  นางน้ำหวานสามารถกระทำได้  โดยปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา  1523  วรรคแรก  กล่าวคือ  นางน้ำหวานจะต้องฟ้องหย่านายมนูญตามมาตรา  1516(1)  และศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา  1516(1)  จึงจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีและผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น  นางน้ำหวานจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีและนางรำพึงโดยไม่ฟ้องหย่านายมนูญก่อนไม่ได้  (ฎ.2791/2515)

สรุป  นางน้ำหวานฟ้องหย่าได้ตามเหตุฟ้องหย่า  ตามมาตรา  1516(1)  (6)  (2)  (3)  ตามลำดับและมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญและนางรำพึงได้ตามมาตรา  1523  วรรคแรก

Advertisement