การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ 1 นายมนูญอายุ 29 ปี ทำสัญญาหมั้นนางสาวรัศมีอายุ 25 ปี ด้วยแหวนเพชร 1 วง และทอง 5 บาท ต่อมานายมนูญได้จัดงานพิธีมงคลสมรสกับนางสาวรัศมี และตกลงกันว่าจะจดทะเบียนสมรสในอีก 1 ปีข้างหน้า ในระหว่างนั้นเอง นายมนูญได้เที่ยวเตร่หลับนอนกับนางสาวสุดาอายุ 19 ปี และนางสาวสุดาได้ขู่ว่าจะบอกบิดาซึ่งมีนิสัยโมโหร้าย นายมนูญและนางสาวสุดาจึงแอบจดทะเบียนสมรสโดยไม่บอกให้ผู้ใดทราบ ต่อมานางสาวรัศมีทราบความจริงก็โกรธจึงต้องการฟ้องว่าการสมรสไม่ถูกต้องได้หรือไม่ และต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรก การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

มาตรา 1454 ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1503 เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืนมาตรา 1448 มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509

มาตรา 1509 การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา 1510 วรรคแรก การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ขอให้เพิกถอนการสมรสได้

วินิจฉัย

โดยหลักของกฎหมาย ในกรณีที่มีการหมั้น และการหมั้นมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก คือฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นแล้ว เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญาหมั้นย่อมมีสิทธิเรียกให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามมาตรา 1439 และมาตรา 1440

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมนูญได้ทำการหมั้นกับนางสาวรัศมีด้วยแหวนเพชร 1 วง และทอง 5 บาท โดยตกลงกันว่าจะจดทะเบียนสมรสกันในอีก 1 ปี ข้างหน้านั้น การหมั้นระหว่างนายมนูญกับนางสาวรัศมีมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อต่อมานายมนูญได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวสุดา จึงถือว่านายมนูญผิดสัญญาหมั้น นางสาวรัศมีจึงมีสิทธิเรียกให้นายมนูญรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามมาตรา 1439 และค่าทดแทนที่นางสาวรัศมีสามารถเรียกได้ คือค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงของนางสาวรัศมีตามมาตรา 1440(1)

และการที่นายมนูญได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวสุดาซึ่งมีอายุ 19 ปี และยังเป็นผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของนางสาวสุดานั้น เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1509 การสมรสจึงมีผลเป็นโมฆียะ และตามมาตรา 1503 ประกอบกับมาตรา 1510 วรรคแรก ผู้ที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสได้นั้น ต้องเป็นบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้คือ บิดาและมารดาของนางสาวสุดานั่นเอง ดังนั้น นางสาวรัศมีจะฟ้องให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสระหว่างนายมนูญกับนางสาวสุดาไม่ได้

สรุป นางสาวรัศมีจะฟ้องว่าการสมรสไม่ถูกต้องไม่ได้ แต่สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญได้ ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 นายสุริยาหมั้นนางสาวจันทราซึ่งมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว และได้รับความยินยอมจากบิดามารดาด้วยแหวนเพชร 1 วง มูลค่า 1 ล้านบาท ต่อมานายสุริยาก็ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาวนภา เพราะถูกนางสาวนภาข่มขู่ว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสกับตนจะเปิดเผยว่า นายสุริยาข่มขืนกระทำชำเราตนและเพื่อนของตน

1) การหมั้นระหว่างนายสุริยาและนางสาวจันทรามีผลในทางกฎหมายอย่างไร นางสาวจันทราจะบอกเลิกการหมั้นไม่คืนแหวนเพชรและเรียกค่าทดแทนจากนายสุริยาได้หรือไม่

2) การสมรสระหว่างนายสุริยาและนางสาวนภามีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา 1437 วรรคแรก การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา 1502 การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา 1507 วรรคแรก ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

วินิจฉัย

1) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุริยาหมั้นกับนางสาวจันทราซึ่งมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้วนั้น แม้การหมั้นนั้นจะได้มีการส่งมอบของหมั้นคือแหวนเพชร 1 วง ให้แก่หญิงแล้ว และได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของนางสาวจันทราตามมาตรา 1436 และมาตรา 1437 แล้วก็ตาม แต่เมื่อนางสาวจันทรายังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จึงถือว่าการหมั้นนั้นฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1435 ดังนั้น การหมั้นระหว่างนายสุริยาและนางสาวจันทรามีผลเป็นโมฆะ

และเมื่อการหมั้นดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะ จึงถือเสมือนว่าไม่มีการหมั้นกันเกิดขึ้น ดังนั้นนางสาวจันทราจึงต้องคืนของหมั้นคือแหวนเพชรให้แก่นายสุริยา และเมื่อนายสุริยาไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาวนภา ก็ไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น ดังนั้นนางสาวนภาก็จะเรียกค่าทดแทนจากนายสุริยาไม่ได้เช่นกัน

2) การที่นายสุริยาได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวนภานั้น เป็นเพราะนางสาวนภาข่มขู่ว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสกับตนก็จะเปิดเผยว่า นายสุริยาข่มขืนกระทำชำเราตนและเพื่อนของตน ดังนี้ ถือว่าการสมรสได้เกิดขึ้นเพราะถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส ดังนั้น การสมรสระหว่างนายสุริยาและนางสาวนภาจึงมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 1507 วรรคแรก ซึ่งถ้าจะทำให้การสมรสสิ้นสุดลงก็ต้องให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสนั้น (มาตรา 1502)

สรุป

1) การหมั้นระหว่างนายสุริยาและนางสาวจันทรามีผลเป็นโมฆะ นางสาวจันทราจะบอกเลิกการหมั้นโดยไม่คืนแหวนเพชรและเรียกค่าทดแทนจากนายสุริยาไม่ได้

2) การสมรสระหว่างนายสุริยาและนางสาวนภามีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 3 นายเก่งอยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางสาวน้อยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นายเก่งไปทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายคงจำนวน 1,000,000 บาท โดยนางสาวน้อยลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้นั้น นายเก่งนำเงินทั้งหมดไปซื้อบ้านหลังหนึ่ง หลังจากนั้นนายเก่งและนางสาวน้อยจดทะเบียนสมรสกัน นายเก่งและนางน้อยย้ายไปอยู่ในบ้านดังกล่าว ต่อมานายเก่งไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้ 1,000,000 บาท แก่นายคง นายคงมาทวงเงินที่นายเก่งกู้ไปจากนางน้อย โดยนายคงอ้างว่านางน้อยเป็นภริยาจะต้องร่วมชำระหนี้ด้วย นางน้อยปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นผู้กู้ หลังจากนั้นนายเก่งและนางน้อยทะเลาะกัน นางน้อยย้ายออกมาจากบ้ายไปอาศัยกับพี่ชายของตน พี่ชายของนางน้อยได้จดทะเบียนให้นางน้อยมีสิทธิอาศัยในบ้านพี่ชายนางน้อยเป็นเวลา 10 ปี โดยที่นายเก่งไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใด ต่อมานายเก่งอยากให้นางน้อยกลับไปอยู่ที่บ้านด้วยกันดังเดิม ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

1) นางน้อยจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ 1,000,000 บาท ที่นายเก่งกู้ยืมมาจากนายคงหรือไม่

2) นายเก่งจะฟ้องศาลขอเพิกถอนการรับสิทธิอาศัยของนางน้อยได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกินหรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

มาตรา 1480 วรรคแรก การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

มาตรา 1488 ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น

มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

1) หนี้เงินกู้จำนวน 1,000,000 บาท ที่นายเก่งไปทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายคงจัดเป็นหนี้ส่วนตัวของนายเก่งตามมาตรา 1488 เพราะเป็นหนี้ที่นายเก่งได้ก่อขึ้นก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกับนางน้อย แม้ว่าภายหลังนายเก่งและนางน้อยจะไปอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ก็ไม่ทำให้เป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490(1) แต่อย่างใด อีกทั้งการที่นางน้อยได้ปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้แก่นายคง ถือได้ว่านางน้อยไม่ได้ให้สัตยาบันในหนี้สินส่วนตัวของนายเก่ง จึงไม่ทำให้เป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490(4) ด้วย ดังนั้น นางน้อยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ 1,000,000 บาท โดยนายเก่งจะต้องรับผิดในการชำระหนี้ดังกล่าวแก่นางคงแต่เพียงผู้เดียว

2) การที่นางน้อยจดทะเบียนรับสิทธิอาศัยในบ้านของพี่ชายนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินสมรสแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476(2) ที่กำหนดว่าการก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดซึ่งสิทธิอาศัยในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน ดังนั้น นายเก่งจึงฟ้องศาลขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับสิทธิอาศัยของนางน้อยตามมาตรา 1480 วรรคแรก นั้นไม่ได้

สรุป

1) นางน้อยไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ 1,000,000 บาท ที่นายเก่งกู้ยืมมาจากนายคง

2) นายเก่งจะฟ้องศาลขอเพิกถอนการรับสิทธิอาศัยของนางน้อยไม่ได้

 

ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานายไก่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หลังศาลมีคำสั่ง นางไข่จึงไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาทันทีกับนายเป็ดและมีบุตรด้วยกันคือหนึ่ง ต่อมานายไก่กลับมา

1) นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่ได้หรือไม่

2) หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร นับแต่เมื่อใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

มาตรา 1536 วรรคแรก เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี

มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

วินิจฉัย

1) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และต่อมานายไก่ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้น มิได้ทำให้การสมรสระหว่างนายไก่และนางไข่สิ้นสุดลงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงทำให้นางไข่สามารถถือเป็นเหตุฟ้องหย่านายไก่ได้ตามมาตรา 1516(5) เท่านั้น การที่นางไข่ซึ่งยังเป็นภริยาของนายไก่อยู่แต่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายเป็ด จึงถือว่าเป็นกรณีที่นางไข่มีชู้และเข้าเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) ดังนั้น นายไก่จึงสามารถฟ้องหย่านางไข่ได้

2) หนึ่งซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากนางไข่ในขณะที่ยังถือว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ ย่อมถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่ ตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก เพราะเป็นบุตรที่เกิดระหว่างสมรสของนายไก่และนางไข่ตามมาตรา 1536 วรรคแรก และ 1546

สรุป

1) นายไก่ฟ้องหย่านางไข่ได้

2) หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่

Advertisement