การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสุขสมได้ทำสัญญาหมั้น  น.ส.ดวงตาด้วยแหวนเพชรหนึ่งวงและเงินสด  400,000  บาท  ทั้งสองได้จัดพิธีสมรสกันในวันที่  14 กุมภาพันธ์  2552  ต่อมานายสุขสมได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัดและได้ไปมีความสัมพันธ์หลับนอนกับ  น.ส.อุสา  บิดามารดาของ  น.ส.อุสาจึงให้นายสุขสมจดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.อุสา  เมื่อวันที่  24  มิถุนายน  2552  เมื่อ  น.ส.ดวงตาทราบก็ไม่พอใจต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุขสมได้หรือไม่

ต่อมาเมื่อ  น.ส.อุสาทราบว่านายสุขสมมีภริยาอยู่ก่อนแล้วคือ  น.ส.ดวงตาทำให้ตนเป็นภริยาน้อย  ก็เสียใจจึงได้จดทะเบียนสมรสอยู่กินกับนายเดชโดยไม่ทราบว่านายเดชถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  การสมรสจะมีผลเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1440  ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้  ดังต่อไปนี้

(1)          ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น  บิดามารดา  หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1457  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

วินิจฉัย

การที่นายสุขสมได้ทำสัญญาหมั้น  น.ส.ดวงตา  และได้จัดพิธีสมรสกันในวันที่  14  กุมภาพันธ์  2552  นั้น  เมื่อไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสตามมาตรา  1457  จึงยังไม่ถือว่าเป็นการสมรส  คือ  ให้ถือว่ายังอยู่ในระหว่างการหมั้นเท่านั้น  ดังนั้นเมื่อนายสุขสมได้จดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.อุสา  เมื่อวันที่  24  มิถุนายน  2552  การกระทำของนายสุขสมจึงเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา  1439  และ  น.ส.ดวงตาสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ตามมาตรา  1440 

ส่วนกรณีที่  น.ส.อุสาได้จดทะเบียนสมรสกับนายสุขสมตามมาตรา  1457  นั้น  ถือว่า  น.ส.อุสากับนายสุขสม  เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นเมื่อ  น.ส.อุสาได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนายเดชคนเสมือนไร้ความสามารถ  แม้กฎหมายจะไม่ห้ามคนเสมือนไร้ความสามารถทำการสมรสก็ตาม  แต่การกระทำของ  น.ส.อุสาที่จดทะเบียนสมรสกับนายเดชนั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1452  คือเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว  ซึ่งถือเป็นการสมรสซ้อน  ดังนั้นการสมรสจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  1495

สรุป  น.ส.ดวงตาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุขสมได้

การสมรสระหว่าง  น.ส.อุสากับนายเดชมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ  2  นายสดหมั้นนายใสด้วยแหวนเพชร  1  วง  มูลค่า  1  ล้านบาท  ต่อมานายใสก็ไปจดทะเบียนสมรสกับนางแสงหญิงที่สามีโดยชอบด้วยกฎหมายหนีไปบวชพระไม่ยอมสึก

 (1)          การหมั้นระหว่างนายสดและนายใสมีผลในทางกฎหมายอย่างไร  นายสดจะเรียกแหวนเพชรคืนและเรียกค่าทดแทนจากนายใสได้หรือไม่

(2)          การสมรสระหว่างนายใสและนางแสงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  1435  การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว  การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา  1452  ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

วินิจฉัย

 (1)          โดยหลักการหมั้นจะทำได้และมีผลสมบูรณ์ต้องเป็นการหมั้นกันระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น  ดังนั้นเมื่อเป็นการหมั้นกันระหว่างชายกับชายคือระหว่างนายสดกับนายใส  การหมั้นจึงตกเป็นโมฆะ  เพราะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1435  และเมื่อการหมั้นเป็นโมฆะ  การที่นายใสได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางแสงจึงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น  นายสดจะเรียกค่าทดแทนจากนายใสไม่ได้  แต่นายใสจะต้องคืนแหวนเพชรให้แก่นายสด

(2)          การที่นางแสงซึ่งมีสามีอยู่แล้วโดยชอบด้วยกฎหมายได้จดทะเบียนสมรสกับนายใส  ถือว่าเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว  (เป็นการสมรสซ้อน)  จึงเป็นการสมรสที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1452  จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา  1495

สรุป 

(1)          การหมั้นระหว่างนายสดและนายใสมีผลเป็นโมฆะ  นายสดเรียกแหวนเพชรคืนได้  แต่จะเรียกค่าทดแทนจากนายใสไม่ได้

(2)          การสมรสระหว่างนายใสและนางแสงมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ต่อมานายไก่ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางแอนมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายที เมื่อนางไข่ทราบก็ไม่ว่าอะไรและพร้อมจะรับเด็กและนางแอนมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน  ต่อมานางแอนเหยียดหยามนางไข่อย่างรุนแรง  บางครั้งลามปามไปถึงบรรพบุรุษของนางไข่

 (1)          นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น

(2)          เด็กชายทีเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใครนับแต่เมื่อนั้น

ธงคำตอบ

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย  หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ  หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา  1518  สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

วินิจฉัย

 (1)          การที่นายไก่สามีของนางไข่ไปมีเพศสัมพันธ์กับนางแอนและมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายทีนั้น  เมื่อนางไข่ทราบก็ไม่ว่าอะไรและยังรับเด็กและนางแอนมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน  ถือว่านางไข่ได้ให้อภัยแก่นายไก่แล้ว  ดังนั้นสิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปตามมาตรา  1518

ส่วนการที่นางแอดเหยียดหยามนางไข่และบรรพบุรุษของนางไข่อย่างร้ายแรงนั้น  ก็มิใช่เป็นการกระทำของนายไก่  ดังนั้นจะฟ้องหย่าเพราะเหตุนี้ไม่ได้ตามมาตรา  1516(3)

 (2)          เด็กชายทีซึ่งเกิดจากนางแอนมารดา  เมื่อนางแอนมิได้สมรสกับนายไก่ดังนั้นเด็กชายทีจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางแอนแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา  1546  และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางแอนนับตังแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก

สรุป

(1)          นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้

(2)          เด็กชายทีเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางแอนนับแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นมารก

 

ข้อ  4  นายสอนและนางสวยเป็นสามีภริยากันตามกำหมาย  นายสอนให้กำไลเพชรที่เป็นสินส่วนตัวของนายสอนแก่นางสวยเป็นของขวัญวันเกิด  ต่อมานางสวยให้กำไลเพชรดังกล่าวแก่นาวสาวเกดน้องสาวที่นางสวยรักมาก  โดยที่นางสาวเกดไม่ทราบว่าเป็นกำไลเพชรที่นายสอนให้นางสวย  หลังจากนั้นนายสอนและนางสวยอยากเปิดร้านขายอาหาร  นางสวยไปทำสัญญาเช่าตึกแถวแห่งหนึ่งเพื่อทำร้านอาหารโดยที่นายสอนไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใด  ต่อมานายสอนโกรธมากเมื่อทราบว่านางสวยให้กำไลเพชรแก่นางสาวเกดและนางสวยได้ไปเช่าตึกแถวโดยไม่ปรึกษาตน  โดยนายสอนเห็นว่าตึกแถวที่นางสวยเช่ามานั้นอยู่ในทำเลที่ไม่ดี  ไม่น่าจะขายอาหารได้  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

 (ก)        นายสอนจะบอกล้างการให้กำไลเพชรแก่นางสวยได้หรือไม่  และกำไลเพชรจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร  เพราะเหตุใด

(ข)        นายสอนจะฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1469  สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3)          ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส  โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา

มาตรา  1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง  สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

วินิจฉัย

 (ก)        การที่นายสอนให้กำไลเพชรที่เป็นสินส่วนตัวของนายสอนแก่นางสวยเป็นของขวัญวันเกิดนั้น  ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา  1469  กำไลเพชรจึงตกเป็นสินส่วนตัวของนางสวยตามมาตรา  1471(3)  เพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่ห์หา  นางสวยจึงมีอำนาจจัดการกำไลเพชรโดยให้กำไลเพชรแก่นางสาวเกดได้ตามมาตรา  1473

แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเป็นสัญญาระหว่างสมรส  แม้ว่านางสวยได้ให้กำไลเพชรแก่นางสาวเกดแล้ว  นายสอนก็ยังมีสิทธิบอกล้างการให้กำไลเพชรแก่นางสวยได้  โดยนายสอนสามารถบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตตามมาตรา  1469  ดังนั้นเมื่อนางสาวเกดไม่ทราบว่ากำไลเพชรที่ตนเองได้รับมาจากนางสวยเป็นกำไลเพชรที่นายสอนให้นางสวย  จึงถือว่านางสาวเกดสุจริต  กำไลเพชรจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวเกด

 (ข)        ส่วนการที่นางสวยได้ไปทำสัญญาเช่าตึกแถวเพื่อทำร้านอาหารโดยที่นายสอนไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใดนั้น  การเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ถือว่าเป็นการจัดการสินสมรสตามมาตรา  1476  (8)  ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน  หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง  ดังนั้น  นางสวยจึงสามารถเช่าตึกแถวตามลำพังได้  นายสอนไม่สามารถฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวได้

สรุป

(ก)        นายสอนจะบอกล้างการให้กำไลเพชรแก่นางสวยได้และกำไลเพชรตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวเกด

(ข)        นายสอนจะฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวไม่ได้       

Advertisement