การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  พรเพ็ญและเพียงใจ  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ  (ไม่ได้จดทะเบียน)  เปิดร้านเสริมความงามใช้ชื่อว่าเพียงใจบิวตี้  โดยพรเพ็ญลงหุ้นด้วยแรง  ส่วนเพียงใจนำอาคารตึกแถว  3  คูหาของตนเป็นที่ประกอบกิจการเสริมความงาม  และเป็นผู้ออกเงินทั้งหมด  พรเพ็ญเป็นหัวหน้าช่างประจำสถานเสริมความงาม

กิจการของห้างฯ  มีกำไรดี  เพียงใจจึงขยายสาขาโดยไปลงหุ้นกับตรีรักเปิดสถานเสริมความงามอีก  1  แห่ง  และใช้ชื่อว่าเพียงใจบิวตี้  สาขา  1  ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับสถานเสริมความงามที่ลงหุ้นกับพรเพ็ญห้างหุ้นส่วนสามัญใหม่นี้  เพียงใจก็เป็นผู้ออกทุนและสถานที่ที่ใช้ดำเนินการ  โดยให้ตรีรักเป็นหัวหน้าช่างประจำสถานเสริมความงามแห่งใหม่

การเปิดสถานเสริมความงามแห่งใหม่นี้ทำรายได้ระหว่างพรเพ็ญและเพียงใจลดลง  พรเพ็ญจึงกล่าวหาว่าเพียงใจดำเนินกิจการแข่งขันกับห้างหุ้นส่วน  จึงขอเลิกห้างหุ้นส่วนเพียงใจ  และเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจ  5  แสนบาท  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  พรเพ็ญจะเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1038  ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น  โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด  หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น  แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน

วินิจฉัย

พรเพ็ญเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจไม่ได้  เพราะเพียงใจมิได้ประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ  ระหว่างพรเพ็ญและเพียงใจ  การที่เพียงใจลงหุ้นกับตรีรักนั้น   เพียงใจเป็นผู้ออกทุนและสถานที่ประกอบกิจการเท่านั้น  ไม่ได้ลงมือประกอบกิจการ  จึงไม่ถือว่าเพียงใจประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ  และการลงหุ้นของเพียงใจก็ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา  1038 พรเพ็ญจึงเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจไม่ได้

สรุป  พรเพ็ญเรียกค่าเสียหายจากเพียงใจไม่ได้

 

ข้อ  2  สมศักดิ์กับพิชัย  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยสมศักดิ์รับผิดจำกัด ส่วนพิชัยรับผิดไม่จำกัด  ทั้งสองคนนำเงินมาลงหุ้นไว้กันคนละ  5  แสนบาท  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ได้จดทะเบียนและเปิดกิจการมาได้  2  ปีแล้ว  ต่อมาพิชัยหุ้นส่วนผู้จัดการไม่อยู่เนื่องจากต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงมอบหมายให้สมศักดิ์จัดการงานในห้างหุ้นส่วนทั้งหมด  สมศักดิ์ได้ทำสัญญาซื้อเหล็กเส้นจากวิไลมาขายในกิจการงานของห้างหุ้นส่วนเป็นเงิน  5  ล้านบาท  ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  ห้างฯ  ไม่มีเงินชำระหนี้  วิไลจึงเรียกให้พิชัยและสมศักดิ์รับผิดร่วมกัน  แต่สมศักดิ์อ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯ  จะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิได้  และสมศักดิ์ได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของสมศักดิ์รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

วินิจฉัย

เนื่องจากหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดนั้นไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด  ถ้าหากสอดเข้าไปจัดการงานของห้างจึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน

การสอดเข้าไปจัดการตามมาตรา  1088  นี้  จะเป็นการจัดการด้วยความสมัครใจเอง  หรือโดยหุ้นส่วนผู้จัดการได้มอบหมาย  หรือได้ขอร้องให้เข้ามาช่วยจัดการ  หรือเป็นการรับฝากงานไว้เพื่อจัดการชั่วคราวก็ตาม  ก็ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปจัดการงานทั้งสิ้น

ดังนั้นการที่สมศักดิ์  ได้ทำสัญญาซื้อเหล็กเส้นจากวิไลมาขายในกิจการของห้างหุ้นส่วนเป็นเงิน  5  ล้านบาท  โดยได้รับมอบหมายจากพิชัยหุ้นส่วนผู้จัดการ  เป็นการสอดไปเกี่ยวข้องในการจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจึงต้องรับผิดในบรรดาหนี้จำนวนนี้  ตามมาตรา  1088  จะอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯจะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิได้  และสมศักดิ์ได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว  มาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของสมศักดิ์ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  นายเบิร์ด  มีหุ้นชนิดระบุชื่อในบริษัทนานกิง  จำกัด  จำนวน  100,000  หุ้น  มูลค่าหุ้นละ  100  บาท  นายเบิร์ดได้ส่งเงินค่าหุ้นไปแล้ว  หุ้นละ  50  บาท  ต่อมานายเบิร์ดได้โอนหุ้นของตนให้นางสาวบุ๋มทั้งหมดโดยทำการโอนถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ  แต่นางสาวบุ๋มยังมิได้เปลี่ยนชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นชื่อของตน  นางสาวพรเจ้าหนี้ของนายเบิร์ดได้ฟ้องให้นายเบิร์ดชำระหนี้   ศาลได้พิพากษาให้นายเบิร์ดแพ้คดี  นางสาวพรจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาอายัดหุ้นของนายเบิร์ดที่บริษัทนานกิง  จำกัด  ส่วนนางสาวบุ๋มได้มาขอให้บริษัทนานกิง  จำกัด  เปลี่ยนแปลงชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นจากนายเบิร์ดมาเป็นชื่อตน  โดยอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่านางสาวพร  เพราะได้มีการโอนหุ้นกันก่อนฟ้องคดี  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  สิทธิของนางสาวพรกับสิทธิของนางสาวบุ๋มใครดีกว่ากัน

ธงคำตอบ

มาตรา  1129  วรรคสาม  การโอนเช่นนี้จะนำมาแก่บริษัท  หรือบุคคลภายนอกไม่ได้  จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้น  ลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น

วินิจฉัย

สิทธิของนางสาวพรดีกว่าสิทธิของนางสาวบุ๋ม  เพราะนางสาวบุ๋มยังมิได้ไปจดแจ้งชื่อของตนเองลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น  จึงยกขึ้นต่อสู้นางสาวพรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้  ตามมาตรา  1129  วรรคสาม

สรุป  สิทธิของนางสาวพรดีกว่านางสาวบุ๋ม

Advertisement