การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1 ก เข้าหุ้นกับ ข เปิดร้านขายอาหารชื่อว่าห้างหุ้นส่วนสามัญชวนชิม โดยมิได้จดทะเบียนห้างฯ ต่อมาทั้งสองคนได้ชวน ค เข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ในร้านนี้หลังจากเปิดร้านมาได้สองปี หลังจากที่ ค เข้ามาเป็นหุ้นส่วนได้หกเดือน ธนาคารสยามเจ้าหนี้รายหนึ่งของห้างฯฟ้องให้ ก และ ข ชำระหนี้ที่ห้างฯกู้มาลงทุนตั้งแต่ตอนเริ่มเปิดร้านจำนวนสองแสนบาท ดังนี้ ก และ ข จะเรียกให้ ค เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับตนเพื่อรับผิดในหนี้เงินกู้ต่อธนาคารสยามได้หรือไม่ จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1050 การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา 1052 บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1050 ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดในบรรดาหนี้สินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน

กรณีตามอุทาหรณ์ หนี้เงินกู้จากธนาคารสยามนั้น เป็นหนี้ที่ ก และ ข กู้มาใช้ในการลงทุนตอนเริ่มเปิดร้านขายอาหาร จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างฯ ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1050

สำหรับกรณีของ ค นั้น แม้จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในภายหลัง แต่ตามมาตรา 1052 ได้บัญญัติให้ผู้ที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ดังนั้น ก และ ข จึงเรียกให้ ค เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับตนเพื่อรับผิดในหนี้เงินกู้ต่อธนาคารสยามได้

สรุป ก และ ข เรียกให้ ค เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับตนเพื่อรับผิดในหนี้เงินกู้ต่อธนาคารสยามได้

 

ข้อ 2 นายเอก นายโท และนายตรี เข้าหุ้นกันจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อรับเหมาก่อสร้างทั่วไป โดยมีนายเอกเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายโทและนายตรีเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ห้างฯได้ตกลงใช้ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดมีทรัพย์ โดยใช้ชื่อสกุลของนายโทเป็นชื่อห้างฯ เพราะเห็นว่ามีความหมายดี หลังจากประกอบกิจการมาได้ห้าปี ห้างฯมีหนี้ค้างชำระบริษัท ปูนตราเสือ จำกัด อยู่สี่แสนบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ซื้อวัสดุก่อสร้างมาใช้ในการรับเหมาและยังไม่มีการชำระหนี้ ดังนี้ นายโทและนายตรีจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมีทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1081 ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง

มาตรา 1082 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น

มาตรา 1095 วรรคแรก ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้ คือ

(1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายโทและนายตรีจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมีทรัพย์หรือไม่นั้น เห็นว่า

กรณีของนายโท แม้จะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่เมื่อยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างฯ (แม้จะเป็นชื่อสกุลก็อยู่ในความหมายของชื่อด้วย) ตามที่มาตรา 1081 ได้บัญญัติห้ามไว้ จึงมีผลตามมาตรา 1082 วรรคแรก คือ นายโทต้องรับผิดต่อบริษัท ปูนตราเสือ จำกัด เจ้าหนี้ เสมือนเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และทำให้บริษัท ปูนตราเสือ จำกัด สามารถฟ้องนายโทได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ห้างฯเลิกแต่อย่างใดตามมาตรา 1095 วรรคแรก

ส่วนกรณีของนายตรีนั้น เมื่อนายตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จึงยังไม่ต้องรับผิดใดๆต่อบริษัทฯ ปูนตราเสือ จำกัด เจ้าหนี้ จนกว่าห้างฯนั้นจะได้เลิกกันแล้วตามมาตรา 1095

สรุป นายโทจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมีทรัพย์เสมือนเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และบริษัท ปูนตราเสือ จำกัด สามารถฟ้องนายโทได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ห้างฯเลิก ส่วนนายตรียังไม่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมีทรัพย์จนกว่าห้างฯจะเลิกกันแล้ว

 

ข้อ 3 บริษัท ศรีคราม จำกัด มีนายศรีและนายรามเป็นกรรมการ บริษัทมีความต้องการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่จำนวน 1,000 หุ้น กรรมการจึงมีหนังสือเรียกผู้ถือหุ้นทั้งหมดมาประชุมเรื่องการเพิ่มทุนบริษัท โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ครั้นถึงวันนัดประชุมคือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ถือหุ้นมาประชุมเพียง 8 คน อีก 2 คน ไม่มาประชุม ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มทุนโดยออกหุ้นใหม่อีก 1,000 หุ้น ดังนี้ หากผู้ถือหุ้น 2 คนที่ไม่มาประชุมต้องการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุม หลังจากการประชุมผ่านไปแล้ว 7 วัน จึงมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำปรึกษาอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1175 คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย

มาตรา 1195 การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

วินิจฉัย

ในเรื่องการบอกกล่าวนัดเรียกประชุมใหญ่ของบริษัทนั้นตามมาตรา 1175 ได้บัญญัติหลักไว้ว่าคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัท ซึ่งหากฝ่าฝืน การนัดเรียกประชุมใหญ่นั้น จะเป็นการนัดเรียกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กรรมการของบริษัทมีหนังสือเรียกผู้ถือหุ้นทั้งหมดมาประชุมเรื่องการเพิ่มทุนของบริษัทซึ่งถือเป็นการประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษนั้น เมื่อเพียงแต่ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวแต่อย่างใด การนัดเรียกประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติของมาตรา 1175 และเป็นการนัดเรียกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทำให้มติของที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

ดังนั้น เมื่อการนัดเรียกประชุมใหญ่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของมาตรา 1175 หากผู้ถือหุ้น 2 คน ที่ไม่มาประชุมต้องการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุม จึงสามารถร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนมติของที่ประชุมอันผิดระเบียบนั้นได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติตามมาตรา 1195

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่ผู้ถือหุ้น 2 คนที่ไม่ประชุมดังกล่าวข้างต้น

Advertisement