การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน  เอกลงหุ้นด้วยเงินจำนวน  5  แสนบาท  โทลงหุ้นด้วยแรงงานตีราคาค่าแรง  3  แสนบาท  ส่วนตรีได้กู้ยืมเงินจากจัตวามา  1  ล้านบาท  และได้นำมาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนี้  5  แสนบาท

ห้างหุ้นส่วนได้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้วมีโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ห้างฯมีวัตถุประสงค์ตั้งโรงสีข้าว  รับจ้างสีข้าว  ขายข้าวเปลือก  ข้าวสารและรับจำนำข้าว  ระหว่างที่ดำเนินกิจการ  โทได้เช่าที่ดินของแดงเพื่อทำโกดังเก็บข้าว  ต่อมามีขาวมาขอเข้าหุ้นด้วยอีกคนหนึ่งโดยเอก  โท  และตรีไม่ขัดข้อง  ขาวได้นำเงินมาลงหุ้น  5  แสนบาท  แต่โทยังไม่ได้ไปจดทะเบียนเพิ่มชื่อขาวว่าเป็นหุ้นส่วน

หนี้เงินกู้ที่ตรียืมมาจากจัตวาก็ถึงกำหนดชำระ  แต่ตรีไม่มีเงินชำระหนี้  และแดงได้ทวงค่าเช่าที่ดินที่ห้างหุ้นส่วนค้างชำระ  แต่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไม่มีเงินชำระหนี้  ดังนี้จัตวาและแดง  จะเรียกให้เอก  โท  ตรี  และขาว  ร่วมกันชำระหนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1052  บุคคลผู้ข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ  ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

วินิจฉัย

 1       กรณีจัตวาเป็นเจ้าหนี้  ที่ตรีกู้ยืมเงินมา  1  ล้านบาท  แล้วนำมาลงหุ้น  5  แสนบาท  เป็นหนี้ที่ตรีก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตรีโดยเฉพาะ  มิใช่หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ตามมาตรา  1050  ห้างฯ  ไม่ต้องรับผิดจัตวาจึงจะเรียกให้  เอก  โท  และขาวรับผิดไม่ได้  จัตวาจะต้องเรียกร้องเอาจากตรีแต่เพียงผู้เดียว

 2       กรณีแดงเป็นเจ้าหนี้  การที่โทเช่าที่ดินเพื่อทำโกดังเก็บข้าว  เป็นเรื่องธรรมดาของกิจการโรงสีข้าว  ซึ่งต้องมีสถานที่เก็บข้าว  หนี้ค่าเช่าโกดัง  หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา  1050  ขาวแม้จะมาเข้าหุ้นทีหลังก็ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ  ที่เกิดขึ้นก่อนตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วน  แม้ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนเพิ่มชื่อขาวก็ถือว่าขาวได้เป็นหุ้นส่วนแล้ว  เพราะได้มีการตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน  และได้นำเงินมาลงหุ้นแล้วจำนวน  5  แสนบาท  การเป็นหุ้นส่วนของขาวถือว่าสมบูรณ์แล้ว  จึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ  ค่าเช่าโกดังด้วยตามมาตรา  1052

 

ข้อ  2  อาทิตย์  จันทร์  และอังคาร  ตกลงเข้าหุ้นกัน  โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  มีอาทิตย์และจันทร์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ส่วนอังคารเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ทั้งหมดรับว่าจะลงหุ้นกันคนละ  1  ล้านบาท  แต่ขณะนี้ได้ส่งเงินลงหุ้นมาแล้วคนละ  5  แสนบาท  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้มีวัตถุประสงค์ค้าขายวัสดุก่อสร้าง  อาทิตย์เห็นว่า  อังคารมีภาระงานหนักมาก  อาทิตย์จึงได้แนะนำให้จ้างพุธมาเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด  อังคารเห็นดีด้วยและอังคารได้ว่าจ้างพุธมาเป็นผู้จัดการห้างฯ  โดยมีหน้าที่จัดการงานของห้างฯ  และลงนามในสัญญาต่างๆ  แทนอังคารได้ทุกเรื่อง  ต่อมาพุธได้ลงนามสั่งซื้อเหล็กจากบริษัท  เหล็กเส้นไทย  จำกัด  มาขายในกิจการของห้างฯ  เป็นหนี้ค่าเหล็กอยู่  4  แสนบาท  และห้างฯ  ไม่มีเงินชำระหนี้  บริษัทเหล็กเส้นไทย  จำกัด  จึงเรียกให้อาทิตย์รับผิดร่วมกับนายอังคาร  เพราะถือว่าอาทิตย์มีส่วนร่วมในการตั้งผู้จัดการห้างฯ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าอาทิตย์ต้องรับผิดในหนี้ค่าเหล็กหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1088  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี  ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการ  ตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี  ท่านหานับว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่

วินิจฉัย

การให้คำแนะนำของนายอาทิตย์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่ให้อังคารจ้างพุธมาเป็นผู้จัดการเป็นการออกความเห็นและแนะนำ  จึงไม่เป็นการสอดเข้าจัดการ  อีกทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งหรือถอนถอนผู้จัดการจึงไม่เป็นการสอดเข้าจัดการตามมาตรา  1088  วรรคสอง  นายอาทิตย์จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าเหล็กที่นายพุธสั่งซื้อมา

สรุป  นายอาทิตย์ไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าเหล็ก

 

ข้อ  3  คณะกรรมการบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งได้นัดประชุมใหญ่วิสามัญ  เพื่อเลือกกรรมการบริษัทแทนนางสาวมาลี  ซึ่งลาออกจากตำแหน่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากได้ลงมติเลือกนายสมชาย  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเป็นกรรมการแทน  ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสมชายได้มอบฉันทะให้นายสมเดชมาเข้าประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้  และนายสมเดชได้ออกเสียงลงคะแนนเลือกนายสมชายเป็นกรรมการด้วย นายสมหวังซึ่งแพ้มติมิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการบริษัท  มีความเห็นว่า  นายสมชายมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ  จึงไม่มีสิทธิลงคะแนน  หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นลงคะแนน  การลงคะแนนเลือกกรรมการครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าความเห็นของนายสมหวังชอบด้วยหลักกฎหมายหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  1185  ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติ  ท่านห้ามมิให้ผ็ถือหุ้นคนนั้นออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น

วินิจฉัย

การเลือกกรมการนั้นผู้ถือหุ้นมีสิทธิลงคะแนนเลือกตัวเองเป็นกรรมการบริษัทได้ไม่ถือว่าผู้ถือหุ้นคนนั้นมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ  เพราะการเป็นกรรมการก็เพื่อเข้าไปทำหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามข้อบังคับของบริษัท  ถึงแม้จะมีส่วนได้เสียในการลงคะแนนให้ตัวเอง  แต่ก็เป็นเพียงส่วนได้เสียธรรมดา  มิใช่เป็นการมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษตามบทบัญญัติมาตรา  1185

สรุป  ความเห็นของนายสมหวังไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย

Advertisement