การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1.      เอก และโท ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจะจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน เอกได้นำเงินสดมาลงหุ้นจำนวน 2 ล้านบาท โทได้นำอาคารตึกแถวพร้อมที่ดินมาลงหุ้นโดยให้ที่ดินและตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วน และตีราคาเป็นทุนลงหุ้น 3 ล้านบาท แต่โทไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมในการโอน จึงได้ส่งมอบอาคารตึกแถวพร้อมที่ดินให้ห้างฯ ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการตลอดมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ต่อมาโทถึงแก่กรรม ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจึงเลิกกัน แต่ตรีบุตรชายของโท ต้องการตึกแถวและที่ดินที่โทนำมาลงหุ้นคืน เพราะขณะนี้อาคารและที่ดินดังกล่าวราคาสูงขึ้นมาก แต่เอกไม่ยอมให้คืนโดยอ้างว่าที่ดินและตึกแถว
ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030 ตรีมีสิทธิรับเงิน        3 ล้านบาท พร้อมกำไรอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ตรีเถียงว่าบิดาตนมิได้ไปทำหนังสือและจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน ห้างหุ้นส่วนฯ จึงมิได้กรรมสิทธิ์ จึงขอรับตึกแถวและที่ดินคืนพร้อมเงินส่วนแบ่งกำไรอีกจำนวนหนึ่ง ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างดังกล่าวของฝ่ายใดจะชอบด้วยหลักของกฎหมายแนวคำตอบหลักกฎหมาย  มาตรา 1030วินิจฉัย  ข้ออ้างของเอกชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากตามมาตรา 1030  การนำทรัพย์สินมาลงหุ้นและให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ห้างฯ ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงหุ้นกับห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นให้นำหลักเรื่องการส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยซื้อขายมาใช้บังคับ  การซื้อขายทรัพย์นั้นเมื่อผู้ขายส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว  กรรมสิทธิ์ก็ตกไปเป็นของผู้ซื้อทันทีโดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้นเมื่อโทส่งมอบที่ดินพร้อมตึกแถวให้ห้างหุ้นส่วนฯ ได้เข้าครอบครองและใช้สอยแล้ว  กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวก็ตกเป็นของห้างหุ้นส่วนโดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

สรุป  ข้ออ้างของเอกชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2.      นายจันทร์และนายอังคารตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายจันทร์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายอังคารเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ได้จดทะเบียนถูกต้องเรียบร้อยแล้วดำเนินกิจการมาได้ 3 ปีเศษ ก็ขาดเงินสดหมุนเวียน นายจันทร์จึงได้ไปกู้เงินนายพุธมา 5 แสนบาท เพื่อนำมาใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด และได้นำรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำนวน 1 คันไปให้นายพุธยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้รายดังกล่าว ทำให้นายอังคารไม่พอใจ นายอังคารประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลให้เพิกถอนการจำนำรายนี้ จึงมาปรึกษาท่านว่า นายอังคารจะมีอำนาจฟ้องคดีดังกล่าวได้หรือไม่ ให้ท่านแนะนำนายอังคาร

แนวคำตอบ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า นายอังคารจะมีอำนาจฟ้องคดีให้เพิกถอนการจำนำรายนี้หรือไม่

หลักกฎหมาย  มาตรา 1087 ….

ตามมาตรา 1087  นี้  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ จึงมีปัญหาว่าการฟ้องคดีจะถือว่าเป็นการจัดการงานของ

ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือไม่  ซึ่งจะต้องพิเคราะห์ว่า การจัดการนั้นก็คือการดูแลรักษาหาผลประโยชน์ให้แก่ห้างฯ และการระมัดระวังไม่ให้ห้างฯ ได้รับความเสียหาย ตลอดจนการทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของห้างฯ ตามที่ได้จดทะเบียนไว้  ดังนั้นจึงต้องถือว่าการฟ้องคดีแทนห้างฯ ก็เป็นการจัดการงานของห้างฯ อย่างหนึ่ง  ซึ่งหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีสิทธิทำแทนห้างหุ้นส่วนจำกัด

ดังนั้น จึงต้องแนะนำนายอังคารว่า  นายอังคารไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจำนำ

 

ข้อ 3.      ข้อบังคับของบริษัทใบตองจำกัดในเรื่องการโอนหุ้นมีว่า “หากผู้ถือหุ้นประสงค์จะโอนหุ้นไปยังบุคคลภายนอก ต้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทจำกัดเสียก่อนจึงจะโอนได้ เว้นแต่เป็นการ       ตกทอดโดยทางมรดก และมติของคณะกรรมการให้ถือว่าเป็นที่สุด”

                นางสกุณา มีหุ้นในบริษัทดังกล่าวจำนวน 10,000 หุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น และหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือจำนวน 5,000 หุ้น นางสกุณาประสงค์จะโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่บุตรสาวของตนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุ 18 ปี จึงได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการบริษัท แต่คณะกรรมการฯ ไม่ยอมให้มีการโอนหุ้นทั้งสองชนิด เพราะมีความเห็นว่า บุตรสาวของนางสกุณาเป็นบุคคลภายนอก มิใช่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใบตองจำกัด ดังนี้นางสกุณาจึงมาปรึกษาท่านว่า มติของคณะกรรมการดังกล่าวชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทและหลักกฎหมายหรือไม่             

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย  มาตรา 1129 วรรคแรก  มาตรา 1135

 วินิจฉัย  จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงต้องถือว่า ผู้ถือหุ้นนั้นย่อมจะโอนหุ้นของตนได้เสมอ  เว้นแต่เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ตามปัญหาบริษัทใบตอง จำกัดได้ออกข้อบังคับในเรื่องการโอนหุ้นไว้ว่า  หากผู้ถือหุ้นประสงค์จะโอนหุ้นไปยังบุคคลภายนอก  จะต้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัท จำกัดเสียก่อน จึงจะโอนได้  เว้นแต่เป็นการตกทอดโดยทางมรดก  ข้อบังคับดังกล่าวจึงใช้บังคับได้  เพราะเป็นไปตามหลักกฎหมายมาตรา 1129 วรรคแรก  เมื่อนางสกุณาได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อจะโอนหุ้นระบุชื่อและโอนหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือให้แก่บุตรสาวของตน  แต่คณะกรรมการฯไม่ยินยอมให้โอนหุ้นทั้งสองชนิด  มติของคณะกรรมการในเรื่องการไม่อนุญาตให้โอนหุ้นระบุชื่อย่อมถูกต้อง เพราะเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท  โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า บุตรสาวของนางสกุณาเป็นบุคคลภายนอกมิใช่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใบตอง จำกัด  เพราะบุคคลภายนอกตามข้อบังคับนี้ก็คือ บุคคลที่มิใช่ผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด เมื่อบุตรสาวของนางสกุณามิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด จึงถือว่าเป็นบุคคลภายนอก มติของคณะกรรมการในเรื่องไม่ยอมให้โอนหุ้นระบุชื่อจึงถูกต้องด้วยข้อบังคับของบริษัทและชอบด้วยหลักกฎหมาย  แต่สำหรับหุ้นที่มีใบหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือนั้น  ย่อมโอนกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1135 โดยส่งมอบใบหุ้นให้แก่กัน และเมื่อจะโอนก็ไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทฯ เพราะข้อบังคับในเรื่องการโอนหุ้นนั้นจะใช้บังคับเฉพาะหุ้นที่มีใบหุ้นชนิดระบุชื่อเท่านั้นที่ต้องทำตามข้อบังคับของบริษัท  ดังนั้นมติของคณะกรรมการที่ห้ามโอนหุ้นผู้ถือจึงไม่ถูกต้อง และขัดต่อกฎหมาย

สรุป  1. มติในเรื่องการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อชอบด้วยข้อบังคับและหลักของกฎหมาย

        2. มติในเรื่องการโอนหุ้นชนิดที่ออกให้แก่ผู้ถือไม่ชอบด้วยหลักของกฎหมาย                         

Advertisement