การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  โท  และตรี  ตกลงหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกบ้านจัดสรรขาย  โดยเอก  และโท  ลงหุ้นด้วยเงินคนละหนึ่งล้านบาท  ส่วนตรีลงหุ้นด้วยแรงและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  และมีข้อจำกัดอำนาจของตรีไว้ว่า  จะทำสัญญากับบุคคลภายนอกได้ในวงเงินไม่เกินสองแสนบาท  หากต้องทำเกินสองแสนบาทจะต้องขออนุญาตจากหุ้นส่วนคนอื่นๆด้วย  ถ้าฝ่าฝืน  หุ้นส่วนอื่นๆจะรับผิดในส่วนที่เกินอำนาจ

ต่อมาตรีต้องการซื้อที่ดินจากจัตวา  เพื่อนำมาปลูกบ้านจัดสรรขายในราคาสองล้านบาท  ตรีจึงปรึกษาเอกกับโท  เอกเห็นด้วยกับตรี  ส่วนโทได้คัดค้าน  แต่ตรีไม่ฟังคำคัดค้านของโท  และได้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจัตวา  แต่เมื่อถึงวันนัดโอนที่ดิน  ตรีไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าที่ดินให้จัตวาได้

จัตวาจึงเรียกร้องให้หุ้นส่วนทั้งสามร่วมกันรับผิด  แต่เอกกับโทต่อสู้ว่ามิได้เป็นคู่สัญญากับจัตวา  จึงไม่ขอรับผิด  และหากจะรับผิดก็รับผิดไม่เกินสองแสนบาทเท่าที่อยู่ในอำนาจการจัดการของตรี  ดังนี้  ข้อต่อสู้ทั้งสองประเด็นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1053  ห้างหุ้นส่วนซึ่งมิได้จดทะเบียนนั้น  ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนคนหนึ่งในการที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ  ท่านว่าข้อจำกัดเช่นนั้นก็หามีผลถึงบุคคลภายนอกไม่

วินิจฉัย

ประเด็นแรก  ที่เอกกับโทต่อสู้ว่ามิได้เป็นคู่สัญญากับจัตวา  จึงไม่ขอรับผิดในหนี้ค่าที่ดินที่ตรีหุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญาจะซื้อจะขายจากจัตวานั้น  ฟังไม่ขึ้น  เพราะเอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกบ้านจัดสรรขาย  การที่ตรีไปซื้อที่ดินเพื่อนำมาปลูกบ้านจัดสรรขาย  จึงเป็นเรื่องธรรมดาของการดำเนินธุรกิจปลูกบ้านจัดสรรขาย  ที่ต้องมีการซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ปลูกสร้างบ้านเพื่อขาย  ตามมาตรา  1050  เอกและโทจึงต้องร่วมกันรับผิด  แม้จะมิได้เป็นคู่สัญญาก็ตาม

ประเด็นที่สอง  ที่ต่อสู้ว่าหากจะรับผิดก็ไม่เกินสองแสนบาทเท่าที่อยู่ในอำนาจของตรี  ก็รับฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน  เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการเข้าหุ้นกันเพื่อจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  แม้จะมีข้อตกลงจำกัดอำนาจหุ้นส่วนคนหนึ่งในการผูกพันหุ้นส่วนคนอื่นๆ  ข้อตกลงจำกัดอำนาจก็ไม่มีผูกพันบุคคลภายนอกผู้สุจริต  ตามมาตรา  1053  การที่ตรีทำเกินขอบอำนาจ  ก็ยังผูกพันหุ้นส่วนอื่นๆ  ให้ต้องรับผิดดังนั้นข้อต่อสู้ในประเด็นนี้ของเอกและโท  ก็ฟังไม่ขึ้น  และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  ข้อต่อสู้ของเอกและโท  ทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  แดง  ดำ  และขาว  เข้าหุ้นกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  แดงเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด  และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วย ส่วนดำ  และขาว  เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ดำได้ลงนามซื้อขายสินค้าวัตถุตามประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยที่แดงหุ้นส่วนผู้จัดการมิได้มอบหมาย  แต่ดำก็ได้ประทับตราห้างหุ้นส่วนจำกัดลงไปด้วย  ส่วนแดงเมื่อทราบเรื่องแล้วก็มิได้ทักท้วงและยังยอมให้ดำนำสินค้ามาขายในห้างฯอีกด้วย  ต่อมาดำผิดนัดชำระหนี้  ดังนี้  เจ้าหนี้รายดังกล่าวจะเรียกร้องให้แดงและขาว   ร่วมรับผิดกับดำได้หรือไม่ และจะถือว่าการกระทำของดำเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างฯ  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1070  เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้  เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้

มาตรา  1080  วรรคแรก  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ  หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด  3  นี้  ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

วินิจฉัย

การกระทำของดำซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งได้ลงนามซื้อขายสินค้าตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ  โดยที่หุ้นส่วนผู้จัดการมิได้มอบหมาย  จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำแทนห้างฯ  แต่เนื่องจากหุ้นส่วนผู้จัดการคือแดงทราบแล้วก็ไม่ได้ทักท้วง  และยังยอมให้นำสินค้าที่ซื้อมาขายในห้างด้วย  จึงเป็นการให้สัตยาบันในการกระทำของดำ  ดังนั้นการกระทำของดำจึงถือว่าเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างฯ  ตามมาตรา  1088  วรรคแรก  ดำจึงต้องรับผิดร่วมกับห้างฯ  ด้วยเมื่อห้างฯ  ไม่ชำระหนี้  เจ้าหนี้จึงเรียกร้องเอาจากแดงได้เพราะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ตามมาตรา  1070  ประกอบมาตรา  1080  วรรคแรก  ส่วนขาวเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างฯ  จะเรียกร้องให้ขาวรับผิดไม่ได้ตามมาตรา  1095  วรรคแรก

สรุป  เจ้าหนี้รายดังกล่าวของห้างฯ  เรียกร้องให้แดงรับผิดร่วมกับดำได้  แต่จะเรียกร้องให้ขาวรับผิดร่วมกับดำไม่ได้  และถือว่าการกระทำของดำเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างฯ

 

ข้อ  3  บริษัท  นพคุณ  จำกัด  ได้นัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งผู้สอบบัญชี  ในการนัดประชุมใหญ่ครั้งนี้  บริษัทได้ลงประกาศหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งที่บริษัทมีภูมิลำเนาอยู่  โดยลงประกาศโฆษณาเมื่อวันที่  30  มิถุนายน  2550  แจ้งเรื่องนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่  8  กรกฎาคม  2550  เพื่อเลือกตั้งผู้สอบบัญชี  ณ  ที่ทำการบริษัท  เวลา  09.30 น.  นางสาวเพ็ญศรีผู้ถือหุ้นของบริษัทคนหนึ่งได้ทราบข้อความนัดประชุมผู้ถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ดีแล้ว  แต่ไม่ได้มาประชุมในวันดังกล่าวเพราะติดธุระจำเป็น  ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นๆบางคนก็ทราบ  บางคนก็ไม่ทราบเพราะไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์  ดังนี้  นางสาวเพ็ญศรีจะฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนมติตั้งผู้สอบบัญชีได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  1175  คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราวนั้นให้ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่ง  ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน  บรรดามีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

ในคำบอกกล่าวนั้น  ให้ระบุสถานที่  วัน  เวลา  และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันนั้นด้วย

มาตรา  1195  การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน  หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี  หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี  เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว  ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย  แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

วินิจฉัย

การบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ไม่ถูกต้องตามมาตรา  1175  กล่าวคือ  แม้ว่าในการนัดประชุมใหญ่ครั้งนี้  บริษัท  นพคุณ  จำกัด  ได้ลงประกาศหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่งที่บริษัทมีภูมิลำเนาก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน  และในคำบอกกล่าวนั้นได้ระบุสถานที่  วัน  เวลา  และสภาพแห่งกิจการที่จะประชุมปรึกษากันแล้วก็ตาม  แต่ได้ลงโฆษณาหนังสือพิมพ์เพียงครั้งเดียว  และผู้ถือหุ้นบางคนก็ไม่ทราบ  ส่วนนางสาวเพ็ญศรีผู้ถือหุ้นคนหนึ่งทราบ  แต่ไม่มาประชุมเพราะติดธุระ  การประชุมในวันดังกล่าวซึ่งนัดเลือกไม่ถูกต้องย่อมเสียไป ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งย่อมฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนมติของที่ประชุมได้ตามมาตรา  1195  ดังนี้นางสาวเพ็ญศรีจึงมีอำนาจฟ้อง

สรุป  นางสาวเพ็ญศรีสามารถฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนมติตั้งผู้สอบบัญชีได้

Advertisement