การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  โท  ตรี  เข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน  มีเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ส่วนจัตวาซึ่งเป็นเพื่อนรักกับเอก  มักจะได้รับมอบหมายจากเอกให้มาช่วยจัดการงานของห้างหุ้นส่วนเป็นประจำจนบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจัตวาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  วันหนึ่งเอกได้ขับรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไปส่งของให้ลูกค้าที่สั่งซื้อของ  ขากลับจากส่งสินค้าเอกได้ขับรถยนต์ชนอาทิตย์บาดเจ็บสาหัส  อาทิตย์จึงเรียกให้หุ้นส่วนทั้งสามคนชำระค่าสินไหมทดแทนร่วมกัน  แต่หุ้นส่วนทั้งสามไม่มีเงินชำระ  อาทิตย์จะเรียกให้จัตวาชำระหนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1054  วรรคแรก  บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี  ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี  ด้วยกิริยาก็ดี  ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี  หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี  ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน

วินิจฉัย

จัตวามิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนดังกล่าว  แต่การที่จัตวาซึ่งเป็นเพื่อนรักกับเอกซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ  มักจะได้รับมอบหมายจากเอกให้มาช่วยจัดการงานของห้างหุ้นส่วนเป็นประจำจนบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจัตวาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ดังนั้นจึงเป็นการที่จัตวาแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยกิริยา  จัตวาต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา  1054  วรรคแรก  ซึ่งผู้ต้องรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนนั้นก็รับผิดเฉพาะหนี้ที่เกิดจากการทำสัญญาเท่านั้น  เพราะการทำสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลที่มาติดต่อค้าขายกับห้างได้หลงเชื่อว่า  ผู้นั้นเป็นหุ้นส่วน  แต่การที่เอกได้ขัยรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไปส่งของให้ลูกค้าที่สั่งซื้อของ  แล้วขากลับจากส่งสินค้าเอกได้ขับรถยนต์ชนอาทิตย์บาดเจ็บสาหัส  อาทิตย์จึงเรียกให้หุ้นส่วนทั้งสามคนชำระค่าสินไหมทดแทนร่วมกัน  แต่หุ้นส่วนทั้งสามไม่มีเงินชำระนั้น  จะเห็นได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ละเมิด  ซึ่งผู้ถูกละเมิดเถียงไม่ได้ว่าการที่ตนเสียหายนั้นเพราะหลงเชื่อข้อความอันใดอันหนึ่งหรือการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ที่แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน  ดังนั้นอาทิตย์จึงเรียกให้จัตวาชำระหนี้ไม่ได้  เพราะความเสียหายที่อาทิตย์ได้รับมิใช่เป็นผลโดยตรงอันเนื่องจากจัตวาแสดงตนเป็นหุ้นส่วนร่วมกับเอก  โท  ตรี

สรุป  อาทิตย์เรียกให้จัตวาชำระหนี้ไม่ได้

 

ข้อ  2  นายศุกร์  นายเสาร์  และนายอาทิตย์  เข้าหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  นายศุกร์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  นายเสาร์  และนายอาทิตย์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ทั้งหมดตกลงให้นายเสาร์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ห้างฯได้ดำเนินกิจการมาได้หลายปีมีกำไรดีทุกปี  และในการจัดการงานของห้างฯนั้น  ในบางครั้งนายเสาร์ก็ได้เคยมอบหมายให้นายศุกร์ช่วยจัดการงานเป็นประจำ  เมื่อเวลาที่นายเสาร์ไม่อยู่  ต่อมานายศุกร์รู้ตัวว่าจะต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ  ที่ตนได้เข้าจัดการโดยไม่จำกัดจำนวนจึงโอนหุ้นของตนให้นายศักดิ์ซึ่งเป็นญาติกัน  แต่หุ้นส่วนคนอื่นๆไม่ยินยอม  ดังนี้นายศุกร์จึงมาถามท่านว่า

 1       นายศุกร์จะโอนหุ้นให้นายศักดิ์ได้หรือไม่โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากหุ้นส่วนคนอื่นๆ

2       นายศักดิ์ผู้รับโอนหุ้นของนายศุกร์จะต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนแทนนายศุกร์ใช่หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1088  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

มาตรา  1091  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นๆ  ก็โอนได้

วินิจฉัย

 1       นายศุกร์โอนหุ้นให้นายศักดิ์ได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากหุ้นส่วนคนอื่นๆ  เพราะนายศุกร์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ตามมาตรา  1091

 2       การกระทำของนายศุกร์ถือได้ว่าเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างฯ  ตามมาตรา  1088  วรรคแรก  แม้จะได้รับมอบหมายจากนายเสาร์ก็ตาม  แต่ก็เป็นความรับผิดเฉพาะตัวของนายศุกร์  แม้นายศุกร์จะโอนหุ้นให้นายศักดิ์  ความรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนก็ไม่โอนไปยังนายศักดิ์

 

ข้อ  3  ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท  สามสหาย  จำกัด  เพื่อลดทุนของบริษัท  ปรากฏว่ามติครั้งแรกให้ลดทุนลงครึ่งหนึ่ง  โดยลดมูลค่าหุ้นให้ต่ำลงจากหุ้นละ  10  บาท  เหลือหุ้นละ  5  บาท  แต่ปรากฏว่าในการประชุมครั้งที่สอง  เมื่อวันที่  25  สิงหาคม  2549  ที่ประชุมมีมติให้ลดทุนลงครึ่งหนึ่งเหมือนเดิม  แต่ลดจำนวนหุ้นให้น้อยลง  ต่อมาได้มีการนำมตินี้ไปจดทะเบียนเมื่อวันที่  4  กันยายน  2549  นายทะเบียนก็รับจดทะเบียนให้  นายฉายผู้ถือหุ้นคนหนึ่งได้มาตรวจสอบรายงานการประชุมทั้งสองครั้งเมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2549  ก็พบว่ามติในที่ประชุมทั้งสองครั้งไม่เหมือนกัน  จึงต้องการฟ้องเพิกถอนมติ  จึงมาปรึกษาท่านในฐานะที่ศึกษากฎหมายว่าในกรณีดังกล่าว  นายฉายจะฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวได้หรือไม่  ให้ท่านแนะนำนายฉาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1194  วรรคแรก  ถ้าที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติอันใดเป็นลำดับกันสองครั้งประชุมแล้ว  มติอันนั้นท่านให้ถือว่าเป็นมติพิเศษ  เมื่อได้ทำให้เป็นไปโดยวิธีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

วรรคห้า  ที่ประชุมครั้งหลังได้ลงมติยืนตามมติที่ประชุมครั้งแรกโดยคะแนนเสียงข้างมากนับได้ไม่น้อยกว่าสองในสามส่วนของจำนวนเสียงทั้งหมด

มาตรา  1195  การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน  หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี  หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี  เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว  ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย  แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

วินิจฉัย

ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท  สามสหาย  จำกัด  เพื่อลดทุนของบริษัทนั้นจะเห็นว่า  ได้มีการลงมติเป็นลำดับกันสองครั้งประชุม  มตินั้นจึงถือว่าเป็นมติพิเศษ  ซึ่งจะต้องทำให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา  1194  แต่ปรากฏว่ามติในที่ประชุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตรา  1194  วรรคห้า  คือ  มติให้ลดทุนครั้งที่สองต่างกับครั้งแรก  จึงมิใช่เป็นเรื่องยืนตามมติครั้งแรก  ดังนั้น  เมื่อการประชุมใหญ่นั้นได้ลงมติฝ่าฝืนบัญญัติของกฎหมาย  ถ้ากรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้วให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย  แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่ง  นับแต่วันลงมตินั้น  ตามมาตรา  1195  ซึ่งตามปัญหาจะต้องร้องขอภายในวันที่  25  กันยายน  2549  แต่เมื่อนายฉายผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมารู้เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2549  จึงเลยกำหนดเวลาให้ฟ้องเพิกถอนแล้ว

สรุป  นายฉายจะฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวไม่ได้

Advertisement