การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  เอกขับเรือหางยาวรับจ้างขนผู้โดยสารข้ามฟากแม่น้ำ  เอกมักจะบรรทุกผู้โดยสารเกินขนาดทำให้เรือเพียบแต่ก็ยังขับรับส่งผู้โดยสารมาโดยตลอด 

วันเกิดเหตุเอกบรรทุกผู้โดยสารเกินขนาดเช่นเคย  เมื่อขับเรือไปถึงกลางแม่น้ำเกิดพายุรุนแรงพัดมาโดยไม่คาดหมาย  ทำให้เรือล่มผู้โดยสารจมน้ำตาย  2  คน  ส่วนเรือโดยสารลำอื่นๆ  ที่แล่นอยู่ในน้ำ  แม้จะบรรทุกผู้โดยสารไม่เกินขนาดต่างก็ถูกพายุพัดจนเรือล่มเช่นกัน  ดังนี้  เอกจะมีความผิดต่อชีวิตร่างกายฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคสี่  กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น  จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  291  ประกอบด้วย

1       กระทำด้วยประการใดๆ

2       การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3       โดยประมาท

ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  291  นั้น  จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้กระทำได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา 59  วรรคสี่  และการกระทำนั้นทำให้เกิดผลคือเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามหลักที่ว่า  “ถ้าไม่มีการกระทำ  (โดยประมาท)  ผลจะไม่เกิด”  แต่ถ้าผลที่เกิดขึ้นนั้น  แม้ไม่มีการกระทำของบุคคลนั้น  ผลก็ยังคงเกิดขึ้นเช่นกัน  ดังนี้จะถือว่าผลเกิดจากการกระทำของเขาไม่ได้  ตามหลักที่ว่า  “แม้ไม่มีการกระทำ  ผลก็ยังเกิด”

ตามอุทาหรณ์  การที่เอกขับเรือหางยาวรับจ้างและบรรทุกผู้โดยสารเกินขนาดทำให้เรือเพียบนั้น  เป็นการกระทำความผิดตาม  พ.ร.บ.  การเดินเรือในน่านน้ำไทย  พ.ศ.2546  แต่ในกรณีที่เรือล่มและผู้โดยสารจมน้ำตาย  2  คนนั้น  เอกจะมีความผิดต่อชีวิตร่างกายฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  291  หรือไม่นั้น  เห็นว่า  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเหตุที่ทำให้เรือล่มนั้น  เป็นเพราะเกิดพายุรุนแรงพัดมาโดยไม่คาดหมาย  มิได้เกิดขึ้นเพราะเอกบรรทุกผู้โดยสารเกินขนาดแต่อย่างใด  ดังจะเห็นได้จากการที่เรือโดยสารลำอื่นๆที่แล่นอยู่ในแม่น้ำ  แม้จะบรรทุกผู้โดยสารไม่เกินขนาดต่างก็ถูกพายุพัดจนเรือล่มเช่นกัน  ดังนั้นกรณีที่เรือของเอกล่ม  และมีผู้โดยสารจมน้ำตาย  2  คนนั้น  จึงไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของเอกโดยตรง  ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า  “แม้ไม่มีการกระทำ  (โดยประมาทของเอก)  ผลก็ยังเกิด”  กล่าวคือ  จะถือว่าการที่ผู้โดยสารจมน้ำตายเป็นผลที่เกิดจากการกระทำโดยประมาทของเอกไม่ได้  ดังนั้น  เอกจึงไม่มีความผิดต่อชีวิตร่างกาย  ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  (ฎ. 1073/2464)

สรุป  เอกไม่มีความผิดต่อชีวิตร่างกายฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

ข้อ  2  นายหนึ่งต้องการจับนายสองไปเรียกค่าไถ่  วันเกิดเหตุขณะที่นายสามซึ่งเป็นพี่ชายของนายสองจอดรถอยู่ที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง  นายหนึ่งเข้าใจว่าเป็นนายสองจึงจับตัวนายสามไป  หลังจากรถแล่นไปได้  1  กิโลเมตร  พอนายหนึ่งรู้ว่าจับผิดคนจึงจอดรถแล้วปล่อยนายสามลงจากรถและกำชับด้วยว่าไม่ให้นำเรื่องไปบอกใคร  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่านายหนึ่งจะมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใด  และจะต้องรับโทษเพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด  ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  313  ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป

(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง  ขู่เข็ญ  ใช้กำลังประทุษร้าย  ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม  หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด  หรือ

(3) หน่วงเหนี่ยว  หรือกักขังบุคคลใด

ต้องระวางโทษ…

มาตรา  316  ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา  313  มาตรา  314  หรือมาตรา  315  จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป  ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา  โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต  ให้ลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้  แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา  313  วรรคแรก (3)  ประกอบด้วย

 1       หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใด

2        โดยเจตนา

3       เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่งมีเจตนาต้องการจับนายสองไปเรียกค่าไถ่  แต่เพราะความสำคัญผิดนายหนึ่งได้จับตัวนายสามซึ่งเป็นพี่ชายของนายสองไปโดยเข้าใจว่าเป็นนายสอง  ดังนี้  นายหนึ่งจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนาจะจับตัวนายสามไปเรียกค่าไถ่หาได้ไม่  ตามมาตรา  61

และการที่นายหนึ่งจับตัวนายสามไปโดยมีเจตนาเพื่อเรียกค่าไถ่นั้น  ถึงแม้ว่านายหนึ่งจะยังไม่ได้เรียกค่าไถ่เนื่องจากนายหนึ่งได้รู้ว่าจับผิดคนจึงได้ปล่อยตัวนายสามไป  การกระทำของนายหนึ่งก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา  313  วรรคแรก (3)  แล้ว  เพราะการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว

ส่วนการที่นายหนึ่งได้ปล่อยตัวนายสาม  และนายสามก็ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใดนั้น  ถือได้ว่าเป็นการจัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา  โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกใจอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต  จึงเป็นเหตุให้ได้รับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามมาตรา  316

สรุป  นายหนึ่งมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยว  หรือกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา  313  วรรคแรก (3) แต่ได้รับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา  316

 

ข้อ  3  หนึ่งและสองเข้าหุ้นกันเปิดร้านขายของชำประเภทมินิมาร์ท   โดยหนึ่งทำหน้าที่ติดต่อซื้อของเข้าร้านและดูแลสต๊อกสินค้า  ส่วนสองทำหน้าที่เป็นคนขายคิดราคาและเก็บเงินที่เคาน์เตอร์หน้าร้าน  สองคิดไม่ซื่อนัดหมายให้สามมาแอบลักเอาสินค้าในร้านออกไปโดยสองแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นปล่อยให้สามเอาของออกไปโดยไม่จ่ายเงิน  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าสองจะมีความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334  นั้น  จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต  หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง  ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  ไปโดยทุจริต  ในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นไป  ได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่  ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์  แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา  352  วรรคแรก

ตามอุทาหรณ์  การที่หนึ่งและสองเข้าหุ้นกันเปิดร้านขายของชำประเภทมินิมาร์ท  โดยหนึ่งทำหน้าที่ติดต่อสั่งซื้อของเข้าร้านและดูแลสต๊อกสินค้า  ส่วนสองทำหน้าที่เป็นคนขายคิดราคาและเก็บเงินที่เคาน์เตอร์หน้าร้าน  กรณีดังกล่าวถือได้ว่า  ทั้งหนึ่งและสองเป็นเจ้าของสินค้าในร้านและต่างก็ร่วมกันครอบครองสินค้าในร้านนั้นด้วยกันในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม

ดังนั้น  ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่สองให้สามแอบลักเอาสินค้าในร้านออกไป  จะถือว่าสองมีความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้  เพราะในขณะนั้นสองได้ครอบครองทรัพย์หรือสินค้านั้นอยู่  และจะถือว่าสองมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ลักทรัพย์ก็ไม่ได้  (ฎ. 554/2509  และ  ฎ.  1891 – 1892/2536)  ถ้าสองจะมีความผิดก็มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

สรุป  สองไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์  ด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  4  นายอาทิตย์เจ้าของที่ดินมอบให้นางราตรีเป็นนายหน้าหาคนมาซื้อที่ดินโดยตกลงจะให้ค่านายหน้าร้อยละ  5  ของราคาที่ดินที่ขายได้  นางราตรีได้พานางสมศรีมาติดต่อซื้อที่ดินจากนายอาทิตย์  หลังจากได้มีการจดทะเบียนซื้อขายและชำระราคาที่ดินให้แก่กันแล้ว  นางราตรีได้มาที่บ้านของนายอาทิตย์เพื่อขอรับค่านายหน้า  นายอาทิตย์ได้ใช้อุบายหลอกลวงว่ายังไม่ได้มีการซื้อขายที่ดินกันด้วยเจตนาจะไม่จ่ายค่านายหน้า  ต่อมานางราตรีได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงรู้ว่านายอาทิตย์หลอกลวง   นางราตรีจึงไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายอาทิตย์ในข้อหาฉ้อโกง  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่านายอาทิตย์จะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  341  ผู้ใดโดยทุจริต  หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง  และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  ประกอบด้วย

1       หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก)  แสดงข้อความเป็นเท็จ  หรือ

(ข)  ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2       โดยการหลอกลวงนั้น

(ก)  ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม

(ข)  ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ

 3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายอาทิตย์ได้ใช้อุบายหลอกลวงนางราตรีว่ายังไม่ได้มีการซื้อขายที่ดินกับนางสมศรีโดยมีเจตนาจะไม่จ่ายค่านายหน้าให้นางราตรีนั้น  ถือว่าเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้กระทำโดยเจตนา

แต่อย่างไรก็ดี  การหลอกลวงของนายอาทิตย์ดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้นายอาทิตย์ได้ทรัพย์สินจากนางราตรีผู้ถูกหลอกลวงแต่อย่างใด  และในการหลอกลวงนั้นก็ไม่ได้ทำให้นางราตรีผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ทำ  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิแต่อย่างใด  เป็นแต่เพียงนายอาทิตย์มีเจตนาจะไม่จ่ายค่านายหน้าเท่านั้น  ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป  ดังนั้น  การกระทำของนายอาทิตย์จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341

สรุป  นายอาทิตย์ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาตามที่นางราตรีได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแต่อย่างใด  ด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Advertisement