การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  สมศรีเป็นนายทุนออกเงินให้กู้  สมศรีไปทวงเงินกู้จากสมชาย  แต่ถูกสมชายกับพวกจับตัวมัดไว้แล้วใช้ท่อนไม้ฟาดศีรษะเพื่อฆ่าล้างหนี้  สมศรีแกล้งทำเป็นตาย  สมชายกับพวกเข้าใจว่าตายแล้วจึงช่วยกันยกร่างสมศรีใส่รถแล้วพาไปโยนทิ้งบ่อน้ำ  สมศรีถูกมัดอยู่และว่ายน้ำไม่เป็นจึงจมน้ำตาย  ดังนี้  สมชายจะมีความผิดต่อชีวิตและร่างกายฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

การที่สมชายกับพวกจับสมศรีมัดไว้แล้วใช้ท่อนไม่ฟาดศีรษะเพื่อฆ่าล้างหนี้  ถือว่าสมชายมีเจตนาฆ่า  แม้สมศรีจะไม่ตายเพราะถูกตีศีรษะ  แต่ตายเพราะจมน้ำเนื่องจากว่ายน้ำไม่เป็น  ก็ถือได้ว่าความตายเป็นผลโดยตรงจากการที่สมชายกระทำโดยมีเจตนาฆ่า  ดังนั้นสมชายมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา  288

สรุป  สมชายมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา  288

 

ข้อ  2  วันเกิดเหตุเวลาประมาณ  07.00  น.  ขณะที่นายเล็กจอดรถสามล้อเครื่องที่หน้าตลาดเพื่อส่งผู้โดยสาร  นายใหญ่ซึ่งวิ่งราวทรัพย์ของเจ้าทรัพย์และวิ่งหลบหนีมาได้กระโดดขึ้นบนรถแล้วใช้อาวุธมีดขู่บังคับให้นายเล็กขับรถออกจากที่จอดและให้ขับด้วยความเร็ว  นายเล็กกลัวจะถูกทำร้ายจึงพยายามจะขับรถไปตามที่ถูกบังคับ  แต่ด้วยบริเวณที่เกิดเหตุสภาพการจราจรหนาแน่นทำให้นายเล็กขับรถออกจากที่เดิมยังไม่ได้  เจ้าทรัพย์และคนอื่นซึ่งวิ่งตามนายใหญ่ก็ตามมาทัน  และจับตัวนายใหญ่บนรถสามล้อเครื่องนั่นเอง  ดังนี้จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายใหญ่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใด

2       โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง  หรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย

3       จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้น  หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

4       โดยเจตนา

การที่นายใหญ่ใช้มีดขู่บังคับให้นายเล็กขับรถไปด้วยความเร็ว  เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  โดยมีอาการกิริยาเป็นการข่มขืนใจให้นายเล็กกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต  แต่นายเล็กก็มิได้ขับรถให้เร็วขึ้นกว่าที่ขับส่งผู้โดยสารตามปกติ  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเช่นนี้จึงต้องถือว่าการกระทำของนายใหญ่ไม่บรรลุผลเพราะสภาพของการจราจรในขณะนั้นไม่อำนวยให้นายเล็กขับรถเร็วขึ้นกว่าปกติตามที่นายใหญ่ข่มขืนใจให้นายเล็กกระทำ  นายใหญ่จึงมีความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80 

สรุป  นายใหญ่มีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  3  แดงนำรถยนต์ของแดงไปซ่อมเครื่องยนต์ที่อู่ซ่อมรถยนต์ของขาว  แดงนำรถยนต์ไปมอบให้ขาวซ่อมซึ่งตกลงขาวจะซ่อมให้เสร็จภายใน  1  สัปดาห์  ข้อเท็จจริงปรากฏว่าแดงลืมนำเงินที่อยู่ในรถยนต์จำนวน  10,000  บาท  ที่แดงเก็บไว้ในลิ้นชักด้านหน้าของรถยนต์คันนี้กลับมาบ้านด้วย  ขาวทำการซ่อมรถยนต์อยู่ประมาณ  2  วัน  ขาวเปิดดูลิ้นชักหน้ารถยนต์ของแดงพบเงิน  10,000  บาท  ขาวจึงดึงเงินออกมาเพียง  1,000  บาท  และเก็บเอาไว้ใช้เสียเอง  ในวันนั้นเองแดงกลับมาเอาเงินในรถยนต์ของตนคืน  แต่มีเงินเพียง  9,000  บาท เท่านั้น  แดงจึงถามขาวว่ามีคนเข้ามาเปิดเอาของในรถยนต์ไปหรือไม่  ขาวปฏิเสธว่าไม่มี  ดังนี้ท่านจงวินิจฉัยว่าขาวมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

เอาไป  หมายความว่า  เอาไปจากการครอบครองของผู้อื่นจะด้วยวิธีการใดก็ได้  แต่ต้องเป็นการทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากเดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้  ทั้งนี้เพื่อแย่งการครอบครองหรือตัดสิทธิของเจ้าของทรัพย์  มิใช่เป็นการเอาไปชั่วคราว

แดงส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้ขาวซ่อม  แต่เงินในรถยนต์นั้นแดงลืมไว้เช่นนี้ถือว่าการครอบครองเงินยังอยู่ที่แดง  การที่ขาวเอาเงินไป  1,000  บาท  จึงเป็นการแย่งการครอบครองเงินจากแดงซึ่งเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น  ทั้งปฏิเสธตามที่แดงถาม  และเก็บเงินไว้ใช้เองนั้น  เป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา 334

สรุป  ขาวจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  เอกว่าจ้างโทขับรถบรรทุกให้คนของย้ายบ้านไปอาศัยอยู่กับญาติเนื่องจากตกงาน  โดยตกลงค่าว่าจ้างกัน  2,000  บาท  แต่เอกมีเงินอยู่เพียง  1,000  บาท  จึงหลอกโทว่าจ่ายค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน  1,000  บาทก่อน  ขนของเสร็จจะจ่ายให้อีก  1,000  บาท  แต่ปรากฏว่าเมื่อขนย้ายเสร็จเอกกลับบอกกับโทว่าเงินหมดแล้วมีแค่ที่จ่ายให้แล้วเท่านั้น  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าเอกจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  341  ผู้ใดโดยทุจริต  หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง  และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ  ถอน  หรือทำลาย  เอกสารสิทธิ  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  ประกอบด้วย

1       หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก)  แสดงข้อความเป็นเท็จ  หรือ

(ข)  ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2       โดยการหลอกลวงนั้น

(ก)  ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม

(ข)  ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

เอกว่าจ้างโทให้ขนของย้ายบ้าน  โดยหลอกโทว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน  1,000  [ท  ขนของเสร็จแล้วจะจ่ายให้อีก  1,000  บาท  โทหลงเชื่อได้รับจ้างขนส่งให้  เมื่อขนย้ายเสร็จเอกปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้โท  จึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  โดยเจตนาทุจริต  แต่อย่างไรก็ดี  เอกได้รับเพียงการขนส่งจากโท  เอกไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  โดยเจตนาทุจริต  แต่อย่างไรก็ดี  เอกได้รับเพียงการขนส่งจากโท  เอกไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโทผู้ถูกหลอกลวง  ส่วนเงินค่าจ้างขนส่ง  1,000  บาทที่เอกไม่ได้ชำระให้โท  เป็นทรัพย์ที่โทจะเรียกร้องเอาจากเอกภายหลังเมื่อขนส่งให้เอกถึงที่ที่ตกลงกันแล้ว  กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง  เมื่อจ่ายค่าขนส่งไม่ครบก็ต้องไปฟ้องเรียกร้องทางแพ่งต่อไป  ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341

สรุป  เอกไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341

Advertisement