การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001  กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ขณะที่นายเมฆขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อออกกำลังกายบนถนนในสวนสาธารณะ  ถูกสุนัขตัวโตท่าทางดุร้ายวิ่งไล่กวดจะกัดนายเมฆจนต้องความเร็วรถหนี  ทำให้รถเสียหลักพุ่งชนนางมืดที่เดินข้ามถนนล้มลงศีรษะกระแทกพื้นจนตาบอด  ดังนี้  นายเมฆจะมีความผิดต่อร่างกายฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  297  อันตรายสาหัสนั้น  คือ

(1) ตาบอด  หูหนวก  ลิ้นขาด  หรือเสียฆานประสาท

มาตรา  300  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  300  ประกอบด้วย

1       กระทำด้วยประการใดๆ

2       การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

3       โดยประมาท

นายเมฆขับขี่รถจักรยานในถนนสาธารณะ  ถูกสุนัขตัวโตท่าทางดุร้ายวิ่งไล่กวดจะกัดนายเมฆจนต้องเร่งความเร็วหนี  ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่นายเมฆไม่อาจใช้ความระมัดระวังในการขับขี่รถจักรยานเหมือนวิสัยของคนทั่วๆไปได้  เพราะนายเมฆถูกสุนัขวิ่งไล่จะกัด  ดังนั้นเมื่อรถจักรยานของนายเมฆพุ่งชนนางมืดที่เดินข้ามถนน  เป็นผลให้นางมืดตาบอด  นายเมฆก็ไม่ต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  300  แต่อย่างใด

สรุป  นายเมฆไม่มีความผิดต่อร่างกาย

 

ข้อ  2  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งนายพุธซึ่งเป็นโจทก์ได้แต่งตั้งให้นายอาทิตย์เป็นทนายความ  คดีนั้นศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายพุธแพ้คดี  นายพุธไม่พอใจในการทำหน้าที่ทนายความของนายอาทิตย์  วันเกิดเหตุ  ขณะที่นายอาทิตย์กำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่กับเพื่อนอีกหลายคน  นายพุธได้เดินเข้าไปหานายอาทิตย์และชี้หน้านายอาทิตย์พร้อมกับพูดด้วยเสียงอันดังว่า  ทนายกระจอก  เฮงซวย  ว่าความตอนแรกดีแต่ตอนท้ายกลายเป็นนกสองหัว  เหยียบเรือสองแคม  แล้วก็เดินจากไป  ต่อมานายอาทิตย์ได้ฟ้องนายพุธว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายพุธเป็นความผิดตามฟ้อองหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  326  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม  โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามมาตรา  326  ประกอบด้วย

1       ใส่ความผู้อื่น

2       ต่อบุคคลที่สาม

3       โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง

4       โดยเจตนา

คำว่า  ใส่ความ  ตามนัยมาตรา  326  หมายความว่า  พูดหาเหตุร้าย  หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย  โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง  ซึ่งกระทำต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง  ดังนั้นข้อความที่เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเหยียดหยามให้อับอาย  ยังไม่ถือว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้ายอันเป็นการใส่ความ

การที่นายพุธได้เดินเข้าไปหานายอาทิตย์และชี้หน้านายอาทิตย์พร้อมกับพูดด้วยเสียงอันดังว่า  ทนายกระจอก  เฮงซวย  ซึ่งตามพฤติการณ์เป็นการกล่าวต่อหน้านายอาทิตย์และเพื่อนของนายอาทิตย์อีกหลายคน  แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ  ยังไม่ถือว่าเป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง  ไม่เป็นการหมิ่นประมาท  ตามนัยมาตรา  326

แต่อย่างไรก็ดีคำกล่าวที่ว่า  ว่าความตอนแรกดีแต่ตอนท้ายกลายเป็นนกสองหัว  เหยียบเรือสองแคม  ถึงแม้นายพุธจะพูดต่อหน้านายอาทิตย์โดยตรง  แต่ก็พูดด้วยเสียงอันดัง  ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าเพื่อนของนายอาทิตย์จะทราบข้อความนั้นได้  จึงเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามแล้ว  และข้อความนั้นก็น่าจะทำให้นายอาทิตย์เสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่น  ถูกเกลียดชังได้  จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา  326

สรุป  นายพุธมีความผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามมาตรา  326

 

ข้อ  3  แดงและขาวเป็นเพื่อนกันวันหนึ่งขาวได้ซื้อนาฬิกาข้อมือใหม่มาเรือนหนึ่ง  แดงเห็นนาฬิกาใหม่ของขาวแดงอยากได้นาฬิกาเรือนนี้มาเป็นของตน  จึงมีเหตุการณ์เกิดขึ้นว่าขณะที่ขาวนอนหลับสนิทอยู่นั้นแดงได้ค่อยๆถอดนาฬิกาที่ข้อมือของขาวโดยที่ไม่ต้องการให้ขาวรู้สึกตัวเลย  เมื่อแดงดึงนาฬิกาพ้นจากมือของขาวมาอยู่ในมือของแดงแล้วด้วยความตื่นเต้นและกลังว่าขาวจะตื่นขึ้นมา  แดงได้ทำนาฬิกาตกตรงพื้นบริเวณที่ขาวกำลังหลับอยู่  ขาวรู้สึกตัวเพราะได้ยินของตกลงพื้นขาวจึงหยิบนาฬิกาเรือนนั้นมาใส่ตามเดิม  ดังนี้การกระทำของแดงมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

คำว่า  เอาไป  หมายความว่า  เอาไปจากการครอบครองของผู้อื่นจะด้วยวิธีการใดก็ได้  แต่ต้องเป็นการทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากเดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้  ทั้งนี้เพื่อแย่งการครอบครองหรือตัดสิทธิของเจ้าของทรัพย์  มิใช่เป็นการเอาไปชั่วคราว

ดังนั้น  ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดสำเร็จทันทีที่ทรัพย์เคลื่อนที่ไป

แดงมีเจตนาทุจริตอยากได้นาฬิกาข้อมือของขาวมาเป็นของตน  จึงได้ถอดนาฬิกาเรือนนั้นออกจากข้อมือของขาวโดยไม่ได้ต้องการให้ขาวรู้สึกตัว  เมื่อแดงดึงนาฬิกาพ้นจากมือของขาว  ถือว่าแดงได้มีการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว  เพราะทรัพย์ได้เคลื่อนที่จากอำนาจการครอบครองของขาว  ไปสู่อำนาจการครอบครองของแดงแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา  334  แล้ว  และเมื่อเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ต่อมาแดงจะทำนาฬิกาตกพื้น  และขาวได้หยิบนาฬิกาเรือนนั้นมาใส่ตามเดิม  ก็ไม่มีผลทำให้ความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จกลายมาเป็น

ความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ได้  แดงจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334

อนึ่ง  การที่แดงเจตนาลักทรัพย์ในขณะที่ขาวหลับสนิทอยู่  ขาวมิได้เห็นหรือรู้สึกถึงการลักทรัพย์ไม่ถือเป็นการลักทรัพย์ที่ฉกฉวยเอาซึ่งหน้าแต่อย่างใด  เพราะการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  หมายถึง  กิริยาอาการที่หยิบหรือจับเอาทรัพย์ไปโดยเร็ว  ซึ่งทรัพย์ที่ฉกฉวยอยู่กับหรือใกล้ชิดกับตัวผู้ครอบครองหรือผู้ครอบครองแทน  และขณะที่ถูกฉกฉวยผู้นั้นรู้สึกตัวหรือเห็นการฉกฉวยเอาทรัพย์นั้นไปด้วย    ดังนั้นถ้ามีการฉกฉวยเอาทรัพย์ไปโดยเร็วในขณะที่เจ้าทรัพย์กำลังนอนหลับอยู่  หรือผู้ครอบครองกำลังหลับอยู่จึงไม่น่าจะเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  แดงจึงไม่มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

สรุป  แดงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  สมศรีไปซื้อของในร้านนายเหมือนในราคา  56  บาท  โดยส่งธนบัตรใบละ  1,000  บาทให้นายเหมือนรับเงินมาแล้วรีบซุกธนบัตรใบละ  1,000  บาท  นั้นไว้ใต้ลิ้นชักเก็บเงิน  แล้วทอนเงินให้สมศรีเพียง  44  บาท  สมศรีทวงเงินทอนที่ขาดอีก  900  แต่นายเหมือนไม่ยอมให้  อ้างว่าสมศรีชำระเงินค่าของเพียง  100  บาท  พร้อมทั้งหยิบธนบัตรใบละ  100  บาท  ในลิ้นชักเก็บเงินส่งให้ดู  สมศรีจึงไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาญากับนายเหมือน  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่านายเหมือนจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

สมศรีส่งธนบัตรใบละ  1,000  บาท  เพื่อชำระค่าสินค้าเป็นเงิน  56  บาท  แก่นายเหมือน  ถือได้ว่าสมศรีได้มอบการครอบครองธนบัตรใบละ  1,000  บาท  ดังกล่าวแก่นายเหมือนแล้ว  เพราะผู้ที่ชำระหนี้ต้องการเงินทอนในจำนวนที่ขาดอยู่เท่านั้น  เงินที่ส่งมอบให้นั้นเท่ากับเป็นการโอนการครอบครองรวมทั้งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในเงินนั้นไปเลย  นายเหมือนจึงเป็นเจ้าของธนบัตรใบละ  1,000  บาทดังกล่าว  ดังนั้นการที่นายเหมือนรีบซุกธนบัตรใบละ  1,000  บาทดังกล่าวไว้ในลิ้นชัก  และทอนให้สมศรีเพียง  44  บาท  อ้างว่าสมศรีชำระเงินค่าสินค้าเพียง  100  บาท  พร้อมทั้งหยิบธนบัตรใบละ  100  บาท  ในลิ้นชักมาให้ดูด้วยนั้น  แม้จะเป็นเจตนาทุจริตของนายเหมือนที่จะไม่ทอนเงินแก่สมศรีให้ครบตามความจริง  โดยเจตนาที่จะเอาเงินที่เหลือจำนวน  900  บาทเป็นของตนอันเป็นการแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่เจตนาทุจริตดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ธนบัตรใบละ  1,000  บาทอยู่ในความครอบครองของนายเหมือนหรือนายเหมือนเป็นเจ้าของแล้ว  จึงไม่มีการแย่งการครอบครองจากสมศรี  ไม่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต  ไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334  ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  ลักทรัพย์ของตนเองนั้นหาอาจมีได้ไม่

นอกจากนี้นายเหมือนยังไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  ด้วย  เพราะการจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น  จะต้องเป็นการมอบการครอบครองทรัพย์ให้ผ๔กระทำผิด  และผู้กระทำผิดนั้นเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต  แต่กรณีตามอุทาหรณ์เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในธนบัตรใบละ  1,000  บาท  ให้นายเหมือนไปเลย  มิใช่เพียงแต่มอบการครอบครองเท่านั้น  นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าเงินทอนอีก  944  บาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเหมือน  ดังนั้นการที่นายเหมือนไม่ทอนเงินตามจำนวนที่แท้จริง  จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์  เพราะกรรมสิทธิ์ในธนบัตรได้โอนไปยังนายเหมือนแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ดีนายเหมือนก็ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย  เพราะไม่ได้มีการแสดงเจตนาข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยมีเจตนาหลอกลวงตั้งแต่แรก  กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

สรุป  นายเหมือนไม่มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

Advertisement