การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  หนึ่งขับรถพาสองซึ่งเป็นเพื่อนกันไปร่วมงานเลี้ยงฉลองปีใหม่  ระหว่างทางรถที่หนึ่งขับขี่มาเกิดไปเฉี่ยวชนกับรถของยอด  แต่ตกลงค่าเสียหายกันไม่ได้เกิดปากเสียงกันอย่างรุนแรง  จนกระทั่งหนึ่งชักปืนออกยิงใส่ยอด  1  นัด  แต่กระสุนพลาดเป้าหมาย  สองซึ่งเห็นเหตุการณ์จึงหยิบมีดในรถวิ่งลงไปจ้วงแทงยอดจนถึงแก่ความตาย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  หนึ่งจะมีความผิดต่อชีวิตฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

ลักษณะของการเป็นตัวการร่วมกันกระทำผิด  ต้องมีการกระทำร่วมกันและต้องมีเจตนาร่วมกันด้วย  ส่วนการมีเจตนาร่วมกันนั้น  โดยหลักจะต้องมีการตกลงหรือคบคิดกันว่าจะร่วมกันกระทำผิดแต่ในบางเหตุการณ์การร่วมกันกระทำความผิดไม่จำเป็นต้องมีเจตนาร่วมกันมาก่อนเกิดเหตุเสมอไป  อาจเกิดขึ้นในขณะที่เกิดเหตุนั้นเองก็ได้  ทั้งนี้แล้วแต่ข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้น

หนึ่งชักปืนยิงใส่ยอด  1  นัด  แต่กระสุนพลาดเป้าหมาย  สองซึ่งเห็นเหตุการณ์จึงหยิบมีดในรถวิ่งลงไปจ้วงแทงยอดจนถึงแก่ความตาย ดังนี้จะเห็นว่าหนึ่งและสองมิได้คบคิดกันว่าจะร่วมกันกระทำผิดหรือตกลงกันเพื่อประทุษร้ายผู้ตายมาก่อน  สองเห็นยอดถูกกระสุนปืนนัดแรก  แต่กระสุนพลาดไม่ถึงแก่ความตาย  สองก็ใช้มีดในรถวิ่งลงไปแทงจนถึงแก่ความตาย  ดังนี้เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าสองมีความประสงค์ที่จะช่วยหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนทำร้ายผู้ตายให้ถึงแก่ความตาย  จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดในฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  83

สรุป  หนึ่งมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเป็นผลสำเร็จตามมาตรา  288  โดยต้องร่วมรับผิดกับสองในฐานะเป็นตัวการร่วม  ตามมาตรา  83   

 

ข้อ  2  นายอาทิตย์เป็นนายกเทศมนตรีซึ่งครอบครัวทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง  นายอาทิตย์ได้สั่งจ่ายเช็คในการทำธุรกิจของครอบครัว  ปรากฏว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย  เพราะนายอาทิตย์ลืมนำเงินเข้าบัญชีธนาคารจึงปฏิเสธการจ่ายเงิน  ผู้ทรงเช็คได้นำเช็คไปแจ้งความดำนินคดีกับนายอาทิตย์  นายพุธซึ่งเคยลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับนาย

อาทิตย์ได้พูดกับบุคคลหลายคนว่าจะต้องเตรียมเลือกตั้งนายกเทศมนตรีใหม่  เพราะนายอาทิตย์จ่ายเช็คไม่มีเงินและกำลังจะถูกจับดำเนินคดี  ต่อมานายอาทิตย์จึงฟ้องนายพุธว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  ในชั้นศาลนายพุธให้การรับสารภาพว่าได้พูดข้อความดังกล่าวจริง  แต่ก็ขอพิสูจน์ความจริง  ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  326  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม  โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  ต้องระวางโทษ…

มาตรา  330  ในกรณีหมิ่นประมาท  ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด  พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์  ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น  เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว  และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามมาตรา  326  ประกอบด้วย

1       ใส่ความผู้อื่น

2       ต่อบุคคลที่สาม

3       โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง

4       โดยเจตนา

นายพุธได้ใส่ความนายอาทิตย์ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีต่อบุคคลที่สามว่าต้องเตรียมเลือกตั้งนายกเทศมนตรีใหม่  เพราะนายอาทิตย์จ่ายเช็คไม่มีเงินและกำลังจะถูกจับดำเนินคดี  เป็นกรณีที่น่าจะทำให้นายอาทิตย์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง  นายพุธมีความผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามมาตรา  326  และข้อความที่นายพุธพูด  ถึงแม้จะเป็นความจริง  แต่ก็ห้ามมิให้พิสูจน์ความจริงตามมาตรา  330  วรรคสอง  เพราะการสั่งจ่ายเช็คของนายอาทิตย์เป็นเรื่องธุรกิจในครอบครัว  จึงเป็นเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเพราะนายอาทิตย์ไม่ได้กระทำในตำแหน่งนายกเทศมนตรี

สรุป  นายพุธจึงขอพิสูจน์ความจริงไม่ได้  และการกระทำของนายพุธเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามมาตรา  326

 

ข้อ  3  แดงมีเรื่องทะเลาะกับขาวโดยแดงกล่าวหาขาวว่าขาวแย่งเขียวซึ่งเป็นคนรักของแดงไป  ด้วยความโกรธขาวมาก  แดงได้วางแผนเพื่อฆ่าขาว  วันหนึ่งขณะขาวกลับจากที่ทำงานก่อนที่ขาวจะเข้าไปในบ้านแดงได้ใช้ปืนยิงขาวจนถึงแก่ความตาย  แดงได้เข้าไปดูศพขาวเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าขาวตายจริง  แดงพบว่าขาวสวมสร้อยคอทองคำหนักสิบบาท  แดงจึงเอาสร้อยที่คอของขาวไปโดยคิดว่าจะนำไปให้เขียว  เพราะแดงไม่ต้องการเอาสร้อยคอของขาวไปใช้เองอยู่แล้ว  ดังนี้  แดงมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

การที่แดงใช้ปืนยิงขาวจนถึงแก่ความตาย  และพบว่าขาวมีสร้อยคอทองคำหนัก  10  บาทสวมอยู่ที่คอ  แดงจึงเอาสร้อยคอนั้นไป  ดังนี้เมื่อแดงถึงแก่ความตายแล้ว  มรดกของแดงทุกชนิดรวมทั้งสร้อยคอทองคำดังกล่าวจึงตกเป็นของทายาทของแดง  ตามกฎหมายมรดก  ถือว่าทายาทเป็นผู้ครอบครองเมื่อขาวตายแล้ว  แดงจึงเกิดเจตนาทุจริตขึ้นในภายหลังเอาทรัพย์ที่ศพไปเป็นประโยชน์ของผู้อื่นเสียเป็นการแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น  เป็นการเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองของทายาท  แดงจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

สรุป  แดงมีความผิดฐานลักทรัพย์

หมายเหตุ  กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  แดงมีความผิดฐานลักทรัพย์กระทงหนึ่ง  และฆ่าผู้อื่นอีกกระทงหนึ่ง  แต่ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์  เพราะในชั้นแรกการฆ่ามิได้ประสงค์เพื่อเอาทรัพย์ของผู้ตาย

 

ข้อ  4  อ้วนทำงานเป็นผู้จัดการธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง  ได้นำรถยนต์เก่าของตนที่มีสภาพเบรก  และเครื่องยนต์ไม่ค่อยดี (ราคาประมาณ  100,000  บาท)  ไปทำสีรถยนต์ใหม่  จากนั้นอ้วนจึงไปทำสัญญากู้ผอมจำนวน  300,000  บาท  โดยเอารถยนต์ดังกล่าวไปจำนำตามสัญญากู้เงินไว้ด้วย  โดยอ้วนปกปิดไม่ยอมแจ้งให้ผอมทราบว่าตนไปทำสีรถยนต์ใหม่  ผอมดูจากสภาพภายนอกเห็นว่ารถยนต์สภาพดี  และเห็นว่าอ้วนทำงานเป็นหลักแหล่งก็เลยให้อ้วนกู้ยืมเงินไป  300,000  บาท  เมื่ออ้วนได้รับเงินจากผอมแล้ว  ก็นำเงินไปเล่นการพนันจนหมดภายในวันเดียวและไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่ผอมเลย  ในที่สุดผอมไปบังคับชำระหนี้กับรถยนต์ดังกล่าว  ปรากฏว่ารถยนต์ดังกล่าวขายได้เพียง  150,000  บาท  ดังนี้  ผอมจะฟ้องร้องอ้วนเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  ประกอบด้วย

1       หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก)  แสดงข้อความเป็นเท็จ  หรือ

(ข)  ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2       โดยการหลอกลวงนั้น

(ก)  ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม

(ข)  ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

อ้วนนำรถยนต์คันเก่าของตนไปทำสีรถยนต์ใหม่เพื่อนำไปประกันการชำระหนี้เงินกู้จากผอม  ซึ่งการที่ผอมจะให้อ้วนกู้ยืมเงินหรือไม่  ขึ้นอยู่กับว่าผอมเชื่อในหลักทรัพย์และความสามารถในการชำระหนี้ของอ้วน  และการที่อ้วนปกปิดไม่ยอมแจ้งให้ผอมทราบว่านไปทำสีรถยนต์ใหม่นั้น  อ้วนไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผอมทราบ  ไม่ถือว่าเป็นการหลอกลวงโดยปกปิดความจริง  ซึ่งควรบอกให้แจ้ง  ให้ผอมทำสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิหรือได้ไปซึ่งทรัพย์สิน  (เงิน  300,000  บาท)  แต่ประการใด  เมื่ออ้วนไม่ยอมชำระหนี้  จึงเป็นกรณีความผิดทางแพ่ง  ไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341

สรุป  การกระทำของอ้วนไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341

Advertisement