การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ1 นิติกรรมใดที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพังโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จงอธิบาย
ธงคำตอบ

นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพัง โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น มี 3 ประเภท ได้แก่

1.         นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้น จากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”
นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียวนั้น แยกออกเป็น 2 กรณี คือ

1)         นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เสียสิทธิ หรือรับเอาหน้าที่อย่างใด ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น การที่ผู้เยาว์ตกลงรับเอาทรัพย์สินที่บุคคลอื่นยกให้โดยเสน่หา โดย ไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันใด ๆ เป็นต้น

2)         นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง เช่น ผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรม รับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้ ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ เป็นต้น
2.         นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 23 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์ อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว”

ค่าว่า “นิติกรรมซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว” ที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังตนเองนั้น หมายถึงนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำด้วยตนเอง จะให้บุคคลอื่นทำแทนไม่ได้นั่นเอง เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ หรือการทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้เยาว์มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น

3.         นิติกรรมที่เป็นการอันจำเป็นในการคำรงชีพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 24 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร”

ซึ่งนิติกรรมที่ได้รับการยกเว้นว่าผู้เยาว์สามารถกระทำได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องได้รับ ความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ตามมาตรา 24 นี้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ

1)         ต้องเป็นนิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพจริง ๆ อันขาดเสียไม่ได้ และ

2)         ต้องเป็นนิติกรรมที่สมแก่ฐานานุรูป และฐานะการเงินของผู้เยาว์ด้วย

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2551 นาย ก. ได้ตกลงขายรถยนต์ของตนคันหนึ่งเลขทะเบียน กท 5855 ให้แก่นาย ข. ในราคา 3 แสนบาท ข้อเท็จจริงปรากฏว่า รถยนต์คันดังกล่าวได้ประสบอุบัติเหตุ ไฟไหม้เสียหายไปหมดทั้งคันตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 โดยที่นาย ก. และนาย ข. มิได้รู้แต่ ประการใด

ดังนี้ สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. มีผลตามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า

“นิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ”

คำว่า “พ้นวิสัย” หมายถึง การใด ๆ ที่ไม่สามารถกระทำได้โดยแน่แท้ และให้หมายความรวมถึง การทำนิติกรรมที่มุ่งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สิ่ง ๆ นั้นไม่มีตัวตนอยู่ในขณะทำนิติกรรม

ตามปัญหา การที่นาย ก. ได้ตกลงขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน กท 5855 ของตนให้แก่นาย ข. ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2551 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า รถยนต์คันดังกล่าวได้ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้เสียหาย ไปหมดทั้งคันตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 จึงถือว่าสิ่งที่นาย ก. และนาย ข. ได้มุ่งถึงโดยเฉพาะจากการทำ นิติกรรมคือรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้นไม่มีตัวตนอยู่ในขณะทำนิติกรรม ดังนั้นนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ ดังกล่าวถือว่าเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย นิติกรรมจึงมีผลเป็นโมฆะ

สรุป นิติกรรมในรูปสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนาย ก. และนาย ข. มีผลเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย

 

ข้อ 3. จงอธิบายถึงหลักเกณฑ์ที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น

ธงคำตอบ

โดยปกติถ้าทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันนั้นมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบ เพื่อความชำรุดบกพร่องนั้น แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายได้บัญญัติหลักเกณฑ์เป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้ขายไม่ต้องรับผิด เพื่อความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้น ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ

1.         ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วในเวลาเอขายว่าทรัพย์สินนั้นมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น หรือ ควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้อย่างวิญญูชน

2.         ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นได้เห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ แต่ผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ โดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด

3.         ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้ซื้อได้ซื้อมาจากการขายทอดตลาด

4.         ถ้าคู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายว่า ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องนั้น แต่ข้อตกลงนี้จะไม่คุ้มครองผู้ขาย ถ้าผู้ขายได้ปกปิดความจริงถึงการชำรุดบกพร่องอัน ผู้ขายได้รู้อยู่แล้ว หรือถ้าการชำรุดบกพร่องนั้นได้เกิดจากการกระทำของผู้ขายเอง

5.         ถ้าการชำรุดบกพร่องนั้นได้เกิดขึ้น “ภายหลัง” จากที่ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินแล้ว

 

ข้อ 4. นายคาวีสั่งจ่ายเช็คจำนวน 100,000 บาท ระบุชื่อนางสาวนารีเป็นผู้รับเงิน พร้อมทั้งขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก และส่งมอบให้นางสาวนารีเพี่อชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่มีต่อกัน หากต่อมา นางสาวนารีต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ค่าเช่าบ้านให้แก่นายวิชัย นางสาวนารีจะต้อง กระทำการโอนอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการโอนเช็คฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักในเรื่องนี้ไว้ว่า

1. ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917)

2.         การสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้น อาจจะเป็นการสลักหลังระบุชื่อ หรือจะเป็นการสลักหลัง ลอยก็ได้ (มาตรา 919)

3.         หลักกฎหมายในข้อ 1) และ 2) ให้นำมาใช้กับการโอนเช็คด้วย (มาตรา 989)

จากข้อเท็จจริงนั้น เช็คที่นายคาวีสั่งจ่ายระบุชื่อนางสาวนารี เป็นผู้รับเงิน พร้อมทั้งขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก ถือเป็นเช็คแบบระบุชื่อผู้รับเงิน ดังนั้น หากต่อมานางสาวนารีต้องการจะโอนเช็คฉบับ ดังกล่าวชำระหนี้ค่าเช่าบ้านให้แก่นายวิชัย นางสาวนารีจะต้องกระทำการโอนโดยการสลักหลัง ซึ่งอาจจะเป็นการ สลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอย ให้แก่นายวิชัยก็ได้ แล้วส่งมอบเช็คนั้นให้แก่นายวิชัย จึงจะถือว่าเป็นการ โอนเช็คฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย

สรุป นางสาวนารีจะต้องกระทำการโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเช็คให้แก่นายวิชัย จึงจะ ถือว่าเป็นการโอนเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement