การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1 

(ก)    การรับรองนั้นต้องทำอย่างไร  จึงจะถูกต้องตามกฎหมาย

(ข)   บางเขนเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินที่มีบางบัวทองเป็นผู้จ่าย  บางขวางเป็นผู้สั่งจ่ายและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  บางเชนจะสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้หลักสี่  แต่หลักสี่ให้บางเขนนำตั๋วไปให้บางบัวทองรับรอง  บางเขนจึงเอาตั๋วไปให้บางบัวทองเขียนข้อความว่า  “รับรองแล้ว”  และลงลายมือชื่อของบางบัวทองไว้ด้านหลังของตั๋ว  หลักสี่จึงยอมรับชำระหนี้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบตั๋วจากบางเขน  เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงินหลักสี่ได้นำตั๋วไปให้บางบัวทองใช้เงิน  แต่บางบัวทองปฏิเสธการใช้เงิน  อนึ่งหลักสี่ได้ทำคำคัดค้านไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในฐานะผู้รับรองตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  931  การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า  “รับรองแล้ว”  หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น  และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย  อนึ่งแต่เพียงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน  ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว

อธิบาย   ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  931  ได้กำหนดวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินไว้ว่า  ผู้จ่ายอาจจะทำการรับรองตั๋วแลกเงินได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง  ดังนี้  คือ

1       ผู้จ่ายเขียนคำว่า  “รับรองแล้ว”  หรือข้อความอื่นซึ่งมีความหมายเดียวกันเช่นคำว่า  “รับรองจะใช้เงิน”  หรือ  “ยินยอมจะใช้เงิน”  เป็นต้น  พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของผู้จ่ายไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงินนั้น  หรือ

2       ผู้จ่ายเพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงิน  โดยไม่ต้องเขียนข้อความอย่างใดไว้ก็ได้

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  931  การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า  “รับรองแล้ว”  หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น  และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย  อนึ่งแต่เพียงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน  ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว

มาตรา  937  ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้วย่อมต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

วินิจฉัย

ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  931  และมาตรา  937  จะเห็นได้ว่า  ผู้จ่ายจะต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นในฐานะผู้รับรองก็ต่อเมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินนั้นแล้ว  โดยการลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น  โดยจะเขียนข้อความว่า  “รับรองแล้ว”  หรือข้อความอื่นที่มีความหมายทำนองเดียวกันนั้นไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้

แต่ถ้าผู้จ่ายได้ทำการลงลายมือชื่อรับรองตั๋วแลกเงิน  แต่ได้กระทำไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงิน  ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด  ดังนั้นการกระทำของผู้จ่ายไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือถือว่าคำรับรองนั้นไม่มีผลนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่บางเขนเอาตั๋วแลกเงินไปให้บางบัวทองรับรอง  และบางบัวทองได้เขียนข้อความว่า  “รับรองแล้ว”  และลงลายมือชื่อของบางบัวทองไว้ที่ด้านหลังของตั๋วนั้น  ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด  ดังนั้นการกระทำของบางบัวทองจึงไม่ถือว่าเป็นการรับรอง  และเมื่อบางบัวทองปฏิเสธการใช้เงิน  หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องให้บางบัวทองรับผิดในฐานะผู้รับรองตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวไม่ได้

สรุป  หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องให้บางบัวทองรับผิดในฐานะผู้รับรองตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ  2 (ก)    การโอนตั๋วแลกเงินนั้นจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นการโอนสิทธิตามตั๋วแลกเงินไปยังผู้รับโอน

(ข)   สายใจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้สายฝนจ่ายเงิน  จำนวน  500,000  บาท  ระบุชื่อสายป่านเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  และส่งมอบให้สายป่านเพื่อเป็นการชำระค่าราคาสินค้า  ต่อมาสายป่านสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงิน  โดยระบุชื่อสายสมรเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น  ต่อมาสายสมรได้ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สายฟ้า  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าการโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด  อนึ่ง  กรณีเมื่อตั๋วแลกเงินนั้นถึงกำหนดวันใช้เงิน  สายฟ้าได้นำตั๋วแลกเงินนั้นไปให้สายฝนผู้จ่ายใช้เงินให้กับตน  แต่สายฝนไม่ยอมใช้เงิน  สายฟ้าได้ทำคำคัดค้านโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ดังนี้  ใครบ้างที่ต้องรับผิดและไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินนั้นต่อสายฟ้า  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   อธิบาย

ในการโอนตั๋วแลกเงินนั้น  กรณีที่จะถือว่าเป็นการโอนสิทธิตามตั๋วแลกเงินไปยังผู้รับโอน  ผู้โอนจะต้องโอนตั๋วแลกเงินให้ถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ดังนี้คือ

1       ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ

การโอนสามารถกระทำได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ  ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  917  วรรคแรก  ซึ่งบัญญัติว่า  “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม  ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ

หมายความว่า  ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ  (ผู้รับเงิน)  นั้น  ถ้าจะมีการโอนต่อไปให้แก่บุคคลอื่น  การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทำการสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่ผู้รับโอน  (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

การสลักหลังคือ  การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน)  ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วแลกเงิน  (หรือใบประจำต่อ)  โดยอาจจะเป็นการ  สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)  หรืออาจจะเป็นการสลักหลังลอยก็ได้

(1)    การสลักหลังเฉพาะ  (ระบุชื่อ)  หมายถึง  การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง  (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน)  ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย  โดยอาจจะกระทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วก็ได้ 

(2)    การสลักหลังลอย  หมายถึง  การสลักหลังที่ไม่ได้ระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง  (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้  เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วเงินเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา  919  วรรคสอง

2       ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ

การโอนตั๋วเงินชนิดนี้  ย่อมสามารถกระทำได้โดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียว  ไม่ต้องมีการสลักหลัง  ตาม ป.พ.พ. มาตรา  918  ซึ่งบัญญัติว่า  “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  917  วรรคแรก  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม  ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา  919  คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ  และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง

การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยหรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อ  ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน  การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า  สลักหลังลอย

มาตรา  967  วรรคแรก  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น  บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี  สลักหลังก็ดี  หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

ตามอุทาหรณ์  การโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

เมื่อตั๋วแลกเงินที่สายใจออกให้แก่สายป่านนั้น  มีการระบุชื่อของสายป่านผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  ย่อมถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ  ดังนั้นเมื่อสายป่านได้โอนตั๋วนั้นให้แก่สายสมร  โดยการสลักหลังและส่งมอบ  การโอนตั๋วดังกล่าวระหว่างสายป่านกับสายสมรจึงถูกต้องตามกฎหมาย  ตาม ป.พ.พ. มาตรา  917 วรรคแรก  และมาตรา  919

เมื่อการโอนตั๋วดังกล่าวระหว่างสายป่านกับสายสมรเป็นการโอนโดยการสลักหลังและระบุชื่อสายสมรผู้รับสลักหลังไว้  ดังนั้น  ถ้าสายสมรจะโอนตั๋วนั้นต่อไปให้แก่สายฟ้า  สายสมรจะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา  917  วรรคแรก  และมาตรา  919 เท่านั้น  เมื่อสายสมรโอนตั๋วนั้นให้แก่สายฟ้าโดยการส่งมอบเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการสลักหลัง  การโอนตั๋วระหว่างสายสมรกับสายฟ้า  จึงเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

และเมื่อการโอนตั๋วจากสายสมรไปยังสายฟ้า  เป็นการโอนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นแม้ว่าสายฟ้าจะได้ครอบครองตั๋วแลกเงินฉบับนั้นไว้  สายฟ้าก็ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตาม ป.พ.พ  มาตรา  904  และ 905  และเมื่อตั๋วนั้นถึงกำหนดใช้เงิน  สายฝนปฏิเสธการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินฉบับนั้น  ดังนี้สายฟ้าซึ่งไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องสายใจผู้สั่งจ่าย  และสายป่านผู้สลักหลังให้รับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้น  ตาม ป.พ.พ. มาตรา  900  914  และ  967  วรรคแรก

สรุป  การโอนตั๋วแลกเงินจากสายสมรไปยังสายฟ้าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  และเมื่อสายฟ้าไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงฟ้องสายใจผู้สั่งจ่ายและสายป่านผู้สลักหลังให้ต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นแก่ตนไม่ได

 

ข้อ  3

(ก)    บุคคลใดบ้างที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงิน  บัญญัติให้มีสิทธิขีดคร่อมเช็คและลงข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือลงไว้บนเช็คนั้น  และจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร  แก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับเช็คนั้น

(ข)   หนึ่งฤดีได้รับเช็คธนาคารเมืองทองไว้โดยสุจริตเป็นเช็คที่มีชื่อรื่นฤทัยเป็นผู้รับเงินหรือผู้ถือ  จากการส่งมอบของสมรวดีซึ่งอ้างว่าตนเองเป็นผู้รับซื้อลดเช็คนั้นจากรื่นฤทัย  ข้อเท็จจริงได้ความว่าสรณีย์เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คดังกล่าว  พร้อมกับขีดคร่อมทั่วไปไว้ข้างด้านหน้าเช็คแล้วมอบเช็คนั้นชำระหนี้รื่นฤทัย  รื่นฤทัยรับเช็คนั้นแล้วจึงได้กรอกข้อความว่า  “A/C  Payee  only”  ไว้ตรงกลางของรอยขีดคร่อมแล้วทำตกหายไปโดยไม่รู้ตัว  แต่หนึ่งฤดีไม่อาจได้รับเงินตามเช็คดังกล่าว  เนื่องจากธนาคารเมืองทองได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าใครคือเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนี้  และหนึ่งฤดีจะบังคับไล่เบี้ยสรณีย์  รื่นฤทัย  และสมรวดีให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าวได้เพียงใด  หรือไม่

ธงคำตอบ

(ก)     อธิบาย

บุคคลที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงิน  บัญญัติให้มีสิทธิขีดคร่อมเช็คและลงข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือลงไว้บนเช็คนั้น  ได้แก่  ผู้สั่งจ่ายเช็ค  และผู้ทรงเช็คนั่นเอง  และเมื่อมีการกระทำการดังกล่าวแล้ว  จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับเช็คนั้น  ดังนี้  คือ

1       กรณีผู้สั่งจ่ายเช็ค  ในกรณีที่เป็นเช็คไม่มีขีดคร่อม  ผู้สั่งจ่ายจะขีดคร่อมเช็คนั้นก็ได้  โดยอาจจะทำเป็นขีดคร่อมทั่วไป หรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้  (ป.พ.พ. มาตรา  955(1))  และผู้สั่งจ่ายอาจเขียนข้อความลงไว้ที่ด้านหน้าเช็คว่า  “ห้ามเปลี่ยนมือ”  หรือข้อความอื่นที่มีความหมายเดียวกัน  เช่น  “ห้ามโอน”  หรือ  “ห้ามสลักหลังต่อ”  หรือ  “จ่ายเข้าบัญชีผู้รับโอนเท่านั้น”  (A/C  Payee  Only)  ก็ได้  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 917  วรรคสอง  ประกอบกับมาตรา  989  วรรคแรก)

ผลตามกฎหมายที่มีต่อผู้ทรงเช็คในฐานะผู้รับเงิน  คือ

(1)    ผู้ทรงเช็คจะโอนเช็คนั้นต่อไปด้วยการสลักหลังและส่งมอบเช็คตามวิธีการโอนตั๋วเงินตามมาตรา  917  วรรคแรกอีกไม่ได้  เว้นแต่ผู้ทรงเช็คจะโอนเช็คนั้นต่อไปโดยรูปแบบวิธีการเช่นเดียวกับการโอนหนี้สามัญ  ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  306  วรรคแรก  กล่าวคือ  ต้องทำเป็นหนังสือโอนมูลหนี้ตามเช็คนั้น  ระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน  และมีหนังสือบอกกล่าวการโอนนั้นไปยังผู้สั่งจ่าย  หรือให้ผู้สั่งจ่ายยินยอมด้วยโดยทำเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง

(2)    ผู้ทรงเช็ค  จะนำเช็คนั้นไปยื่นให้ธนาคารจ่ายเป็นเงินสดไม่ได้  แต่ต้องนำเช็คขีดคร่อมนั้นไปเข้าบัญชีเงินฝากก่อน  โดยนัยตาม ป.พ.พ. มาตรา  994

ผลตามกฎหมายที่มีต่อธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อม  คือ  ธนาคารจะต้องจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็คเท่านั้น  จะจ่ายเป็นเงินสดไม่ได้  (ป.พ.พ. มาตรา 994)

2       กรณีผู้ทรงเช็ค  ผู้ทรงเช็คสามารถที่จะขีดคร่อมเช็ค  โดยถ้าเป็นเช็คที่ไม่มีขีดคร่อม  ผู้ทรงจะขีดคร่อมเช็คนั้น  เป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้  หรือถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ผู้ทรงจะทำให้เป็นขีดคร่อมเฉพาะก็ได้  (ป.พ.พ. มาตรา  995(1) และ (2))  และนอกจากนั้นผู้ทรงจะเติมคำว่า  “ห้ามเปลี่ยนมือ”  หรือคำอื่นที่มีความหมายทำนองเดียวกันลงไว้ก็ได้  (ป.พ.พ. มาตรา  995(3))

และเมื่อผู้ทรงเช็ค  ได้ขีดคร่อมเช็คและเขียนคำว่า  “ห้ามเปลี่ยนมือ”  ลงไว้  ย่อมมีผลตามกฎหมาย  กล่าวคือ  จะได้รับการคุ้มครอง  ตาม ป.พ.พ. มาตรา  999  เช่น  ในกรณีที่เช็คดังกล่าวได้สูญหายไป  หรือถูกโจรกรรมไป  ผู้รับโอนเช็คนั้นจากคนที่เก็บได้  หรือจากคนที่โจรกรรมเช็คนั้นไป  ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกัน  กล่าวคือ  เมื่อผู้โอนไม่มีสิทธิ  ผู้รับโอนก็ย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้นเช่นเดียวกัน

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา  995(3)  เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี  ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า  ห้ามเปลี่ยนมือ  ก็ได้

มาตรา  999  บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า  ห้ามเปลี่ยนมือ  ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่า  และไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่รื่นฤทัยซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คได้กรอกข้อความว่า  “A/C  Payee  Only” ลงไว้กลางรอยขีดคร่อม  ถือได้ว่าเป็นการลงข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือตามนัยมาตรา  995(3)  แล้ว  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารื่นฤทัยได้ทำเช็คนั้นตกหายไป  กรณีจึงมิได้เป็นการขายลดเช็คนั้นให้แก่สมรวดีตามที่สมรวดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด  ย่อมแสดงว่า  สมรวดีเป็นผู้เก็บเช็คนั้นได้  ดังนั้นสมรวดีจึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น  (ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงแห่งเช็คนั้นคือรื่นฤทัย)  และไม่มีสิทธิที่จะโอนเช็คนั้นต่อไปให้แก่ผู้ใด  เมื่อสมรวดีได้โอนเช็คนั้นให้แก่หนึ่งฤดีโดยการส่งมอบ  ดังนี้ แม้ว่าหนึ่งฤดีจะได้รับเช็คนั้นจากสมรวดีโดยสุจริต  ก็ย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้นเช่นเดียวกับสมรวดีตามนัยมาตรา  999  ดังนั้น  เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น  หนึ่งฤดีจึงไม่สามารถจะบังคับไล่เบี้ยสรณีย์  รื่นฤทัย  และสมรวดีให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าวนั้นได้เลย

สรุป  รื่นฤทัยคือเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คดังกล่าว  และหนึ่งฤดีจะบังคับไล่เบี้ยสรณีย์  รื่นฤทัย  และสมรวดีไม่ได้เลย

Advertisement