การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  บุญมีออกทุนให้สำรวยเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำประมงจำนวน  2  ล้านบาท  ต่อการออกทะเลจับปลาแต่ละครั้ง  เป็นเวลา  5  ปี  โดยให้เบิกเงินสด  น้ำมัน  น้ำแข็ง  โดยบุญมีจะจดบัญชีเป็นจำนวนเงินทั้งหมดตามที่สำรวยเอาไปจริงและเมื่อสำรวยได้ปลามาแล้วจะต้องส่งมอบให้แก่บุญมีเพื่อนำไปขายส่งให้กับทองจันทร์  เมื่อขายได้บุญมีจะหักเงินไว้  10  เปอร์เซ็นเป็นค่าตอบแทนในการขายปลา  แล้วส่งใบเสร็จรับเงินค่าปลาให้สำรวยเก็บไว้เพื่อตรวจสอบและมีข้อตกลงหักทอนบัญชีกันทุกๆ  3  เดือน  เพื่อจะได้ทราบว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้  ลูกหนี้จำนวนเท่าใดโดยมีสมุดบัญชีเบิกเงินรายวัน  สมุดบัญชีน้ำมัน  สมุดบัญชีน้ำแข็ง  สมุดบัญชีฝากขายปลาเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ  ดังนี้  นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับสำรวยเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ผู้ทรงที่รับโอนตั๋วแลกเงินมาโดยการสลักหลังลอย  สามารถโอนตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนได้อย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

ข้อตกลงระหว่างบุญมีกับสำรวยเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีได้ตกลงกันว่า  ชั่วระยะเวลา  5  ปี  ที่กำหนดนั้น  ให้เอาหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างเขาทั้งสองที่มีการจดบัญชีกันไว้  มาตัดทอนกันทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยการหักกลบลบกัน  และชำระแต่ละส่วนที่จำนวนคงเหลือ  โดยดุลภาคอันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัด

สรุป  ข้อตกลงระหว่างบุญมีกับสำรวยเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย 

การสลักหลังลอย  คือ  การที่ผู้สลักหลังเพียงลงลายมือชื่อของตนเองโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน  โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์  (ผู้รับสลักหลัง)  มาตรา  919  วรรคสอง

ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วเงินมาโดยการสลักหลังลอย  สามารถโอนตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนได้  ตามมาตรา  920  วรรคสอง  ซึ่งสามารถเลือกโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปได้ใน  3  วิธีดังต่อไปนี้  คือ

(1) กรอกข้อความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง  (เติมชื่อบุคคลที่ตนเองประสงค์จะโอนให้)

 (2) ผู้รับโอนตั๋วมาด้วยการสลักหลังลอยนั้น  อาจสลักหลังตั๋วเงินต่อไปได้อีก  โดยเป็นการสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง  คือ  ได้รับตั๋วมาแล้วก็สลักหลังลอยต่อไปอีก  หรือว่าสลักหลังเฉพาะ  คือ  สลักหลังให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งก็ได้

 (3) โอนตั๋วนั้นให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกข้อความในที่ว่างและไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด  กรณีนี้ก็เหมือนกับวิธีการโอนตั๋วผู้ถือ  แม้เป็นตั๋วระบุชื่อแต่เมื่อมีการสลักหลังลอยมาก็ส่งมอบต่อไปเลย  คนที่ส่งมอบไปนั้นก็ไม่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นเพราะไม่ได้ลงชื่อในตั๋วเงินนั้นเลย

 

ข้อ  2  ก  ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คจะต้องงดเว้นการใช้เงินตามเช็คในกรณีใดบ้าง  ให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข  ก้องทำสัญญาจ้างโก้ให้ทำการตกแต่งภายในบ้านพักของก้องโดยตกลงค่าจ้างกันเป็นเงินจำนวน  200,000  บาท  เมื่อโก้ทำการตกแต่งภายในบ้านของก้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก้องจึงได้สั่งจ่ายเช็คธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  จำนวน  200,000  บาท  ให้แก่โก้เพื่อชำระราคาค่าจ้างตกแต่งฯดังกล่าว  แต่หลังจากนั้นก้องได้ตรวจพบว่าโก้ตกแต่งภายในบ้านพักของตนไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้  จึงได้แจ้งให้โก้แก้ไขให้ถูกต้อง  แต่โก้ไม่ยินยอมแก้ไขให้โดยอ้างว่าตนตกแต่งให้ถูกต้องตามที่ตกลงกันแล้ว  ก้องไม่พอใจจึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  ให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่ก้องสั่งจ่ายชำระหนี้  ค่าตกแต่งฯให้แก่โก้ไปนั้น  ต่อมาเมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินโก้ได้นำเช็คไปยื่นให้ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  เพื่อให้จ่ายเงินตามเช็คให้  แต่ธนาคารฯได้ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนั้นให้แก่โก้  เพราะเห็นว่าก้องได้มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารฯ  ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวแล้ว  แม้ว่าในขณะนั้นจะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินในบัญชีของก้องมีเพียงพอที่ธนาคารฯ  จะสามารถจ่ายให้แก่โก้ได้ก็ตาม

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมานั้น  โก้จะสามารถเรียกให้ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  ต้องจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  992  หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น  ท่านว่าเป็นอันสิ้นสุดไปเมื่อกรณีเป็นดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

 (1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน

(2) รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย

(3) รู้ว่าศาลได้มีคำสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว  หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย  หรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น

บทบัญญัติมาตรา  992  ดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นบทบังคับว่าถ้ามีกรณีดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นแล้วธนาคารต้องงดการจ่ายเงิน  จะจ่ายเงินไม่ได้  ถ้าจ่ายไปก็ต้องรับผิดต่อลูกค้าเอาเอง

เหตุที่ต้องงดการจ่ายเงินตามเช็คตามมาตรา  992

(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินของผู้สั่งจ่าย

(2) รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย  ถ้าธนาคารรู้ก็จ่ายไม่ได้  ถ้าไม่รู้ก็ยังจ่ายได้  ถ้ารู้ว่าผู้สั่งจ่ายตายแล้ว  ยังขืนจ่ายไปอีกก็ต้องรับผิดต่อทายาทของผู้สั่งจ่าย

(3) รู้ว่าศาลได้มีคำสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว  คือรู้ว่ามีการพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวหรือพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษาล้มละลาย  กรณีเหล่านี้ต้องงดการจ่ายเงิน  แม้ว่ายังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม  ธนาคารก็มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้  ผู้ล้มละลายต่อไป

ข  อธิบาย

มาตรา  992  หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น  ท่านว่าเป็นอันสิ้นสุดไปเมื่อกรณีเป็นดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงนั้นเป็นกรณีที่ก้องผู้สั่งจ่ายเป็นผู้มีคำบอกห้ามการใช้เงินไปยังธนาคารฯ  ดังนั้นหน้าที่และอำนาจของธนาคารฯ  ซึ่งจะใช้เงินตามเช็คฉบับดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดไป  การที่ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คให้แก่โก้นั้นจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย  โก้จะเรียกร้องให้ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  ให้ใช้เงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ตนไม่ได้

สรุป  โก้ไม่สามารถเรียกให้ธนาคาร  ABC  จำกัด  (มหาชน)  จ่ายเงินตามเช็คได้

 

ข้อ  3  ก  บุคคลใดบ้างที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็ค  และเขียนข้อความห้ามเปลี่ยนมือลงไว้บนเช็ค

ข  เช็คพิพาทเป็นเช็คธนาคารกรุงทอง  เป็นเช็คระบุชื่อศักดิ์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน  ซึ่งศักดิ์ได้รับเช็คฉบับนี้จากสมผู้สั่งจ่ายเนื่องจากมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้า  ขณะรอเรียกเก็บเงินตามเช็ค  ศักดิ์ได้ขีดคร่อมเช็คพิพาทดังกล่าว  พร้อมทั้งได้เขียนข้อความว่า  “A/C  PAYEE  ONLY”  ลงไว้ในระหว่างรอยขีดคร่อมนั้นด้วยความประมาทเลินเล่อและหลงลืมศักดิ์ทำเช็คพิพาทนั้นตกหายไปโดยไม่รู้ตัว  สิทธิ์เก็บได้แล้วต่อมาได้ลงลายมือชื่อสลักหลังลอย  เช็คนั้นชำระหนี้ให้แก่ซื่อซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตอีกทั้งไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  โดยเชื่อตามคำกล่าวอ้างของสิทธิ์เองที่ได้อ้างกับซื่อว่าลายมือชื่อในคำสลักหลังนั้นเป็นลายมือชื่อของศักดิ์  ทำให้ซื่อหลงเชื่อจึงตกลงรับเช็คนั้นไว้  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าซื่อเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และระหว่างศักดิ์กับซื่อบุคคลใดมีสิทธิในเช็คนั้นดีกว่ากัน  อนึ่งหากธนาคารกรุงทองผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน  ให้ท่านวินิจฉัยว่าซื่อจะบังคับไล่เบี้ยให้บุคคลใดต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็ค  ได้แก่

(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค  อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(2) ผู้ทรงเช็ค  อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(3) ธนาคาร  ต้องเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเท่านั้น  มาตรา  995(1)  (2)  (4)  และ  (5)

บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ลงข้อความห้ามโอน  หรือห้ามเปลี่ยนมือ  หรือความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน  ได้แก่

(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค  (มาตรา  917  วรรคสองประกอบมาตรา  989  วรรคแรก)

(2) ผู้สลักหลังเช็ค  (มาตรา  923  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก)

(3) ผู้ทรงเช็คขีดคร่อม  (มาตรา  995 (3))

ข  อธิบาย

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา  999  บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า  ห้ามเปลี่ยนมือ  ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

วินิจฉัย

เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมที่มีข้อความห้ามเปลี่ยนมือ  (A/C  PAYEE  ONLY)  โดยศักดิ์ผู้ทรงเช็คผู้ถือเดิม  และเป็นเช็คที่มีการปลอมลายมือชื่อศักดิ์โดยสิทธิ์  เมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามปัญหาและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ขอวินิจฉัยทั้งสามประเด็นดังนี้

(1) ชื่อไม่เป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีลายมือชื่อปลอมตามมาตรา  905  ประกอบมาตรา  1008  วรรคแรก

(2) ระหว่างศักดิ์กับซื่อนั้น  ศักดิ์ผู้ทรงเดิมย่อมมีสิทธิในเช็คนั้นดีกว่า  ตามมาตรา  999  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา  905

(3) ซื่อจะบังคับไล่เบี้ยบุคคลใดให้ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทมิได้  เพราะมิใช่ผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  905  ประกอบมาตรา  1008  วรรคแรก

Advertisement