การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเด่นเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทกู๊ดคาร์  จำกัด  โดยทำเป็นหนังสือ  แต่บริษัทกู๊ดคาร์ฯเกรงว่ารถจะถูกโจรกรรม  จึงไปทำสัญญาประกันภัยรถ  ในกรมธรรม์ระบุว่าคุ้มครองโจรกรรมไว้กับบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯ  โดยนายเด่นเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันในนามของบริษัทกู๊ดคาร์ฯ  ต่อมานายเด่นชำระค่าเช่าซื้อครบทุกงวดและโอนทะเบียนรถเป็นของนายเด่นแล้ว  แต่นายเด่นยังคงระบุชื่อบริษัทกู๊ดคาร์ฯ  เป็นผู้เอาประกันภัย  แต่มีวงเล็บชื่อนายเด่น  และระบุที่อยู่ของนายเด่นเป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัยด้วย  ในระหว่างอายุสัญญารถที่เอาประกันภัยคันดังกล่าวถูกขโมย  นายเด่นจึงรีบแจ้งบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯ  โดยไม่ชักช้า  แต่บริษัทสยามฯ  ผู้รับประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอ้างว่านายเด่นไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย  ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนคือบริษัทกู๊ดคาร์ฯ  เพราะเป็นผู้เอาประกันภัย  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของบริษัทสยามประกันภัยที่ว่า  นายเด่นไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  862  วรรคสาม  คำว่า  “ผู้เอาประกันภัย”  ท่านหมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่บริษัทกู๊ดคาร์  ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯ  โดยมีนายเด่นผู้เช่าซื้อเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทกู๊ดคาร์  กรณีนี้ถือว่านายเด่นเป็นเพียงผู้จ่ายเบี้ยประกันแทนเท่านั้น  เพราะเบี้ยประกันภัยเป็นหนี้ของคู่สัญญาฝ่ายผู้เอาประกันภัย  ซึ่งผู้เอาประกันภัยไม่จำต้องชำระหนี้ด้วยตนเอง  จึงยังฟังไม่ได้ว่านายเด่นเป็นคู่สัญญาซึ่งเอาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อด้วย

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  หลังจากที่นายเด่นชำระค่าเช่าซื้อครบทุกงวดและโอนทะเบียนรถเป็นของนายเด่นแล้ว  นายเด่นยังคงระบุชื่อบริษัทกู๊ดคาร์ฯ  เป็นผู้เอาประกันภัย  และมีวงเล็บชื่อนายเด่นพร้อมทั้งระบุที่อยู่ของนายเด่นเป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย  กรณีนี้ถึงแม้ว่าในกรมธรรม์จะระบุชื่อบริษัทกู๊ดคาร์  เป็นผู้เอาประกันก็ตาม  แต่เมื่อระบุที่อยู่ของนายเด่นเป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย  จึงต้องถือว่านายเด่นเป็นคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้เอาประกันด้วยตามมาตรา  862  วรรคสาม  เมื่อเกิดวินาศภัยดังที่ระบุไว้ในสัญญาคือรถถูกโจรกรรม  นายเด่นจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯได้

ดังนั้น  ข้ออ้างของบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯที่ว่า  นายเด่นไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 656/2521)

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯ  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  นายแดงทำสัญญาเอาประกันวินาศภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  โดยประกันประเภทที่  1  คือ  คุ้มครองทุกอย่าง  รวมทั้งความเสียหายที่เกิดกับตัวรถที่เอาประกันด้วย 

วงเงินเอาประกัน  5  แสนบาท  ในระหว่างอายุสัญญานายดำขับรถโดยประมาทชนท้ายรถของนายแดงเสียหาย  บริษัทประกันภัยจึงนำรถยนต์ของนายแดงไปให้นายเขียวซ่อม  คิดเป็นเงิน  7  หมื่นบาท  แต่บริษัทประกันยังมิได้จ่ายค่าซ่อมรถให้แก่นายเขียวเจ้าของอู่  เมื่อซ่อมรถของนายแดงเสร็จ  นายแดงได้รับมอบรถไปแล้ว  บริษัทประกันภัยเรียกร้องให้นายดำจ่ายค่าซ่อมรถ  แต่นายดำปฏิเสธ  ดังนี้  บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าซ่อมรถ  7  หมื่นบาท  จากนายดำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  438  วรรคสอง  อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น  ได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ถ้าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอก  เมื่อผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว กฎหมายได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องเอาจากบุคคลภายนอกนั้นได้ตามมาตรา  880  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงทำสัญญาเอาประกันวินาศภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทประกันภัย  และในระหว่างอายุสัญญา  นายดำได้ขับรถโดยประมาทชนท้ายรถของนายแดงเสียหาย  กรณีนี้ถือว่าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของนายดำซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว  และการที่บริษัทประกันภัยได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้นายเขียวซ่อมจนใช้การได้  และส่งมอบรถยนต์ให้นายแดงแล้วนั้น  ถือว่าเป็นการคืนทรัพย์ตามมาตรา  438  วรรคสอง  ซึ่งถือได้ว่าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว  (ฎ. 1006/2503)

ส่วนการที่บริษัทประกันภัยติดค้างค่าซ่อมรถ  ซึ่งยังมิได้ชำระให้แก่นายเขียวเจ้าของอู่นั้น  เป็นหนี้ตามสัญญาจ้างทำของระหว่างบริษัทประกันภัยกับนายเขียวซึ่งเป็นหนี้ต่างหากจากกัน  ไม่เกี่ยวกับการที่บริษัทประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายแดง

สรุป  บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน  7  หมื่นบาท  จากนายดำได้  เพราะเป็นกรณีที่บริษัทประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิตามมาตรา  880

 

ข้อ  3  นางสมปองได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  ในสัญญาระบุให้นางสาวสมใจบุตรสาวเป็นผู้รับประโยชน์  ต่อมาภายในอายุสัญญาประกัน  นางสมปองได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง  นางสาวสมใจบุตรสาวเป็นคนดูแลรักษาพยาบาล  ได้หยิบยาผิดขวดให้นางสมปองกินจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ดังนี้  นางสาวสมใจผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

โดยหลัก  เมื่อผู้เอาประกันชีวิต  หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตาย  บริษัทผู้รับประกันชีวิตจะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นๆ  เว้นแต่บุคคลนั้นจะฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  หรือบุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา  895

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางสาวสมใจซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์  ได้หยิบยาผิดขวดให้นางสมปอง  ผู้เอาประกันชีวิตกินจนถึงแก่ความตายนั้น  เป็นเพียงความประมาทเลินเล่อ  ยังถือไม่ได้ว่านางสาวสมใจเจตนาฆ่านางสมปอง  กรณีนี้จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันชีวิตจะไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตในกรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  895(2)  ดังนั้น  นางสาวสมใจผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตได้ตามมาตรา  889  ประกอบมาตรา  890

สรุป  นางสาวสมใจมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันชีวิตจากบริษัทประกันชีวิต

Advertisement