การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแตงทำสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  กำหนดเวลา  20  ปี  วงเงินเอาประกัน  2  แสนบาท  ระบุให้นางกล้วยมารดาเป็นผู้รับประโยชน์ในขณะทำสัญญานายแตงรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคต้อตา  แต่ไม่ได้แจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบ  หลังจากทำสัญญาไปได้  4  ปี  นายแตงตายด้วยโรคมะเร็ง  บริษัทประกันภัยมีสิทธิบอกล้างไม่จ่ายเงินประกัน  2  แสนบาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การที่นายแตงรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคต้อตา  แต่ไม่ได้แจ้งให้บริษัทประกันชีวิตทราบ  บริษัทประกันชีวิตจะมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิต  และไม่จ่ายเงินประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์ได้หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  ถ้าผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริง  ซึ่งอาจจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา  สัญญาประกันชีวิตจึงจะตกเป็นโมฆียะ  ซึ่งผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกล้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามสัญญาได้ตามมาตรา  865  วรรคแรก การที่นายแตงรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นโรคต้อตาแต่ไม่ได้แจ้งให้บริษัทฯทราบนั้น  โรคต้อตาไม่ถือว่าเป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับตาที่มีอันตรายร้ายแรงถึงขนาดอนุมานได้ว่า  ถ้านายแตงผู้เอาประกันภัยได้แจ้งเช่นนั้นแล้ว  ผู้รับประกันชีวิตจะบอกปัดไม่รับประกันชีวิต  หรือจะเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้น  ดังนั้น  แม้นายแตงจะมิได้แจ้งให้บริษัทฯทราบก็ไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะ

ส่วนการที่นายแตงตายด้วยโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคร้ายนั้น  เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายแตงรู้ว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน  แม้นายแตงจะถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง  ก็จะถือว่านายแตงละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาไม่ได้

เมื่อสัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์  บริษัทประกันชีวิตไม่มีสิทธิบอกล้าง  การที่นายแตงถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง  บริษัทฯจึงต้องจ่ายเงินประกัน  2  แสนบาทให้แก่นางกล้วยผู้รับประโยชน์ ฎ. 3728/2530

สรุป  บริษัทประกันภัยไม่มีสิทธิบอกล้าง  จึงต้องจ่ายเงินประกัน  2  แสนบาทให้แก่นางกล้วยผู้รับประโยชน์

 

ข้อ  2  นายแก้วเอาบ้านของตนประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  ต่อมาภายในอายุสัญญาประกัน  นายขวดบุตรของนายแก้วจุดไฟเผาบ้านหลังนี้ไหม้หมดทั้งหลังเพื่อประท้วงนายแก้วบิดาที่ไม่ยอมซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้  ดังนี้  นายแก้วเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ 

(1)          เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

วรรคท้าย  ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเรื่องความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแก้วเอาบ้านของตนประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  กรณีเช่นนี้ถือว่านายแก้วเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย  ตามมาตรา  863  สัญญาประกันวินาศภัยจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  เมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา (อัคคีภัย)  บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยให้กับนายแก้วหรือไม่  เห็นว่า  มาตรา  879  นั้นเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย  จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า  บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้  หากปรากฏว่าวินาศภัยที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำโดยทุจริต  หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์เท่านั้น  (ฎ. 1720/2534)  ถ้าเป็นความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลอื่น  แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สักเพียงใดก็ตาม  ก็ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิดไปได้  (ฎ.4830/2537)

เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า  นายขวดผู้จุดไฟเผาบ้านที่เอาประกันภัย  ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์  ส่วนนายแก้วบิดาของนายขวดก็ไม่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าสนับสนุนหรือใช้ให้นายขวดเผาบ้านที่เอาประกัน  จึงถือไม่ได้ว่าไฟไหม้บ้านที่เอาประกันไว้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์  กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา  879  วรรคแรก  ที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ดังนั้น  บริษัทประกันภัยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายแก้วผู้เอาประกันภัย  ตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกินวงเงินที่เอาประกันภัยไว้  ตามมาตรา  877 (1) และวรรคท้าย

สรุป  นายแก้วมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาได้ 

 

ข้อ  3  นายเอกได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  ระบุให้นายโทบุตรชายคนโตเป็นผู้รับประโยชน์  และนายเอกได้มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับนายโท  นายโทจึงโทรศัพท์แจ้งไปยังบริษัทประกันชีวิตว่าตนแสดงความจำนงจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญานี้  ต่อมานายโทประพฤติตนไม่เหมาะสม  นายเอกจึงมีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันชีวิตว่าขอโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ให้แก่นายตรีบุตรชายคนเล็ก  บริษัทประกันชีวิตตอบรับทราบ  เมื่อนายเอกถึงแก่ความตาย  ภายในอายุสัญญาประกันชีวิต  อยากทราบว่า  บริษัทประกันชีวิตจะต้องจ่ายเงินเอาประกันให้แก่นายโทหรือนายตรี  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  891  วรรคแรก  แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี  ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้  เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว  และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  891  วรรคแรกนั้น  แม้ผู้เอาประกันชีวิตจะได้กำหนดตัวผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตไว้แล้ว  ผู้เอาประกันชีวิตก็ยังมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์ตามสัญญานั้นให้บุคคลอื่นได้  (โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตในการที่จะได้รับชดใช้เงินที่เอาประกันภัย)  เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขทั้ง  2  ประการต่อไปนี้  ผู้เอาประกันชีวิตไม่มีสิทธิโอนประโยชน์ให้แก่ผู้ใดอีก  คือ

1       ได้ส่งมอบกรมธรรม์นั้นให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และ

2       ผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้นายเอกจะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้กับนายโทผู้รับประโยชน์ไปแล้วก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า  นายโทโทรศัพท์ไปแจ้งให้บริษัทประกันชีวิตทราบว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น  หาได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันชีวิตว่าตนจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ไม่  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  891 วรรคแรก  สิทธิการโอนประโยชน์ของนายเอกผู้เอาประกันชีวิตจึงยังไม่หมดไป  เมื่อนายเอกได้บอกกล่าวการโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ให้แก่นายตรี  และบริษัทประกันชีวิตตอบรับทราบแล้ว  เมื่อนายเอกถึงแก่ความตายภายในอายุสัญญาประกันชีวิต  บริษัทประกันชีวิตจึงต้องจ่ายเงินเอาประกันให้แก่นายตรีผู้รับประโยชน์

สรุป  บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงินเอาประกันให้แก่นายตรี

Advertisement