การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ  

Advertisement

ข้อ  1  นายแก้วได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองในเหตุมรณะเป็นเงิน  1  ล้านบาท  ไว้กับบริษัทประกันชีวิต  โดยระบุให้เพื่อนชื่อนายขวดเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต  ต่อมานายแก้วตายในระหว่างอายุสัญญา  บริษัทประกันชีวิตไม่ยอมจ่ายเงินจำนวน  1  ล้านบาทให้แก่นายขวด  โดยอ้างว่านายขวดเป็นบุคคลภายนอกเป็นเพียงเพื่อนของนายแก้ว  นายขวดมิได้มีส่วนได้เสีย  จึงไม่มีสิทธิได้รับเงิน  1 ล้านบาทตามสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว  ดังนี้  ข้ออ้างของบริษัทประกันชีวิตรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

สัญญาประกันชีวิตนั้น  ถือว่าเป็นสัญญาประกันภัยประเภทหนึ่ง  จึงต้องนำเอาบทบัญญัติในหมวด  1  บทเบ็ดเสร็จทั่วไป  มาใช้บังคับด้วย  กล่าวคือ  ผู้เอาประกันชีวิตจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย  หรือมีส่วนได้เสียในชีวิตของผู้เอาประกันภัยด้วย  ซึ่งอาจจะเป็นชีวิตของตนเองหรือชีวิตของผู้อื่นก็ได้  สัญญาประกันชีวิตจึงจะมีผลผูกพันคู่สัญญา (มาตรา  863)

ตามอุทาหรณ์  การที่สัญญาประกันชีวิตระบุให้นายขวดซึ่งเป็นเพื่อนของนายแก้วเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตามมาตรา  863  มิได้บังคับให้ผู้รับประโยชน์จะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยด้วยแต่อย่างใด  ซึ่งผู้รับประโยชน์จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ ดังนั้นเมื่อนายแก้วได้ตายลงในระหว่างอายุสัญญา  นายขวดจึงมีสิทธิที่จะได้รับเงิน  1  ล้านบาทในฐานะผู้รับประโ ยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต  ข้ออ้างของบริษัทประกันชีวิตที่ปฏิเสธไม่ยอมชำระเงินให้นายขวดดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทประกันชีวิตรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  นายสนิทเอาประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง  วงเงิน  3  ล้านบาท  ในระหว่างอายุสัญญานายสนิททะเลาะกับนางสวยภริยาอย่างรุนแรง  เป็นเหตุให้นายสนิทโกรธแค้นมาก  จึงจุดไฟเผาบ้านหลังดังกล่าว  ทำให้ไหม้หมดทั้งหลัง  นายสนิทเรียกให้บริษัทประกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่บริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายอ้างว่านายสนิททุจริต  นายสนิทต่อสู้ว่าการเผาบ้านมิได้เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากกระทำไปด้วยความโกรธแค้น  มิได้เกิดจากมูลเหตุชักจูงใจเพื่อเอาเงินประกันภัย  จึงมิได้กระทำโดยทุจริต  จงวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายสนิทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด  ให้ยกหลักกฎหมายประกอบการอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

โดยหลัก  เมื่อเกิดวินาศภัยหรือเหตุอื่นที่ตกลงรับประกันภัยขึ้น  ผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดแต่ถ้าเหตุดังว่านี้ได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์  ผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้  (มาตรา 879  วรรคแรก)

ซึ่งคำว่า  “ทุจริต” นั้น  ตามกฎหมายนี้ไม่ได้อธิบายความหมายไว้  จึงมิได้หมายความแต่เพียงการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  แต่หมายความรวมถึงการกระทำโดยเจตนาหรือจงใจให้เกิดวินาศภัยขึ้นด้วย  โดยไม่จำต้องคำนึงว่ามีเจตนาให้ได้ประโยชน์จากสัญญาประกันภัยนั้นด้วยหรือไม่

ตามอุทาหรณ์  การที่นายสนิททะเลาะกับภริยาจนเกิดโทสะแล้วจุดไฟเผาบ้านของตนนั้น  แม้เป็นการเผาเพราะความโกรธมิได้มีเจตนาเผาเพราะอยากได้เงินประกันภัย  แต่ก็เป็นการกระทำโดยเจตนาหรือจงใจให้เกิดวินาศภัยขึ้น  ซึ่งถือว่าทุจริตแล้ว  บริษัทประกันวินาศภัยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสนิทตามมาตรา  879  วรรคแรก  ดังนั้น  ข้อต่อสู้ของนายสนิทดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายสนิทไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  นางแดงได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  โดยอาศัยเหตุแห่งความทรงชีพไว้กับบริษัทประกันชีวิตจำกัด  โดยระบุให้นายดำสามีที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์  จำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  สัญญามีกำหนด  10  ปี  หลังจากทำสัญญาได้เพียง  1  ปี  นายดำเห็นนางแดงยืนคุยอยู่กับนายเหลืองชายหนุ่มข้างบ้าน  ก็เกิดความหึงหวงขึ้นมา  เขาจึงใช้ปืนยิงไปถูกนางแดงเสียชีวิตทันที  ส่วนนายเหลืองบาดเจ็บสาหัส  หลังจากนั้นนายดำจึงไปขอรับเงินจากบริษัทในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต  จงวินิจฉัยว่า บริษัทจะใช้เงินให้แก่นายดำตามสัญญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  นางแดงได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  โดยอาศัยเหตุแห่งความทรงชีพไว้กับบริษัทประกันชีวิต  จำกัด  ย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามมาตรา  863  สัญญาประกันชีวิตจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

แต่อย่างไรก็ตาม  การทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  โดยอาศัยเหตุแห่งความทรงชีพนั้น  ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประกันชีวิต  (มาตรา  889)  ผู้รับประกันภัยจึงจะใช้เงินให้ตามสัญญา (มาตรา  890)

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นางแดงถูกนายดำฆ่าตายก่อนครบ  10  ปี  ตามกำหนดอายุสัญญาประกันชีวิต  จึงเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้มีอายุอยู่จนครบตามกำหนดอายุสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา  889  นายดำผู้รับประโยชน์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาดังกล่าวตามมาตรา  890  และกรณีนี้ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  895(2)  เพราะจะเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวได้จะต้องเป็นการประกันชีวิตโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะเท่านั้น  ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตจึงไม่ต้องใช้เงินให้กับนายดำตามสัญญา

สรุป  บริษัทประกันชีวิตไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้กับนายดำ

Advertisement