การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  นายเปรียวได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  โดยคุ้มครองบุคคลที่สาม  คือ  คุ้มครองภัยที่ตนอาจขับรถที่จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นเงิน  100,000  บาท  ในระหว่างอายุสัญญานายเปรียวได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทชนรถของนายเฉื่อยเสียหาย  80,000  บาท  ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยไม่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายเฉื่อย  แต่นำค่าสินไหมทดแทนมาจ่ายให้นายเปรียว  80,000  บาท  นายเปรียวไม่ได้เอามาจ่ายให้นายเฉื่อย  เมื่อนายเฉื่อยยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจึงฟ้องบริษัทประกันภัย  แต่บริษัทประกันภัยต่อสู้ว่าตนได้ใช้ให้นายเปรียวไปแล้วจึงไม่ต้องรับผิดอีก  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของบริษัทประกันภัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  887  วรรคสาม  อนึ่งผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่   เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาประกันภัยที่นายเปรียวทำกับบริษัทประกันภัยนั้นเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน  กล่าวคือ  เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย  เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  (บุคคลที่สาม) และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ  การที่บริษัทประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเปรียวผู้เอาประกัน  แต่นายเปรียวไม่ได้นำมาจ่ายให้นายเฉื่อยบุคคลภายนอก  จึงทำให้นายเฉื่อยยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน  ผลทางกฎหมายตามมาตรา  887  วรรคสาม  คือ บริษัทประกันภัยยังคงมีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเฉื่อย  และไม่ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยได้พิสูจน์ว่าค่าสินไหมทดแทนนั้นนายเปรียวผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่นายเฉื่อยผู้เสียหายแล้ว

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัทประกันภัยที่อ้างว่าตนได้ใช้ให้นายเปรียวไปแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดอีกเป็นข้อต่อสู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  กนกได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกของตนไว้กับบริษัทประกันภัยจำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  3  แสนบาท  และในขณะเดียวกัน   เขาก็เอาประกันภัยในความรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้รถคันนี้  (ประกันภัยค้ำจุน)    อีกกรมธรรม์หนึ่งไว้กับบริษัทเดียวกัน  จำนวนเงินที่เอาประกัน  4  แสนบาท  กำหนดระยะเวลาในการทำสัญญา  1  ปี  หลังจากทำสัญญาได้สามเดือน  กนกได้สั่งให้ดนัยซึ่งเป็นคนขับรถและเป็นลูกจ้างของตนขับรถคันดังกล่าวบรรทุกสินค้าไปส่งให้ลูกค้าที่จังหวัดอุทัยธานี  หลังจากส่งของเสร็จแล้วดนัยได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  แซงรถคันอื่นมาตลอดทาง  จึงเกิดอุบัติเหตุชนกับรถของอมรซึ่งวิ่งสวนทางมา  ทำให้ดนัยและอมรบาดเจ็บสาหัสทั้งคู่  เสียค่ารักษาพยาบาลไปคนละ  5  หมื่นบาท  ส่วนรถบรรทุกของกนกพังเสียหายคิดเป็นเงิน  2  แสนบาท  และรถของอมรก็เสียหายเช่นกันคิดเป็นเงิน  1  แสนบาท  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทประกันภัยจำกัดจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับใคร  อย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  862  วรรคท้าย  อนึ่ง  ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น  จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

มาตรา  887  วรรคแรก  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น  คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ 

บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง  แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่  ในคดีระหว่างผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น  ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย

อนึ่งผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่   เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

วินิจฉัย

กนกได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกของตนเอง  กนกย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามมาตรา  863  สัญญาจึงมีผลผูกพัน  และในขณะเดียวกันเมื่อเขาไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์ไว้  กนกจึงเป็นผู้รับประโยชน์เองตามมาตรา  862  วรรคท้าย  ซึ่งบริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาดังต่อไปนี้

1       จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กนกตามสัญญาประกันวินาศภัย  กรณีที่รถบรรทุกของกนกเสียหายคิดเป็นเงิน  2  แสนบาท  ตามมาตรา  877 (1)  และวรรคท้าย

2       จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับอมรตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน  กรณีรถของอมรเสียหายคิดเป็นเงิน  1  แสนบาท  และค่ารักษาพยาบาลที่บาดเจ็บสาหัสเป็นเงิน  5  หมื่นบาท  ตามมาตรา  887  ประกอบมาตรา  877

3       จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับดนัยที่บาดเจ็บสาหัสเป็นเงิน  5  หมื่นบาท  ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน  ตามมาตรา  887  ประกอบมาตรา  877

ทั้งนี้เพราะวินาศภัยที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของกนก  ซึ่งเป็นทั้งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์  แต่เป็นการกระทำของดนัยซึ่งเป็นลูกจ้างของกนก  จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่บริษัทไม่ต้องจ่าย  ตามมาตรา  862  วรรคท้าย  และมาตรา  879  วรรคแรก

เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและผู้ต้องเสียหายไปแล้ว  บริษัทก็สามารถที่จะเข้าไปรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันรียกจากดนัย  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้  ตามมาตรา  880  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  877

สรุป  บริษัทต้องรับผิดชอบดังนี้

1       จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กนก  2  แสนบาท

2       จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้อมร  ในกรณีรถเสียหาย  1  แสนบาท  และค่ารักษาพยาบาล  5  หมื่นบาท

3       จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ดนัย  5  หมื่นบาท

 

ข้อ  3  หนึ่งมีอาการเจ็บหน้าอกที่ชายโครงด้านขวาเป็นประจำ  จึงชวนสองภริยาให้พาไปตรวจร่างกายกับแพทย์ที่โรงพยาบาลซึ่งเคยรักษา  แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่าเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ และได้ให้ยามารับประทาน ซึ่งอาการที่เจ็บก็หายเป็นพักๆ  ต่อมาอีกสามเดือน สามซึ่งเป็นเพื่อนบ้านและเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตได้มาชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิต  เขาจึงได้ตกลงทำจำนวนเงินที่เอาประกัน  1 ล้านบาท  สัญญามีกำหนด  5  ปี  ระบุให้สองภริยาเป็นผู้รับประโยชน์  ซึ่งขณะทำสัญญาเขาได้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตว่าสุขภาพสมบูรณ์ดี

และเมื่อแพทย์ของประกันชีวิตตรวจร่างกาย  และได้สอบถามถึงสุขภาพ  หนึ่งก็ตอบว่าไม่เคยป่วยเป็นโรคใด  บริษัทประกับชีวิตจึงได้รับประกันชีวิตของหนึ่งไว้  ต่อมาอีก  2  ปี  หนึ่งก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในตับ  ซึ่งแพทย์ตรวจพบว่าเป็นมาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต  จงวินิจฉัยว่า  สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวเป็นโมฆียะหรือไม่  และบริษัทจะบอกล้างได้หรือไม่  หรือบริษัทจะต้องชดใช้เงินตามสัญญาดังกล่าวอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

วินิจฉัย

หนึ่งทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  ย่อมมีเหตุแห่งส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันตามาตรา  863  สัญญามีผลผูกพัน  การที่สองได้พาหนึ่งไปตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาพยาบาลในอาการเจ็บที่ชายโครงด้านขวา  ซึ่งแพทย์ได้ตรวจแล้วและวินิจฉัยว่าอาจเป็นกล้ามเนื้ออักเสบนั้น  หนึ่งไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็ง  ฉะนั้นการที่เขากรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตไปว่ามีสุขภาพสมบูรณ์  จึงไม่ใช่การไม่เปิดเผยข้อความจริงและเมื่อแพทย์ของบริษัทฯ  สอบถามถึงสุขภาพ  เขาก็ตอบว่าไม่เคยป่วยเป็นโรคใดๆ   ก็ไม่ใช่การปกปิดข้อความจริงตามมาตรา  865  เพราะอาการกล้ามเนื้ออักเสบไม่ใช่อาการของโรคที่ต้องเปิดเผยในขณะทำสัญญาประกันชีวิต  เมื่อแพทย์ผู้ตรวจรักษาและแพทย์ของบริษัทประกันชีวิตผู้ตรวจสุขภาพ  ไม่ทราบว่าหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งในตับ  และหนึ่งเองก็ไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน  กรณีจึงถือไม่ได้ว่าหนึ่งไม่เปิดเผยข้อความจริงที่ได้รู้มาก่อน  อันจะเป็นเหตุให้บริษัทบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นแต่อย่างใด  ตามมาตรา  865  สัญญาประกันชีวิตของหนึ่งจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ไม่เป็นโมฆียะที่บริษัทจะมีสิทธิบอกล้างได้  บริษัทจำต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา  ตามมาตรา  889  ประกอบมาตรา  890  (ฎีกาที่  3728/2530)

สรุป  สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะ  และบริษัทต้องจ่ายเงินจำนวน  1  ล้านบาท  ตามสัญญาประกันชีวิต

Advertisement