การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1.       นายอังคารจดทะเบียนสมรสกับนางศุกร์  นางศุกร์เอาประกันชีวิตนายอังคารไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งแบบอาศัยความมรณะ  จำนวนเงินเอาประกันหนึ่งแสนบาท มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี อีก 10 ปีต่อมา  นายอังคารจดทะเบียนหย่าขาดจากนางศุกร์  หลังจากนั้นอีก 1 เดือน  นายอังคารถึงแก่ความตาย เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์  นางศุกร์ยื่นขอรับเงินประกันหนึ่งแสนบาท  แต่บริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายอ้างว่าก.  สัญญาไม่ผูกพัน เพราะส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นหมดสิ้นไป  โดยเหตุที่นางศุกร์และนายอังคารไม่ได้เป็นคู่สมรสกันแล้ว  เนื่องจากหย่าขาดจากกัน

ข.   การที่นางศุกร์ได้หย่าขาดจากนายอังคารแล้ว นางศุกร์จึงเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้ เพราะนางศุกร์ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายอังคารอีกต่อไป

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยทั้งสองประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 863 บัญญัติว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

ก.  สัญญาประกันภัยมีผลผูกพันคู่สัญญาหรือไม่ต้องใช้มาตรา 863 ดูเรื่องส่วนได้เสียฯ จากคำถามเป็นการประกันชีวิตผู้อื่น เมื่อพิจารณาตัวผู้เอาประกันภัย คือ นางศุกร์ จะเห็นได้ว่า มีความสัมพันธ์ในฐานะคู่สมรส ทั้งนี้เพราะนางศุกร์มีสิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่อชีวิตของนายอังคารสามีที่ได้มาเอาประกันไว้กับบริษัทผู้รับประกันและประการสำคัญส่วนได้เสียฯ ผู้เอาประกันต้องมีในขณะทำสัญญาด้วย เมื่อขณะทำสัญญา นางศุกร์มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายอังคาร เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้หย่า สัญญาจึงมีผลผูกพัน แม้ต่อมาส่วนได้เสียฯ จะหมดสิ้นไปเพราะหย่าขาดจากกัน ก็ไม่ทำให้สัญญามีผลผูกพันตั้งแต่ต้นกลายเป็นสัญญาที่ไม่ผูกพันในภายหลัง ดังนั้นข้ออ้างของบริษัทประกันที่ว่าสัญญาไม่ผูกพันจึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข.  ประเด็นข้อกฎหมายคือ นางศุกร์เป็นผู้รับประโยชน์ได้หรือไม่ ตามมาตรา 863 จะเห็นได้ว่าผู้ซึ่งต้องมีส่วนได้เสียก็แต่เฉพาะผู้เอาประกันภัยเท่านั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าผู้รับประโยชน์ต้องมีส่วนได้เสียแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นผู้รับประโยชน์จะเป็นใครก็ได้ถึงแม้ไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยก็เป็นผู้รับประโยชน์ได้ ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าการที่นางศุกร์ได้หย่าขาดจากนายอังคารแล้ว นางศุกร์จึงเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้ เพราะนางศุกร์ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายอังคารอีกต่อไป จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2.       สมชายได้นำรถบรรทุกของตนไปทำสัญญาประกันภัยวินาศภัยไว้กับบริษัทประกันภัยจำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน 5 แสนบาท และในขณะเดียวกัน  สมชายก็ได้เอาประกันภัยในความรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้รถ  คันนี้ (ประกันภัยค้ำจุน)  ไว้กับบริษัทเดียวกันอีกกรมธรรม์หนึ่งด้วย จำนวนเงินที่เอาประกัน 4 แสนบาท กำหนดระยะเวลาในการทำสัญญา 1 ปี  หลังจากทำสัญญาได้ 5 เดือน  สมชายได้สั่งให้สมศักดิ์ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถคันดังกล่าว  ซึ่งบรรทุกสินค้าไปส่งให้กับลูกค้าที่จังหวัดอุดรธานี  หลังจากส่งของเสร็จสมศักดิ์ได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อแซงทางโค้งชนกับรถบรรทุกของสมพงษ์ซึ่งวิ่งสวนทางมา  ทำให้สมศักดิ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส เสียค่ารักษาพยาบาลคิดเป็นเงิน 1 แสนบาท  และรถบรรทุกของสมชายก็เสียหายด้วย คิดเป็นเงิน 3 แสนบาท  ส่วนรถของสมพงษ์ก็เสียหายเช่นกัน คิดเป็นเงิน 1 แสนบาท  จงวินิจฉัยว่า บริษัทประกันภัยจำกัดจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับใคร อย่างไร หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  862  วรรคท้าย  อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น  จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวก็ได้

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ 

(1)          เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผุ้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเรื่องความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

มาตรา  887  วรรคแรก  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น  คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ 

วินิจฉัย

สมชายได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกของตนเอง สมชายย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย สัญญาจึงมีผลผูกพันตามมาตรา 863 และเมื่อเขาไม่ได้ระบุไว้ให้ใครเป็นผู้รับประโยชน์ สมชายจึงเป็นผู้รับประโยชน์เองตามมาตรา 862 วรรคท้าย ซึ่งบริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยให้กับสมชายดังนี้

1.  จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สมชายตามสัญญาประกันวินาศภัย กรณีที่รถยนต์บรรทุกของเขาเสียหายคิดเป็นเงิน 3 แสนบาท ตามมาตรา 877 (1) ประกอบวรรคท้าย

2.  จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับสมพงษ์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน กรณีรถของสมพงษ์เสียหายคิดเป็นเงิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 887 ประกอบมาตรา 877 (1) และวรรคท้าย

3.  จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับสมศักดิ์ที่บาดเจ็บสาหัสเป็นเงินอีก 1 แสนบาท ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ตามมาตรา 887 ประกอบมาตรา 877 (1) และวรรคท้าย

ทั้งนี้เพราะวินาศภัยที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์จึงไม่เข้ากรณียกเว้นความรับผิดของบริษัทตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 3.   นางสมปองได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง      ในสัญญาระบุให้นางสาวสมใจบุตรสาวเป็นผู้รับประโยชน์  ต่อมาภายในอายุสัญญาประกัน  นางสมปองได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง  นางสาวสมใจบุตรสาวเป็นคนดูแลรักษาพยาบาล  ได้หยิบยาผิดขวดให้นางสมปองกินจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ดังนี้ นางสาวสมใจผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตหรือไม่       เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895  เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

วินิจฉัย

ข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันชีวิตไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตประการหนึ่งตามมาตรา  895 (2)  คือ  ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  ซึ่งหมายความว่าเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล  หากมีเพียงเจตนาทำร้าย หรือเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนา

นางสาวสมใจผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตได้ตามมาตรา 889, 890  เพราะนางสาวสมใจไม่ได้ฆ่าผู้เอาประกันตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 (2)  การหยิบยาผิดขวดให้ผู้เอาประกันชีวิตกินนั้นยังไม่ถือว่ามีเจตนาฆ่า

สรุป  นางสาวสมใจมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิต

Advertisement