การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  แดงได้ไปทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะไว้กับบริษัท  ประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  7000,000  บาท สัญญากำหนด  10  ปี  โดยระบุให้ขาวภริยาเป็นผู้รับประโยชน์กิอนทำสัญญาแดงมีอาการท้องอืดบ่อยๆ  บางครั้งก็ถ่ายอุจจาระออกมามีเลือดปนด้วย  แดงได้ชวนขาวภริยาไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ  แพทย์ได้แจ้งผลให้ขาวทราบว่าแดงป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่  ขาวเกรงว่าจะมีผลต่อสภาพจิตใจของสามีจึงเพียงแต่บอกเขาว่าท้องอืดธรรมดาไม่มีอะไรร้ายแรง  กินยาที่หมอให้มาก็คงหายเป็นปกติ  ในขณะเดียวกันขาวซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตก็ไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบด้วย  

ทั้งๆที่ในขณะที่แดงกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิต  ขาวก็นั่งอยู่ด้วย  เพราะเกรงว่าถ้าเปิดเผยออกไปแล้วบริษัทจะไม่รับทำสัญญา  หลังจากทำสัญญาได้  3  ปี  ในขณะที่แดงเดินทางไปโรงพยาบาลก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  ขาวจึงไปขอรับเงินตามสัญญาในฐานะผู้รับประโยชน์  จงวินิจฉัยว่าสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวเป็นโมฆียะหรือไม่  บริษัทจะอ้างเหตุผลใดในการบอกล้างสัญญาได้อย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

วินิจฉัย

แดงทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  ถือว่าแดงมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน  สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา  889  ประกอบมาตรา  863

แดงไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งในเวลาทำสัญญา  แดงจึงไม่ได้แถลงข้อความเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งจะมีผลทำให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาแต่อย่างใด  สัญญาจึงไม่เป็นโมฆียะตามมาตรา  865  วรรคแรก  ส่วนขาวนั้นเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงแต่อย่างใด  เพราะตามกฎหมายมาตรา  865  กำหนดว่า  ผู้ที่แถลงข้อความจริงในเวลาทำสัญญานั้นคือบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความมรณะคือแดงนั่นเอง  ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตของแดงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆียะ  บริษัทจึงไม่มีเหตุผลใดมาบอกล้างได้  ต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาให้กับขาวผู้รับประโยชน์ตามมาตรา  890

สรุป  สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะและบริษัทต้องจ่ายเงินจำนวน  7  แสนบาทแก่ขาวตามสัญญาประกันชีวิต

 

ข้อ  2  นายสมหวังได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยในเหตุอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันภัย  1,000,000  บาท  นายสมควรบุคคลภายนอกได้ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านของนายสมหวังเสียหาย  1,000,000  บาท  บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้  600,000  บาท  นายสมหวังจึงได้เงินไม่ครบตามความเสียหาย  นายสมหวังจึงฟ้องนายสมควรให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เหลืออีก  400,000  บาท  ขณะเดียวกันบริษัทประกันภัยก็รับช่วงสิทธิของนายสมหวังผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน  600,000  บาท  ที่ได้จ่ายไปแล้วจากนายสมควรอีก  ปรากฏว่านายสมควรมีทรัพย์สินทั้งหมดอยู่เพียง  500,000  บาท  ดังนี้  นายสมหวังและบริษัทประกันภัยจะมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากนายสมควรเป็นจำนวนรายละเท่าไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้  ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพียงเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  บริษัทประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนไปบางส่วนคือ  600,000  บาท  ย่อมเข้ารับสิทธิของนายสมหวังไปฟ้องนายสมควรได้เพียง  600,000  บาท  ตามมาตรา  880  วรรคแรก  แต่บริษัทประกันภัยจะใช้สิทธิให้เสื่อมเสียสิทธิของนายสมหวังที่ฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เหลืออีก  400,000  บาท  จากนายสมควรไม่ได้  ตามมาตรา  880  วรรคสอง  ดังนั้น  เมื่อนายสมควรมีทรัพย์สินอยู่เพียง  500,000  บาท  ไม่พอชำระให้ครบทั้งสองราย  จึงต้องให้นายสมหวังผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้ค่าสินไหมทดแทนก่อน  400,000  บาท  ส่วนที่เหลือบริษัทประกันไหมจึงได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียง  100,000  บาท

สรุป  สมหวังมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน  400,000  บาท  ส่วนบริษัทประกันภัยมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน  100,000  บาท

 

ข้อ  3  นายชัยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางแวว  นายชัยทำสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง   วงเงินเอาประกัน  1  ล้านบาท  ระบุนางแววเป็นผู้รับประโยชน์ระยะเวลา  20  ปี  อีก  1  ปีต่อมา  นายชัยโต้เถียงกับนางแววอย่างรุนแรง  สาเหตุเกิดจากนายชัยเกิดความหวาดระแวงว่านางแววจะกลับไปอยู่กินกับสามีเก่า  และสมคบกันวางแผนฆ่าตนเองเพื่อเอาเงินประกันชีวิต  นางแววเกิดความเสียใจจึงหนีไปอยู่กับน้องสาว  ครั้นต่อมาบริษัทประกันได้ออกกรมธรรม์และส่งมาให้แล้ว  นายชัยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันภัยว่าตนเองต้องการเปลี่ยนผู้รับประโยชน์เป็นนายเอกลูกชายซึ่งเกิดกับภรรยาคนก่อน  หลังจากนั้นอีก  2  ปี  ในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับนายชัยขับรถไปต่างจังหวัด  รถคว่ำเป็นเหตุให้นายชัยถึงแก่ความตาย  นางแววทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์จึงยื่นขอรับเงินประกัน  แต่บริษัทประกันภัยแจ้งว่าได้จ่ายเงินให้นายเอกไปแล้ว  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านางแววมีสิทธิเรียกร้องเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  891  วรรคแรก  แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี  ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้  เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว  และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

วินิจฉัย

แม้นายชัยระบุนางแววเป็นผู้รับประโยชน์ไว้แล้วก็ตาม  นายชัยย่อมมีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์เป็นนายเอกได้  เว้นแต่จะเข้าหลักเกณฑ์สองประการที่นายชัยจะโอนสิทธิตามสัญญาประกันชีวิตไปให้ผู้อื่นอีกไม่ได้คือ

1       ได้มีการส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่นางแววไปแล้ว

2       นางแววได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังบริษัทประกันภัยแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นางแววยังไม่ได้รับกรมธรรม์เพราะหนีออกจากบ้านไปก่อนที่บริษัทประกันส่งกรมธรรม์ฯ  มาให้และนางแววไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันชีวิต  นางแววบุคคลภายนอกจึงยังไม่มีสิทธิสมบูรณ์เนื่องจากยังไม่ครบหลักเกณฑ์  2  ข้อดังกล่าว

สรุป  นางแววไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิต 

Advertisement