การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  อุไรวรรณ  อยากออกเงินกู้เพื่อกินดอกเบี้ย  แต่ไม่อยากให้ใครทราบว่าเป็นเจ้าของเงิน  จึงมอบหมายให้สมชายเป็นผู้ออกเงินกู้แทน  แต่การตั้งตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ  อุไรวรรณมาสะดุดพฤติกรรมของสมชายที่มักจะนำเงินที่ตนมอบไว้ใช้ในกิจการและเงินที่ผู้กู้ชำระไปใช้เป็นส่วนตัว  ทำให้เกิดความเสียหายต่อกิจการ  อุไรวรรณจึงนำเรื่องนี้มาปรึกษาท่านว่าจะต้องทำอย่างไร  ให้แนะนำ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและ เข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการ ผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอัน เขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้น ได้ไม่

มาตรา 810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น

มาตรา  811  ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ  หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจกรรมของตัวการนั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย  ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้

มาตรา  812  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆเพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี  เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี  หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี  ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

มาตรา 815 ถ้าตัวแทนมีประสงค์ไซร้ ตัวการต้องจ่ายเงินทดรอง ให้แก่ตัวแทนตามจำนวนที่จำเป็น เพื่อทำการอันมอบหมายแก่ตัวแทนนั้น

มาตรา  827  ตัวการจะถอนตัวแทน และตัวแทนจะบอกเลิกเป็น ตัวแทนเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ

วินิจฉัยข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่อุไรวรรณว่า  โดยหลักแล้วกิจการใด  กฎหมายบังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ  หรือว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย  แต่กรณีนี้อุไรวรรณตัวการเจ้าหนี้เงินกู้ไม่อยากให้ใครทราบว่าตนเป็นเจ้าของเงิน  จึงมอบหมายให้สมชายเป็นผู้ออกเงินกู้แทน  แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวการและตัวแทนในกรณีนี้  อยู่ในฐานะเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ  ตามมาตรา  806  ดังนั้นจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  798  คือ  ไม่ต้องทำสัญญาตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ  หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด (ฎ. 531/2537)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสมชายตัวแทนเอาเงินที่ตัวการมอบไว้ใช้ในกิจการ  ตามมาตรา  815  และเงินที่ผู้กู้ชำระให้แก่สมชายไปใช้เป็นการส่วนตัว  ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการอันพึงกระทำเนื่องในการเป็นตัวแทน  ซึ่งโดยหลักแล้วตัวแทนจะต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น  ตามมาตรา  810  วรรคแรก  สมชายจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้  ตามมาตรา  811  ทั้งนี้หากตัวการได้รับความเสียหาย  ตัวการอาจเรียกให้ตัวแทนรับผิดได้  ตามมาตรา  812

นอกจากนี้อุไรวรรณตัวการมีสิทธิเรียกให้สมชายโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เป็นชื่อของตนได้  ตามมาตรา  810  วรรคสองประกอบมาตรา  806  และยังมีสิทธิถอนตัวแทน  ตามมาตรา  827  ได้อีกด้วย 

 

ข้อ  2  นายบูรพา  ผู้จัดการบริษัทบรรหารสินทรัพย์  จำกัด  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน (เฉพาะอสังหาริมทรัพย์)  มาบริหาร  ผู้จัดการอยากได้ที่ดินแปลงสวยที่บริษัทซื้อมาเป็นของตนแต่เกรงข้อครหา  จึงมอบให้  นางแม้นมาศผู้เป็นภรรยามาซื้อ  ต่อมาเมื่อทางบริษัททราบจึงเรียกให้ผู้จัดการ  โอนที่ดินคืนบริษัท  นายบูรพาไม่ยอม  อ้างว่าไม่เกี่ยวกับตน  เป็นเรื่องของภรรยา  ตนเพียงแต่ให้ความยินยอมเท่านั้น  ข้ออ้างของนายบูรพาฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใดธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งจำเป็น  เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา  805  ตัวแทนนั้น  เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ  จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง หรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่  เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

ตามปกติแล้ว  ตัวแทนจะต้องเข้าทำนิติกรรมแทนตัวการตามที่ได้รับมอบหมายนั้นกับบุคคลอื่นเท่านั้น  ดังนั้นกฎหมายจึงห้ามตัวแทนกระทำการดังต่อไปนี้

(1)  ตัวแทนไม่อาจเข้าทำนิติกรรมใดในนามของตัวการทำกับตนเอง  หรือในนามของตนเอง

(2) ตัวแทนไม่อาจเข้าทำนิติกรรมอันใดแทนตัวการกับตนเองในฐานะที่ตนเองเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกที่จะเข้าเป็นคู่สัญญา

แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่  2  ประการคือ  ตัวแทนนั้นได้รับความยินยอมจากตัวการแล้ว  หรือนิติกรรมนั้นเพื่อการชำระหนี้

กรณีตามอุทาหรณ์  จะเห็นว่าในการซื้อที่ดินนั้น  นางแม้นมาศเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจเฉพาะกาลจากนายบูรพา  ตามมาตรา  800  แต่เมื่อนายบูรพาผู้แทนบริษัท  ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมอยู่ในฐานะตัวแทนของบริษัทบรรหารสินทรัพย์  จำกัด  ย่อมต้องห้ามทำนิติกรรมกับบริษัทบรรหารสินทรัพย์ฯซึ่งเป็นตัวการโดยตรง  ตามมาตรา  805  แม้นายบูรพาจะให้นางแม้นมาศภรรยาเป็นผู้ซื้อก็ตาม  ก็ถือเป็นกรณีที่นายบูรพาตัวแทนบริษัทฯเข้าทำสัญญาซื้อที่ดินในนามของบริษัททำกับนายบูรพาเอง  โดยอาศัยนางแม้นมาศเป็นเครื่องมือ  เมื่อนายบูรพาไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทฯซึ่งเป็นตัวการ  ย่อมถือว่าตัวแทนทำนอกขอบอำนาจ  สัญญานั้นย่อมไม่มีผลผูกพันบริษัทฯ  ตัวการ  ตามมาตรา  823  บริษัทฯมีสิทธิเรียกที่ดินคืนได้ (ฎ. 1966/2526)

ดังนั้น  ข้ออ้างของนายบูรพาที่ว่าไม่เกี่ยวกับตน  เป็นเรื่องของภรรยา  ตนเป็นเพียงแต่ให้ความยินยอมเท่านั้น  จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของนายบูรพาฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  บัญชามอบหมายให้สุภาพ  นำที่ดิน  น.ส.3  จำนวนห้าสิบไร่  ไปจัดแบ่งเป็นแปลงแปลงละหนึ่งไร่  เพื่อขายโดยให้ค่านายหน้าร้อยละห้า  สุภาพดำเนินการจัดรูปถนนแบ่งแปลงได้สามสิบห้าแปลง  เสียค่าใช้จ่ายไปสามแสนบาท  เมื่อสุภาพเปิดจองมีคนนอกทำสัญญาจองกับตนครบหมดทุกแปลง  บัญชาเห็นที่ดินจัดรูปแล้วดูสวย  ตัดใจไม่ขาย  อยากทราบว่าสุภาพจะเรียกค่าใช้จ่ายและค่านายหน้าได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งจำเป็น  เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา  816  ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น  ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป  ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้  ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้

มาตรา 845  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  สุภาพจะเรียกค่าใช้จ่ายจากบัญชาตัวการได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่บัญชามอบหมายให้สุภาพนำที่ดิน  น.ส.3  ของตนจำนวน  50  ไร่  ไปจัดแบ่งเป็นแปลงๆละ 1 ไร่  เพื่อขาย  การจัดแบ่งแปลงที่ดินถือเป็นการมอบอำนาจเฉพาะการ  ตามมาตรา  800  เมื่อสุภาพได้ดำเนินการและเสียค่าใช้จ่ายไปในการจัดทำกิจการอันบัญชาตัวการมอบหมาย  ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็น  สุภาพมีสิทธิเรียกเอาเงินชดใช้จากบัญชาตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นได้ตามมาตรา  816  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  สุภาพเรียกค่าบำเหน็จจากการเป็นนายหน้าขายที่ดินของบัญชาได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่นายหน้าจะมีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าตามมาตรา  845  ได้นั้น  จะต้องปรากฏว่า

1       มีการตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า

2       มีการชี้ช่องหรือจัดการให้มีการทำสัญญากัน

3       ต้องมีการเข้าทำสัญญากันสำเร็จ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ที่ดินของบัญชานำมาแบ่งขายได้  35  แปลง  มีผู้มาจองซื้อแล้วครบทุกแปลงโดยได้ทำสัญญาจองกันไว้  แม้บัญชาจะตกลงว่าจะให้ค่านายหน้าแก่สุภาพ และสุภาพได้มีการชี้ช่องหรือจัดการให้มีการจองซื้อเพื่อจะได้ทำสัญญากันต่อไปก็ตาม  แต่สัญญาจองเป็นเพียงหนังสือแจ้งความประสงค์จะจองที่ดินที่จะขายเท่านั้น  ส่วนสัญญาซื้อขายจะได้ทำกันกับบัญชาอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างบัญชากับผู้ซื้อยังไม่ได้ทำกันสำเร็จเพราะบัญชาไม่ต้องการขายอีกต่อไป  ผลจากการชี้ช่องหรือจัดการของสุภาพที่ทำการเป็นนายหน้าจึงยังไม่เกิดขึ้น  สุภาพจึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าบำเหน็จในการเป็นนายหน้าจากบัญชา  ตามมาตรา  845  (ฎ. 5335/2500)

สรุป  สุภาพมีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายได้  แต่เรียกค่าบำเหน็จนายหน้าไม่ได้

Advertisement