การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายวันมอบอำนาจให้นายเดือนนำรถบรรทุกสิบล้อออกให้เช่า  โดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนเป็นเงิน  300  บาท  ปรากฏว่านายเดือนนำรถบรรทุกไปให้นายปีเช่าเป็นระยะเวลา  1  เดือน  โดยคิดค่าเช่าวันละ  2,000  บาท  เมื่อนายปีนำรถออกไปขับได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น  นายปีได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไป  ส่วนยางล้อด้านซ้ายของรถบรรทุกระเบิดเสียหายเป็นเงิน  7,000  บาท  เมื่อนายวันและนายเดือนทราบเรื่องได้พากันไปที่เกิดเหตุ  ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง  นายเดือนจึงเรียกร้องให้นายวันจ่ายบำเหน็จ  แต่นายวันได้ปฏิเสธไม่จ่ายและเรียกร้องให้นายเดือนชดใช้ค่าเสียหาย  7,000  บาท  และค่าเช่า  2,000  บาท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้ออ้างของใครฟังขึ้นหรือฟังไม่ขึ้น  เพราะเหตุใด

 ธงคำตอบ

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

มาตรา  817  ในกรณีที่มีบำเหน็จตัวแทนถ้าไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าบำเหน็จนั้นพึงจ่ายให้ต่อเมื่อการเป็นตัวแทนได้สิ้นสุดลงแล้ว

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

 วินิจฉัย

การที่นายวันมอบอำนาจให้นายเดือนนำรถบรรทุกสิบล้อออกให้เช่าโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนเป็นเงิน  300  บาท  เมื่อนายวันตัวการตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนตัวแทนจึงทำให้นายเดือนมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามมาตรา  803

นายเดือนตัวแทนนำรถบรรทุกไปให้นายปีบุคคลภายนอกเช่าเป็นระยะเวลา  1  เดือน  โดยคิดค่าเช่าวันละ  2,000  บาท  เมื่อนายปีนำรถออกไปขับได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น  ยางล้อด้านซ้ายของรถบรรทุกระเบิดเสียหายเป็นเงิน  7,000  บาท  เห็นว่าเมื่อนายเดือนตัวแทนได้กระทำการในขอบอำนาจแล้วนายวันตัวการต้องผูกพันกับนายปีผู้เช่าที่เป็นบุคคลภายนอกตามสัญญาเช่าตามมาตรา  820  เมื่อรถบรรทุกได้รับความเสียหาย  และนายวันไม่ได้รับชำระค่าเช่า  

นายวันตัวการต้องไปว่ากล่าวเอากับนายเดือนบุคคลภายนอกตามสัญญาเช่า  ดังนั้นข้ออ้างของนายวันจึงฟังไม่ขึ้น  เมื่อกิจการนั้นผูกพันตัวการแล้ว  ตัวแทนย่อมหลุดพ้นจากความผูกพันหรือความรับผิดตามมาตรา  820  ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น  ก็มิได้เกิดเพราะความผิดของตัวแทน  นายวันตัวการจะปฏิเสธไม่จ่ายและเรียกร้องให้นายเดือนชดใช้ค่าเสียหายและค่าเช่าไม่ได้

เมื่อระหว่างนายวันและนายเดือนไม่ได้ตกลงเรื่องการจ่ายบำเหน็จว่าต้องจ่ายเมื่อใด  กฎหมายกำหนดให้จ่ายเมื่อการเป็นตัวการตัวแทนสิ้นสุดลง  ตามมาตรา  817  เมื่อปรากฏว่าการเป็นตัวการตัวแทนสิ้นสุดแล้ว  นายเดือนตัวแทนจึงมีสิทธิเรียกร้องบำเหน็จจากนายวันตัวการได้

สรุป  ข้ออ้างของนายวันตัวการฟังไม่ขึ้น  แต่ข้ออ้างของนายเดือนฟังขึ้น  ตามมาตรา  803  มาตรา  817  และมาตรา  820

 

ข้อ  2  นายสันติเป็นเจ้าของร้านทองรูปพรรณซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช  นายมิ่งขวัญต้องการขายทองคำแท่งหนัก  100  บาท  จึงได้มอบให้นายสันติเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำของตน  โดยตกลงว่าถ้าขายได้จะจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน  20,000  บาท  ให้แก่นายสันติ  ปรากฏว่าก่อนนำทองคำแท่งมาฝากขายราคาทองคำแท่งบาทละ  10,500  บาท  นายมิ่งขวัญได้บอกแก่นายสันติว่าถ้าราคาทองคำแท่งสูงกว่านี้ให้นายสันติขายทองคำแท่งให้ด้วย  ต่อมาวันที่  15  กุมภาพันธ์  2550  ปรากฏว่าราคาทองคำแท่งตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ  10,300  บาท  นายสันติต้องการซื้อทองคำดังกล่าวไว้เองเพื่อหวังผลกำไรในภายหน้าจึงได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้นายมิ่งขวัญทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง  นายมิ่งขวัญไม่ได้บอกปัดในทันที  ดังนี้อยากทราบว่าสัญญาซื้อขายทองคำแท่งเกิดขึ้นหรือไม่  และนายสันติจะได้รับเงินบำเหน็จจากนายมิ่งขวัญหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 843  ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้  เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น  ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น  ณ  สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการบอกกล่าวเช่นนั้น  ถ้าไม่บอกปัดเสียในที  ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น  ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้

วินิจฉัย  

นายมิ่งขวัญได้มอบให้นายสันติเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำแท่ง  หนัก  100  บาท  และตกลงจะจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายสันติ  ต่อมาราคาทองคำแท่งตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ   10,300  บาท  นายสันติต้องการซื้ทองคำแท่งดังกล่าวจึงโทรศัพท์ไปแจ้งให้นายมิ่งขวัญทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง  เมื่อนายมิ่งขวัญทราบว่านายสันติต้องการจะซื้อ  ถ้าตนไม่ต้องการจะขายจะต้องบอกปัดเสียในทันที  แต่ปรากฏว่านายมิ่งขวัญไม่บอกปัดในทันทีที่ได้รับแจ้ง  กรณีนี้ให้ถือว่านายมิ่งขวัญตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว  สัญญาซื้อขายทองคำแท่งจึงเกดขึ้นตามมาตรา  843  วรรคสอง

ส่วนกรณีบำเหน็จ  นายมิ่งขวัญตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายสันติถ้าขายทองคำแท่งได้เป็นเงิน  จำนวน  20,000  บาท  แม้นายสันติจะเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งเหล่านั้นเอง  นายสันติก็ย่อมคิดเอาบำเหน็จได้ตามมาตรา  843  วรรคท้าย

สรุป  สัญญาซื้อขายทองคำแท่งเกิดขึ้นและนายสันติมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากนายมิ่งขวัญ

 

ข้อ  3  นายคิมเป็นเจ้าของที่ดินที่ต้องการขายโดยมีนางฟ้าเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมาย  นางฟ้าติดต่อให้นายอากาศเป็นผู้ขายซึ่งนายคิมรู้เห็นด้วย  นายอากาศนำเสนอที่ดินแปลงดังกล่าวขายให้นายน้ำและนายน้ำตกลงซื้อ  นายอากาศนำนายน้ำเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนายคิมและต่อมาได้โอนกันในที่สุด  หลังจากนั้นนายอากาศได้มาขอค่านายหน้าจากนายคิม  แต่นายคิมปฏิเสธไม่จ่ายโดยอ้างว่าไม่ได้มอบหมายให้นายอากาศเป็นนายหน้า  นายอากาศไม่พอใจจึงได้ฟ้องเรียกค่านายหน้าหากท่านเป็นศาลท่านจะสั่งให้นายคิมจ่ายค่านายหน้าหรือไม่อย่างไร  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

วินิจฉัย

สัญญาให้ค่านายหน้าซึ่งภริยาเป็นผู้ตกลงติดต่อกับนายหน้าให้ขายที่ดินซึ่งมีชื่อของสามี  โดยสามีรู้เห็นยินยอมด้วยและยอมรับเอาผลตามที่ภริยาติดต่อให้นายอากาศเป็นนายหน้าจนได้มีการขายที่ดินได้สมความตั้งใจ  ซึ่งถือว่านายอากาศเป็นนายหน้าได้สมบูรณ์  ตามมาตรา 845  ครบถ้วนแล้ว  แม้จะมิได้ติดต่อกับนายคิมโดยตรงก็ตาม  การที่นายอากาศติดต่อกับนางฟ้าซึ่งนายคิมผู้สามีรู้เห็นด้วย  แม้ไม่ได้มอบหมายโดยตรงแต่ก็ถือได้ว่านายคิมยอมรับผลนั้น  นยคิมก็ต้องรับผิดจ่ายค่านายหน้าให้นายอากาศและถือได้ว่านางฟ้าเป็นตัวแทนของนายคิมผู้สามีในการทำสัญญานายหน้า(ฎ. 575/2509)

สรุป  นายคิมต้องจ่ายค่านายหน้าแก่นายอากาศ

Advertisement