การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเอกแต่งตั้งนายโทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครีมเสริมทรวงอก  โดยตกลงจะให้บำเหน็จนายโทร้อยละ  10  ของราคาขาย  ปรากฏว่า  ในวันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  นายโทได้ว่าจ้างนางแบบมาโชว์วิธีการและสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ให้สื่อมวลชนดู  ซึ่งสื่อมวลชนก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก  เนื่องจากว่าการกระทำของนายโทดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญาถือว่าเป็นความผิด  ทำให้นายเอกเสียชื่อเสียง  แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้มีผู้สนใจมาซื้อผลิตภัณฑ์มากขึ้นกว่าเดิม  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายเอกจะต้องจ่ายบำเหน็จให้นายโทจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งจำเป็น  เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

มาตรา  818  การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น  ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บำเหน็จ

วินิจฉัย

ตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจเฉพาะการมีอำนาจกระทำการได้แต่เฉพาะในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้กิจการที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงไป  ตามมาตรา  800  กล่าวคือ  หากไม่ทำสิ่งนั้นๆ  แล้ว  กิจการที่ได้รับมอบหมายก็ไม่อาจที่จะสำเร็จลุล่วงไปได้เช่นกัน ถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ตัวแทนมีอำนาจที่จะกระทำและผูกพันตัวการด้วย

การที่นายเอกตั้งนายโทเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ครีมเสริมทรวงอก  และนายโทได้ว่าจ้างนางแบบมาโชว์สาธิตผลิตภัณฑ์  ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นการกระทำในสิ่งที่จำเป็นแล้ว  หาใช่ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่  แม้ว่าจะทำให้นายเอกเสียชื่อเสียงก็ตาม  เมื่อนายโทกระทำการภายในขอบอำนาจตามมาตรา  800  และขายผลิตภัณฑ์ให้นายเอกได้ตามที่ตกลงกัน  นายโทตัวแทนจึงมีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จตัวแทนตามมาตรา  803  ประกอบมาตรา  818

สรุป  นายเอก  ต้องจ่ายบำเหน็จให้นายโทร้อยละ  10  ตามที่ตกลงไว้  เพราะนายโทมิได้กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด  ตามมาตรา  803  ประกอบมาตรา  818

 

ข้อ  2  บุญส่งมีอาชีพเหมาถมที่  เมื่อได้งานถมที่สนามบินแห่งใหม่  บุญส่งให้บุญมากนำรถบรรทุกดินมาวิ่งร่วมด้วย  และเพื่อความสะดวกในการขนส่ง  บุญส่งอนุญาตให้บุญมากนำเครื่องหมายขนส่งของตนติดไว้หน้ารถ  บุญมากขับรถบรรทุกดินโดยประมาท  ชนรถเก๋งของอรทัยเสียหายยับเยินอรทัยบาดเจ็บ  บุญส่งต้องร่วมรับผิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางที่จ้างนั้น 

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  รู้แล้วย่อมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

วินิจฉัย

บุญส่งมีอาชีพรับเหมาถมที่  เมื่อได้งานถมที่  บุญส่งให้บุญมากนำรถบรรทุกดินมาวิ่งร่วมด้วย  และยังอนุญาตให้บุญมากนำเครื่องหมายขนส่งของตนติดไว้หน้ารถ  ดังนี้  การที่บุญส่งอนุญาตให้บุญมากนำเครื่องหมายขนส่งของตนติดหน้ารถของบุญมาก  ถือได้ว่าบุญส่งเชิญบุญมากเป็นตัวแทนของตน  เมื่อบุญมากตัวแทนประมาทก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  บุญส่งต้องร่วมรับผิดกับบุญมากตามมาตรา  427 ประกอบมาตรา  425  ที่บัญญัติให้ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในการละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน  ตามมาตรา  821  (ฎ. 2452/2531)

สรุป  บุญส่งต้องร่วมรับผิดกับบุญมาก

 

ข้อ  3  นายวันมีที่ดินว่างอยู่  จึงต้องการหาคนมาเช่าที่ดินของตนจึงได้บอกนายสองให้ช่วยหาผู้มาเช่าที่ดินดังกล่าว  หากนายสองหาคนมาเช่าที่ดินได้จะให้ค่าตอบแทน  50,000  บาท  ต่อมานายสองทราบว่านายอังคารกำลังหาที่ดินเช่าอยู่  นายสองจึงบอกนายอังคารถึงที่ดินของนายวัน  แต่นายอังคารยังไม่ตัดสินใจเพราะเห็นว่าราคาเช่าที่ดินของนายวันแพงเกินไป  หลังจากนั้นอีก  6  เดือน  นายอังคารตกลงใจว่าจะเช่าที่ดินของนายวันจึงไปติดต่อนายวันด้วยตัวเอง  โดยไม่ได้ติดต่อผ่านนายสอง  และต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกัน  เช่นนี้  หากนายสองจะเรียกบำเหน็จค่านายหน้าจากนายวันจะกระทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

การที่นายวันได้ตกลงให้นายสองเป็นนายหน้าหาคนมาเช่าที่ดินของนายวัน  และได้ตกลงว่าจะให้ค่าบำเหน็จ  50,000  บาท  จะเห็นได้ว่า นายสองได้ชี้ช่องให้นายอังคารซึ่งกำลังหาที่ดินเพื่อเช่าอยู่ได้เข้าทำสัญญาเช่ากับนายวันแล้ว  แม้นายอังคารจะมิได้ตกลงใจทันทีก็ตาม  แต่ในท้ายสุด  นายอังคารก็เข้าทำสัญญาเช่า

ดังนั้น  การเข้าทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจึงเกิดจากการชี้ช่องของนายสอง  นายหน้าของนายวันแล้ว  และย่อมมีสิทธิในอันจะเรียกบำเหน็จค่านายหน้าจากนายวันได้ตามมาตรา  845  วรรคแรก

สรุป  นายสองเรียกบำเหน็จค่านายหน้า  จำนวน  50,000  บาท  จากนายวันได้

Advertisement