การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายดำมอบให้นายแดงเอารถยนต์ไปขาย  ในขณะที่นายแดงนำรถยนต์ออกตระเวนขายไปตามปกติ  ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้เกิดไฟไหม้เสียหายทั้งคันโดยไม่ทราบสาเหตุ  หากนายแดงได้เสียค่าใช้จ่ายในการนี้ไปก่อนแล้ว  อาทิเช่น  ค่าน้ำมันรถ  ค่าเติมน้ำมันเครื่อง  ค่าเปลี่ยนยางรถยนต์  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายแดงจะมีสิทธิในการเรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ  ที่ว่านี้จากนายดำหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน  มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการดังนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตรา  816  ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น  ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป  ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้  ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

วินิจฉัย

นายดำมอบให้นายแดงเอารถยนต์ของตนออกขายแสดงว่ามอบให้ไปติดต่อผูกพันกับบุคคลภายนอก  หรือบุคคลที่สาม  ข้อตกลงระหว่างนายดำกับนายแดงจึงเป็นสัญญาตัวแทนตามมาตา  797  ประกอบมาตรา  820  เมื่อเกิดสัญญาแล้ว  คู่สัญญาย่อมมีสิทธิหน้าที่ซึ่งกันและกันตามที่ได้ตกลงกันไว้  แม้ตามอุทาหรณ์นายแดงตัวแทนจะยังไม่ทันได้เข้าผูกพันกับบุคลภายนอกคือผู้ซื้อรถยนต์เลยก็ตาม  แต่ก็เป็นสัญญาตัวแทนที่สมบูรณ์อยู่  ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สามเป็นเพียงวัตถุประสงค์ของสัญญาเท่านั้น  ไม่ใช่ความสมบูรณ์ของสัญญาตัวแทนแต่อย่างใด  และแม้วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะกลายเป็นพ้นวิสัย  ตัวการคือนายดำก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายต่างๆ  ที่นายแดงได้จ่ายไปก่อนแล้ว  รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ  ดังกล่าวนี้ด้วย  เพราะถือว่าเป็นเหตุที่ควรนับว่าเป็นการจำเป็นในการที่ได้จ่ายไปเช่นนั้นในการจัดทำกิจการอันตัวการมอบหมายให้แก่ตน  ตามมาตรา  816

สรุป  นายแดงมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายต่างๆนั้นจากนายดำ

 

ข้อ  2  นายเอกเปิดร้านขายคอมพิวเตอร์อยู่ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า  นายโทมีคอมพิวเตอร์ใช้แล้วหนึ่งเครื่องต้องการขายเพื่อซื้อเครื่องใหม่  จึงได้นำคอมพิวเตอร์ของตนไปฝากนายเอกขายในราคา  20,000  บาท  โดยตกลงกันว่าถ้าขายได้จะให้ค่าตอบแทนจำนวน  2,000  บาท  ปรากฏว่านายเอกได้ขายคอมพิวเตอร์ให้นายตรีในราคา  19,000  บาท  ดังนี้อยากทราบว่า

(ก)  ถ้านายเอกจ่ายค่าคอมพิวเตอร์ให้นายโทจำนวน  19,000  บาท  นายโทจะปฏิเสธไม่ยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และถ้านายเอกรับใช้เศษเงินที่ขาดไปจำนวน  1,000  บาท  นายโทจะปฏิเสธไม่รับการขายดังกล่าวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  ถ้านายเอกขายคอมพิวเตอร์ได้ราคา  21,000  บาท  นายเอกจะกันเงินจำนวน  1,000  บาทไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวได้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  812  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆเพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี  เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี  หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี  ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

มาตรา  839  ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายเป็นราคาต่ำไปกว่าที่ตัวการกำหนด  หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดนั้นแล้ว  ท่านว่าการขาย อันนั้นตัวการก็ต้องรับขาย

มาตรา  840  ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด  ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่  ต้องคิดให้แก่ตัวการ

วินิจฉัย

(ก)  ถ้านายเอกจ่ายค่าคอมพิวเตอร์ให้นายโทจำนวน  19,000  บาท  นายโทมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวได้  เพราะนายโทได้ตกลงให้นายเอกขายในราคา  20,000  บาท  แต่นายเอกขายไปในราคา  19,000  บาท  เป็นการขายต่ำกว่าราคาที่กำหนด  ถือว่าเป็นการขายโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจซึ่งทำให้นายโทได้รับความเสียหาย  นายเอกจึงต้องรับผิดต่อนายโทตามมาตรา  812  และถ้านายเอกรับใช้เศษเงินที่ขาดไปจำนวน  1,000  บาท  นายโทจะปฏิเสธไม่รับการขายดังกล่าวไม่ได้  นายโทตัวการจะต้องยอมรับการขายนั้นตามมาตรา  839  เพราะนายโทได้รับเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ครบแล้ว  ถือว่าการขายมีผลสมบูรณ์และถือเสมือนว่านายโทตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การขายนั้นแล้ว

(ข)  ถ้านายเอกขายคอมพิวเตอร์ได้ราคา  21,000  บาท  นายเอกจะกันเงินจำนวน  1,000  บาท  ไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ได้  เพราะตัวแทนค้าต่างจะแสวงหาประโยชน์จากการเป็นตัวแทนนอกเหนือจากค่าบำเหน็จที่ตกลงกันไว้ไม่ได้  เพราะผลกำไรจากกิจการนั้นมีจำนวนเท่าใดก็ต้องตกเป็นของตัวการ  ตัวแทนค้าต่างจะเก็บไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ได้ตามมาตรา  840

 

ข้อ  3  นายเอกต้องการจะขายรถยนต์คันหนึ่ง  จึงได้ขอให้เด็กชายโทอายุ  13  ปี  ช่วยติดต่อหาคนซื้อโดยตกลงจะให้ค่านายหน้าไว้  เด็กชายโทสืบทราบว่านายตรีต้องการจะซื้อรถยนต์  จึงพานายตรีไปพบนายเอกจนได้มีการวางมัดจำและตกลงจะชำระเงินที่เหลือในวันที่ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก  แต่ต่อมาไม่มีการจดทะเบียนกัน  ดังนี้  นายเอกจะปฏิเสธความรับผิดค่าบำเหน็จนายหน้าโดยอ้างว่าเด็กชายโทเป็นผู้เยาว์  และไม่มีการซื้อขายรถยนต์กัน  เช่นนี้จะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

ผู้เยาว์เป็นนายหน้าได้หรือไม่  เห็นว่า  ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามเลยว่าผู้ไร้ความสามารถเป็นนายหน้าไม่ได้  ประกอบกับเมื่อพิจารณาหน้าที่ของนายหน้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  845  แล้วเห็นว่า  นายหน้านั้นมีหน้าที่ชี้ช่องจัดการให้เขาได้ทำสัญญากันเท่านั้น  นายหน้าไม่ได้เข้าทำสัญญาเองเลย  และก็ไม่ได้ทำแทนใครด้วย  บุคคลผู้ไร้ความสามารถเช่นผู้เยาว์หรือเด็กชายโทตามอุทาหรณ์นี้จึงอาจเป็นนายหน้าได้

เด็กชายโทมีสิทธิได้รับบำเหน็จนายหน้าหรือไม่  เห็นว่าการที่เด็กชายโทพานายตรีไปซื้อรถยนต์จากนายเอก  โดยมีการวางมัดจำและตกลงจะไปชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่จดทะเบียน  ถือว่าเด็กชายโทได้ทำหน้าที่ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาเข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กันเสร็จแล้ว  นายเอกจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายบำเหน็จนายหน้าให้แก่เด็กชายโท  ตามมาตรา  845  แม้ว่าภายหลังจะไม่ได้มีการชำระหนี้ส่วนที่เหลือและไปจดทะเบียนก็ตาม  ดังนั้น  เด็กชายโทจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จ

สรุป  เด็กชายโทมีสิทธิเป็นนายหน้าได้  และมีสิทธิได้รับบำเหน็จนายหน้า

Advertisement