การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ  

ข้อ 1.  ก.มอบ ข. ให้เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป แต่มิได้มีการมอบหมายกันเป็นหนังสือ และตัวการก็ไปเที่ยวยุโรป  ขณะที่ ก.ตัวการอยู่ยุโรปนั้น ทางบริษัทได้มีปัญหาเกิดขึ้นโดย ข.ตัวแทนได้ไปตรวจสอบความเรียบร้อย ปรากฏว่า ข.พบว่า มีลูกค้าบางรายของบริษัทยังมิได้ชำระหนี้ให้กับบริษัท เป็นเงินถึง 300,000 บาท  ข.ติดต่อ ก. ตัวการไม่ได้  และถ้าไม่ฟ้องลูกหนี้เสีย จะทำให้คดีขาดอายุความฟ้องร้อง  จะทำให้เรียกเก็บเงิน 300,000 บาทไม่ได้  ข.จึงตัดสินใจใช้เหตุฉุกเฉินตั้ง ค. เป็นตัวแทนช่วงเพื่อฟ้องคดี  ให้ท่านวินิจฉัยว่า การกระทำใด ๆ ที่ ค. ทำไปนั้น จะผูกพันตัวการหรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วยมาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจการใดๆ  ในทางจักการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

(5)          ยื่นฟ้องต่อศาล

มาตรา  802  ในเหตุฉุกเฉิน  เพื่อป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะทำการใดๆ  เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำ  ก็ย่อมมีอำนาจจะกระทำได้ทั้งสิ้น

มาตรา  814  ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใด  กลับกันก็ฉันนั้น 

วินิจฉัย

ตามปัญหา การมอบหมายให้เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป ตามป.พ.พ. ม. 801 ก. มอบ ข. มิได้ทำเป็นหนังสือ ดังนั้นจึงถือว่า ก. มิได้มอบอำนาจทั่วไปให้ ข. โดยถูกต้องตามกฎหมายมาตรา 798

อีกทั้ง การที่ตัวแทนนั้นจะใช้เหตุฉุกเฉินได้ตาม ม. 802 ระหว่าง ก. กับ ข. หรือตัวการตัวแทนนั้นจะต้องเป็นตัวการตัวแทนกันก่อน คือ ต้องมีการมอบหมายเป็นตัวการตัวแทนเป็นหนังสือตาม ม. 798

ดังนั้น ข. จึงไม่มีอำนาจตั้ง ค. เป็นตัวแทนช่วงเพื่อฟ้องคดี และการใด ๆ ที่ ค. ตัวแทนช่วงทำไปจึงหาผูกพัน ก. ตัวการไม่ เพราะ ก. ฝ่าฝืน ม. 798

 

ข้อ 2.   นางดาราได้นำทองคำแท่งหนัก 20 บาท ไปฝากนายสมบูรณ์ซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างขาย  นางดาราได้ตกลงกับนายสมบูรณ์ว่า ถ้าขายทองคำแท่งได้จะให้บำเหน็จแก่นายสมบูรณ์ เป็นเงิน 3,000 บาท  ปรากฏว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2551  ราคาทองคำตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ 12,500 บาท นายสมบูรณ์เห็นว่าราคาทองคำลดลงต่ำกว่าราคาก่อนหน้านี้  ถ้าซื้อเก็บไว้ขายอาจจะได้กำไร   นายสมบูรณ์ต้องการซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง จึงได้โทรศัพท์ติดต่อขอซื้อทองคำแท่งจากนางดารา เมื่อนางดาราได้รับคำบอกกล่าวแล้วแต่นิ่งเฉยเสีย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การขอซื้อทองคำแท่งของนายสมบูรณ์เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด  และนายสมบูรณ์มีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จจำนวน 3,000 บาทหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย

 มาตรา 843  ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้  เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น  ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น  ณ  สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการบอกกล่าวเช่นนั้น  ถ้าไม่บอกปัดเสียในที  ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น  ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้

วินิจฉัย  

ตามอุทาหรณ์ นางดาราได้นำทองคำแท่งหนัก 20 บาท ไปฝากนายสมบูรณ์ซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างขาย  โดยตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายสมบูรณ์เป็นเงิน 3,000 บาท การขายทองคำแท่งเป็นการขายตามราคาตลาดโลก ซึ่งนายสมบูรณ์ไม่มีสิทธิที่จะกำหนดราคาได้เอง นายสมบูรณ์เห็นว่า ราคาทองคำลดลงจึงมีสิทธิที่จะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวได้ตามราคาตลาดคือ ราคาบาทละ 12,500 บาท เมื่อนายสมบูรณ์แจ้งทางโทรศัพท์ให้นางดาราทราบว่าตนจะซื้อ เมื่อนางดาราได้รับคำบอกกล่าวแล้ว แต่นิ่งเฉยเสียไม่ได้บอกปัดในทันที ถือว่านางดาราซึ่งเป็นตัวการได้สนองรับการนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 843 วรรคแรก

ดังนั้น สัญญาซื้อขายทองคำแท่งของนายสมบูรณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว และนายสมบูรณ์ย่อมมีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จจำนวน 3,000 บาทด้วย เพราะตัวแทนค้าต่างแม้จะเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง จะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 843 วรรคท้าย

 

ข้อ 3.   ก.ต้องการจะขายที่ดินจึงทำป้ายไปปิดไว้ว่า  “ที่ดินแปลงนี้ขาย  ติดต่อเบอร์โทร. ดังนี้ ……….. ข.ขับรถผ่านมาเห็นป้ายที่ ก.ติดไว้ที่ที่ดิน ข.นึกขึ้นได้ว่า ค.ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัท ข. ให้ช่วยหาที่ดินแถวบริเวณนี้  พอดีว่า ค.ต้องการจะสร้างโรงงาน  ข.จึงโทรติดต่อกับ ก.โดยถามว่า ที่ดินแปลงนี้มีกี่ไร่ ขายไร่ละเท่าไร ลดได้หรือไม่ และ ข.ก็วางสายไป  ต่อจากนั้นอีก 3  วัน  ข.นำ ค.มาพบ ก.เพื่อซื้อที่ดิน  ก.กับ ค.ตกลงซื้อขายกันและโอนกันในที่สุด  ข.มาขอค่านายหน้าจาก ก.  ก.ปฏิเสธ โดย ก.อ้างว่า  ก.มิได้ตกลงมอบหมายให้ ข. เป็นนายหน้า  ข.ฟ้อง ก. เพื่อเรียกค่านายหน้า  ศาลวินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่ ข. โจทก์ทำไปฝ่ายเดียว โดย ก.จำเลยมิได้ตกลงรับรู้ด้วย  ข.เถียงว่า  การซื้อขายที่ดินเท่าที่ปฏิบัติกันทั่ว ๆ ไป  ก็เพื่อคาดหมายว่าจะได้ค่านายหน้า  จึงถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยาย

จากปัญหาข้อถกเถียงดังกล่าว  ถ้าท่านเป็นศาล จะวินิจฉัยให้โจทก์ได้บำเหน็จนายหน้าหรือไม่  ข้ออ้างของ ข. โจทก์ ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ 

หลักกฎหมาย

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

วินิจฉัย

ตามปัญหา ศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า การกระทำของ ข. นั้นเป็นนายหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะ ก. มิได้มอบหมายให้เป็นนายหน้าและข้ออ้างของ ข. ที่ว่า น่าจะเป็นการตกลงโดยปริบายตาม ม. 846 ว. แรก ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะเป็นการมอบหมายโดยปริยาย ก็ต้องมีการมอบหมายเช่นกัน ดังนั้น ข. จึงไม่ได้ค่านายหน้า

ข้ออ้างของ ข. ฟังไม่ขึ้นตามฎีกาที่ 705/2505

Advertisement