การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  ตกลงด้วยวาจาแต่งตั้งให้โทเป็นผู้ไปซื้อเครื่อง  Computer  จากร้านค้าในห้างพันธุ์ทิพย์  ปรากฏว่าโทได้ตกลงซื้อเครื่อง  Computer  จากร้านค้าของตรีในนามของเอก  เป็นเงินราคา  25,000  บาท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

ก)  หากการซื้อเครื่อง  Computer  ไม่มีการทำหลักฐานสัญญาซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร  แต่ตรีได้ส่งมอบเครื่อง  Computer  ให้โทแล้ว  ต่อมาเอกไม่ชำระค่า   Computer  ให้ตรี  โดยอ้างว่า  การตั้งโทเป็นตัวแทน  ไม่มีการทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร  ตนจึงไม่ต้อรับผิดชำระค่า  Computer  ให้ตรี  เช่นนี้  ข้ออ้างของเอกฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข)     เมื่อโทส่งมอบเครื่อง  Computer  ให้เอกแล้ว  โทเรียกบำเหน็จจากการไปซื้อเครื่อง  Computer  แทนเอก  เอกกลับปฏิเสธไม่ยอมชำระค่าบำเหน็จให้โท  เช่นนี้  โทจะฟ้องเรียกบำเหน็จจากเอกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

วินิจฉัย

ก)     การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่  20,000  บาท  ขึ้นไป  ถ้ามิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือวางมัดจำ  หรือการชำระหนี้บางส่วน  ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ (มาตรา  456)  โดยหลักเมื่อเป็นกิจการที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การแต่งตั้งตัวแทนก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเช่นกัน  มิฉะนั้นกิจการที่ตัวแทนได้กระทำลงไปก็จะไม่ผูกพันตัวการ  ตามมาตรา  798  วรรคสอง  แต่หากกิจการที่มอบหมายดังกล่าวกฎหมายให้เลือกทำหลักฐานในการฟ้องร้องได้หลายอย่าง  หากตัวแทนและบุคคลภายนอกเลือกที่จะทำหลักฐานในการฟ้องร้องโดยไม่ทำหลักฐานเป็นหนังสือ  เช่นนี้จะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  วรรคสอง  กล่าวคือแม้การตั้งตัวแทนไม่ทำหลักฐานเป็นหนัง  ตัวการก็ต้องถูกผูกพันในกิจการที่ตัวแทนได้กระทำลงไป  จะอ้างบทบัญญัติมาตรา  798  ขึ้นปฏิเสธความผูกพันต่อบุคคลภายนอกหาได้ไม่

เมื่อโทและตรีตกลงซื้อขาย  Computer  ในราคา  25,000  บาท  โดยไม่มีการทำหลักฐานสัญญาซื้อขาย  แต่ตรีได้ส่งมอบ  Computer  อันเป็นการชำระหนี้ฝ่ายผู้ขายให้โทตัวแทนฝ่ายผู้ซื้อแล้ว  การซื้อขายครั้งนี้จึงมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีแล้ว  แม้การแต่งตั้งโทจะกระทำด้วยวาจามิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือตาม  เอกก็ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย  Computer  ต่อตรีผู้ขาย  จะอ้างว่าการแต่งตั้งโทมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ  จึงไม่ต้องชำระค่า  Computer  ไม่ได้  เพราะกรณีนี้ได้มีการชำระหนี้  (ทั้งหมด/บางส่วน)  แล้ว  อันถือว่าการซื้อขายครั้งนี้มีหลักฐานในการฟ้องร้อง  ตามสัญญาซื้อขายแล้ว  กรณีจึงไม่ต้องอยู่ในบังคับมาตรา  798  วรรคสอง  เอกตัวการต้องผูกพันชำระค่า  Computer  ให้ตรีบุคคลภายนอก

ข)     โดยหลักแล้ว  ตัวแทนไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จหรือทางปฏิบัติที่ได้กระทำต่อกันมาเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือมีธรรมเนียมว่ามีบำเหน็จ  ตามมาตรา  803

เมื่อสัญญาระหว่างเอกกับโทมิได้กล่าวถึงบำเหน็จ  และไม่มีการประพฤติต่อกันเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเป็นธรรมเนียมว่ามีบำเหน็จแต่อย่างใด  ดังนั้นตามมาตรา  803  โทจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกบำเหน็จตัวแทนจากเอกตัวการ

สรุป 

ก)     ข้ออ้างเอกฟังไม่ขึ้น  เพราะกรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับมาตรา  798

ข)     โทจะฟ้องเรียกบำเหน็จจากเอกไม่ได้  เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะทำให้ตัวแทนมีสิทธิได้บำเหน็จตามมาตรา  803

 

ข้อ  2  ให้ท่านอธิบายความแตกต่างระหว่างตัวแทนธรรมดากับตัวแทนค้าต่างมาอย่างละ  4  ข้อ  พร้อมทั้งยกหลักมาตราประกอบด้วยทุกข้อ

ธงคำตอบ

ตัวแทนธรรมดา

(1) บุคคลมีอาชีพอะไรก็ได้สามารถเป็นตัวแทนธรรมดาได้  ตามมาตรา  797

(2) บุคคลผู้ไร้ความสามารถก็เป็นตัวแทนธรรมดาได้  ตามมาตรา  799

(3) ตัวแทนธรรมดา  จะมีบำเหน็จหรือไม่มีก็ได้สุดแท้จะตกลงกันตามมาตรา  803

(4) ตัวแทนธรรมดาทำการใดๆ  แทนตัวการ  ตามมาตรา  797

ตัวแทนค้าต่าง

(1) ต้องมีอาชีวะในทางค้าขาย  ตามมาตรา  833

(2) ต้องทำกิจการในนามของตนเองต่างตัวการเป็นคู่สัญญาโดยตรง  ตามมาตรา  844

(3) ผู้ไร้ความสามารถจึงเป็นตัวแทนค้าต่างไม่ได้  ตามมาตรา  836  เพราะอาจต้องเป็นโจทก์เองหรือในทางกลับกันอาจโดนฟ้องเป็นจำเลย

(4) ตัวแทนค้าต่าง  ชอบที่จะได้บำเหน็จ  ตามมาตรา  384

(หากนักศึกษาให้เหตุผลอื่นที่เข้าหลักเกณฑ์นอกเหนือจากแนวคำตอบข้างต้นนี้  การให้คะแนนให้อยู่ในดุลพินิจของอาจารย์ผู้ตรวจ)

 

ข้อ  3  นายแดงมีที่ดิน  1  แปลง  มีความจำเป็นต้องการขายที่ดินโดยเร็วเพื่อนำเงินไปชำระหนี้จำนอง  จึงได้ตกลงให้นายดำเป็นนายหน้าที่ดินแปลงดังกล่าว  และได้ตกลงจะให้ค่าบำเหน็จจำนวน  50,000  บาท  โดยสัญญานายหน้ามีข้อความระบุว่า  มอบให้นายหน้าไปจัดการให้จดทะเบียน  ณ  สำนักงานที่ดินให้เสร็จภายในกำหนด  10  วัน  นับแต่วันทำสัญญานี้  ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว  สัญญานายหน้าเป็นอันระงับสิ้นสุดลง  ต่อมา  นายดำได้พานายเขียวมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายแดง  แต่ไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้ภายใน  10  วัน  หลังจากนั้นนายดำได้มาขอรับค่าบำเหน็จนายหน้าจากนายแดง  โดยอ้างว่าได้จัดการชี้ช่องจนสำเร็จแล้ว  ดังนี้  อยากทราบว่านายแดงต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายดำหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น 

วินิจฉัย

การที่นายแดงได้มอบให้นายดำเป็นนายหน้าขายที่ดิน  1  แปลง  โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าจำนวน  50,000  บาท  แก่นายดำ แม้นายดำจะพานายเขียวมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายแดงอันถือว่าการชี้ช่องได้ทำกันสำเร็จตามมาตรา  845  วรรคแรก  แล้วก็ตาม  แต่เมื่อสัญญานายหน้าระบุว่า  มอบให้นายหน้าไปจัดการจดทะเบียนให้เสร็จภายใน  10  วัน  นับแต่วันทำสัญญา  ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว  สัญญานายหน้าเป็นอันระงับสิ้นสุดลง  อันมีความหมายว่า  เมื่อนายดำติดต่อหาผู้ซื้อได้แล้ว  นายดำจำต้องจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  นับแต่วันทำสัญญาด้วย  เป็นกรณีที่คู่สัญญามีเจตนากำหนดเวลาไว้แน่นอน  กำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญานายหน้าเมื่อครบกำหนด  10  วันแล้ว  และไม่ปรากฏว่านายแดงได้ผ่อนเวลาออกไปอีก  การที่นายดำไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้  จึงถือว่าสัญญานายหน้าได้สิ้นสุดลงตามสัญญาและไม่มีผลผูกพันคู่กรณี  นายแดงจึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายดำ  ตามมาตรา  845  วรรคแรก  (ฎ. 1118/2533) 

Advertisement