การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเดชประกอบธุรกิจทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป  มอบอำนาจให้นายเด่นไปซื้อผ้ามาใช้ในกิจการของตน  โดยนายเดชลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้นายเด่นไว้  แต่ไม่กรอกข้อความให้นายเด่นไปกรอกเอาเอง  นายเด่นกรอกข้อความลงไปในหนังสือมอบอำนาจตามที่ได้รับมอบหมายและกรอกเพิ่มเติมต่อไปว่า  ให้มีอำนาจกู้ยืมเงินภายในวงเงิน  100,000  บาท  แทนนายเดชด้วย  หลังจากนั้นนายเด่นซื้อเชื่อผ้าจากร้านของนายเด่นเอง  10,000  บาทมาใช้ในกิจการทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป  และนายเด่นใช้หนังสือมอบอำนาจนั้นกู้เงินจากนายเด้ง  100,000  บาท  มาใช้ส่วนตัว  โดยนายเด้งเชื่อว่านายเด่นมีอำนาจกู้เงินแทนนายเดชตามหนังสือมอบอำนาจ  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  นายเดชจะต้องชำระหนี้ค่าผ้า  10,000  บาท  แก่นายเดชและชำระหนี้เงินกู้  100,000  บาทแก่นายเด้งหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  805  ตัวแทนนั้น  เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ  จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง  หรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่  เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้

มาตรา  821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  รู้แล้วย่อมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา  822  ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน  แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน  ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การที่นายเดชมอบอำนาจให้นายเด่นซื้อผ้ามาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมิได้หมายความว่า  นายเดชยินยอมให้นายเด่นซื้อจากร้านของนายเด่นได้  เมื่อนายเดชไม่ยินยอม  การที่นายเด่นซื้อผ้าจากร้านของนายเด่นเอง  จึงเป็นการทำนิติกรรมซื้อขายในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง  ต้องห้ามตามมาตรา  805  การซื้อเชื่อผ้าไม่ผูกพันนายเดชตัวการ  นายเดชไม่ต้องชำระหนี้เสื้อผ้า  10,000  บาท  แก่นายเด่น  (ฎ. 1966/2526)

ส่วนที่นายเด่นตัวแทนกู้เงินนายเด้ง  100,000  บาท  เป็นการทำเกินอำนาจตัวแทน  แห่งพฤติการณ์ที่นายเดชลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ  โดยไม่กรอกข้อความให้นายเด่นไว้เพื่อให้นายเด่นทำการแทนนั้น  ถือได้ว่าทางปฏิบัติของนายเดชตัวการทำให้นายเด้งบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่า  การกู้ยืมเงินอยู่ภายในขอบอำนาจของนายเด่น  นายเดชต้องรับผิดต่อนายเด้งผู้สุจริต  ตามมาตรา  822  ประกอบมาตรา  821  ดังนั้นนายเดชต้องชำระหนี้เงินกู้  100,000  บาท  แก่นายเด้ง  (ฎ. 671/2523)

สรุป

1       นายเดชไม่ต้องชำระหนี้ค่าผ้า  10,000  บาท  แก่นายเด่น  ตามมาตรา  805

2       นายเดชต้องชำระหนี้เงินกู้  100,000  บาท  แก่นายเด้ง  ตามมาตรา  822  ประกอบมาตรา  821

 

ข้อ  2  นายสมชายเป็นเจ้าของร้านทองไทยเจริญ  ตั้งอยู่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นร้านขายทองรูปพรรณ  นายสมศักดิ์มีทองคำแท่งจำนวน  5  แท่ง  หนักแท่งละ  10  บาท  รวมราคาทองคำหนัก  50  บาท  ซึ่งซื้อไว้หลายปีมาแล้ว  นายสมศักดิ์ต้องการนำทองคำแท่งมาขายเพื่อนำเงินไปทำการค้าในวันที่  3  ตุลาคม  2546  นายสมศักดิ์จึงได้นำทองคำแท่งดังกล่าวไปฝากนายสมชายขายโดยตกลงกันว่าจะให้ค่าบำเหน็จร้อยละ  5  ปกติราคาทองคำจะขึ้นๆลงๆ  ตามราคาตลาด  จะไม่ต่ำกว่าบาทละ  5,300  บาท  แต่ปรากฏว่าในวันที่  6 ตุลาคม  2546  ราคาทองคำตกลงมาเหลือบาทละ  5,000  บาท  นายสมชายเจ้าของร้านทองจึงคิดจะซื้อไว้เอง  เพราะคิดว่าราคาทองคำจะต้องขึ้นสูงกว่านี้ตนคงจะมีกำไรจึงได้โทรศัพท์ไปหานายสมศักดิ์ว่าตนต้องการจะซื้อทองคำแท่งของนายสมศักดิ์ทั้งหมดในราคาบาทละ  5,000  บาท  ตามราคาตลาด  นายสมศักดิ์ได้รับโทรศัพท์แล้วมิได้ว่ากล่าวอะไรทั้งสิ้น  ดังนี้  อยากทราบว่า

(ก)  นายสมชายจะซื้อทองคำแท่งของนายสมศักดิ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายสมชายจะได้รับค่าบำเหน็จร้อยละ  5  ตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา 843  ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้  เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น  ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น  ณ  สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการบอกกล่าวเช่นนั้น  ถ้าไม่บอกปัดเสียในที  ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น  ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้

วินิจฉัย  

(ก)  นายสมชายจะซื้อทองคำแท่งของนายสมศักดิ์ได้  แม้นายสมชายจะเป็นตัวแทนค้าต่างแต่ก็มีสิทธิที่จะเป็นผู้ซื้อเองได้  เพราะการซื้อขายทองคำมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยนเป็นการซื้อขายตามราคาตลาด  นายสมชายมิได้เป็นผู้กำหนดราคาเองกฎหมายจึงไม่ห้ามเว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญา  ซึ่งกรณีนี้นายสมศักดิ์ก็มิได้ห้ามไม่ให้นายสมชายซื้อ  และนายสมชายก็ได้โทรศัพท์ไปบอกนายสมศักดิ์แล้วว่าจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวในราคาบาทละ  5,000  บาท  นายสมศักดิ์ก็มิได้บอกปัดในทันทีเมื่อทราบคำบอกกล่าวนั้นแล้ว  กรณีนี้ให้ถือว่านายสมศักดิ์ตัวการเป็นอันได้สนองรับการซื้อขายนั้นแล้วตามมาตรา  843  วรรคแรก  และวรรคสอง 

(ข)  แม้นายสมชายซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างจะเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งของนายสมศักดิ์เองก็ตาม  แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้คิดค่าบำเหน็จ  นายสมชายจึงมีสิทธิจะคิดเอาค่าบำเหน็จร้อยละ  5  ตามที่ได้ตกลงกันไว้ได้ตามมาตรา  843  วรรคท้าย

สรุป 

(ก)  นายสมชายสามารถซื้อทองคำแท่งของนายสมศักดิ์ได้

(ข)  นายสมชายมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จร้อยละ  5  ตามที่ตกลงกันไว้

 

ข้อ  3  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินและตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า  นาย  ข  นำที่ดินมาเสนอขายให้นาย  ค  นาย  ค  ตกลงซื้อและเข้าทำสัญญากับนาย  ก  หลังทำสัญญาปรากฏว่านาย  ค  ผิดนัดการซื้อขายจึงไม่ได้เกิดขึ้นกรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า  นาย  ข  นำที่ดินเสนอขายให้นาย  ค  นาย  ค ตกลงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว  แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้ที่ดินแปลงนอกตัดถนนผ่านเข้ามาถึงที่ดินแปลงที่ตกลงซื้อกันนี้  และนาย  ก  กับนาย  ค  เข้าทำสัญญากันเรียบร้อยแล้ว

ให้ท่านวินิจฉัยว่าทั้ง  2  กรณีนี้  นาย  ข  จะได้ค่านายหน้าหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

ในกรณีแรก  นาย  ข  มีสิทธิได้ค่านายหน้าจากนาย  ก  เพราะนาย  ข  ได้ทำการเป็นนายหน้าครบถ้วนแล้ว  กล่าวคือมีการตกลงกันในเร่องนายหน้า  และมีการชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญา  ตลอดจนได้จัดการให้ผู้ขายกับผู้ซื้อได้เข้าทำสัญญากัน  ตามมาตรา  845  ในตอนแรกแม้การซื้อขายจะไม่มีเกิดขึ้นภายหลังทำสัญญาก็ไม่เกี่ยวกับนาย  ข  ถือว่านาย  ข  ได้ชี้ช่องทำให้ผู้ซื้อผู้ขายเข้าทำสัญญากันเป็นอันหมดหน้าที่นาย  ข  แล้ว (ฎ. 517/2494)

ในกรณีหลังเป็นเรื่องของ  มาตรา  845  วรรคแรก  ตอนท้าย  กล่าวคือ  ข้อตกลงระหว่าง  ค  ผู้ซื้อ  และ  ก  ผู้ขายที่กำหนดว่าต้องให้ที่ดินแปลงนอกตัดถนนผ่านเข้ามาถึงที่ดินแปลงที่ตกลงซื้อขายกันนี้เสียก่อน  เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน  แม้นาย  ข  นายหน้าจะจัดการชี้ช่องให้ผู้ซื้อผู้ขายเข้าทำสัญญากันแล้วก็ตาม  นาย  ข  ก็ยังไม่มีสิทธิได้ค่านายหน้า  ต้องรอไปจนกว่าเงื่อนไขสำเร็จก่อน

สรุป

กรณีแรก  นาย  ข  มีสิทธิได้ค่านายหน้าจากนาย  ก  หลังจากนาย  ก  กับนาย  ค  เข้าทำสัญญากันตามมาตรา  845  วรรคแรก

กรณีหลัง  นาย  ข  จะยังไม่ได้ค่านายหน้าจนกว่าเงื่อนไขสำเร็จก่อน  จึงจะได้ตามมาตรา  845  วรรคแรก  ตอนท้าย

Advertisement