การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  วันที่  3  กุมภาพันธ์  2549  นายจิ๋วทำสัญญาจ้างนายใหญ่  อายุ  19  ปี  เป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานเก็บเงินที่ร้านมินิมาร์ท  (Mini  Mart)  เป็นระยะเวลา  3  ปี  ต่อมาวันที่  4  กุมภาพันธ์  2549  นายน้อยพี่ชายของนายใหญ่  ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายใหญ่ให้กับนายจิ๋ว  โดยจะยอมรับผิดชดใช้เงินถ้านายใหญ่ทำให้นายจิ๋วเสียหาย  ในวันที่  5  กุมภาพันธ์  2549  นายใหญ่ได้ร้องขอให้นายเบิ้มทำการค้ำประกันการทำงานให้ตน  เพราะนายใหญ่ไม่ทราบว่านายน้อยพี่ชายของตนได้ทำการค้ำประกันให้แล้ว 

แต่นายเบิ้มไม่ได้เข้าค้ำประกันให้  เพราะนายเบิ้มทราบแล้วว่านายน้อยได้ทำการค้ำประกันการทำงานให้นายจิ๋วแล้ว  ในวันที่  10  มีนาคม  2549  นายใหญ่ได้ยักยอกเงินนายจิ๋วไป  4,000  บาท  ในวันที่  11 มีนาคม  2549  นายจิ๋วได้แจ้งให้นายน้อยชำระหนี้แทนนายใหญ่  ต่อมาเมื่อนายน้อยทราบเรื่องจึงโกรธนายใหญ่ที่ไปยักยอกเงินนายจิ๋ว  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1 ถ้าในวันที่  13  มีนาคม  2549  นายน้อยได้ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า  ตนไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน  เพราะนายใหญ่ยังเป็นผู้เยาว์ไม่บรรลุนิติภาวะ  ไม่อาจทำนิติกรรมสัญญาได้  อีกทั้งในขณะที่ตนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน   นายใหญ่ยังไม่ได้ก่อเหตุละเมิดจึงยังไม่มีหนี้ประธานในขณะทำสัญญาค้ำประกัน

2 ถ้าในวันที่  14  มีนาคม  2549  นายน้อยได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันต่อนายจิ๋ว  ต่อมาในวันที่  19  มีนาคม  2549  นายใหญ่ได้ยักยอกเงินนายจิ๋วอีกเป็นเงิน  7,000  บาท  เช่นนี้

ทั้งสองกรณีนี้ข้อต่อสู้ของนายน้อยรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และนายน้อยต้องรับผิดต่อนายจิ๋วหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  680  วรรคแรก  อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ค้ำประกัน  ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

 หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้

 หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้ เพราะทำด้วยความสำคัญผิด หรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่ เข้าทำสัญญาผูกพันตน

มาตรา  699  การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้นท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้  โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้

ในกรณีเช่นนี้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  การค้ำประกันต้องให้ลูกหนี้ชั้นต้นทราบหรือไม่  เห็นว่า  การค้ำประกันเป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกเข้าทำการผูกพันตนต่อเจ้าหนี้  เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ประธาน  ดังนั้น  การค้ำประกันเป็นการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลภายนอก  โดยไม่ต้องให้ลูกหนี้ชั้นต้นให้ความยินยอมก่อน  ตามมาตรา  680  วรรคแรก  ดังนั้น  แม้ว่าวันที่  4  กุมภาพันธ์  2549  พี่ชายของนายใหญ่  จะได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายใหญ่ให้กับนายจิ๋ว  โดยนายจิ๋วไม่ทราบว่านายน้อยพี่ชายได้ค้ำประกันก็ตาม  

นายน้อยก็ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ในวันที่  10  มีนาคม  2549  นายใหญ่ได้ยักยอกเงินนายจิ๋วไป  4,000  บาท  ถือว่านายใหญ่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา  206  ความรับผิดของนายน้อย  ผู้ค้ำประกันจึงเกิดขึ้น  ตามมาตรา  686  ดังนั้น

1  ถ้าในวันที่  13  มีนาคม  2549  นายน้อยได้ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า  ตนไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน  เพราะนายใหญ่ยังเป็นผู้เยาว์ไม่บรรลุนิติภาวะ  ไม่อาจทำนิติกรรมสัญญาได้  อีกทั้งในขณะที่ตนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน   นายใหญ่ยังไม่ได้ก่อเหตุละเมิดจึงยังไม่มีหนี้ประธานในขณะทำสัญญาค้ำประกัน

ข้ออ้างฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่าตามมาตรา  681  วรรคแรก  และวรรคสอง  การค้ำประกันหนี้มีได้แต่เฉพาะหนี้ประธานที่สมบูรณ์  เมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจิ๋ว  นายจ้าง  กับนายใหญ่  ลูกจ้าง  ซึ่งอายุ  19  ปี  เป็นผู้เยาว์   โดยไม่ปรากฏว่าผู้แทนโดยชอบธรรมของนายใหญ่ให้ความยินยอม  สัญญาจ้างแรงงานจึงตกเป็นโมฆียะ  แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาจ้างแรงงานก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่  จึงมีการค้ำประกันได้

อีกทั้งแม้ว่าในขณะเข้าค้ำประกัน  นายใหญ่ยังไม่ได้ก่อความเสียหายให้เกิดแก่นายจิ๋วก็ตาม  ก็สามารถมีการค้ำประกันได้  เพราะหนี้ในอนาคตก็อาจมีการค้ำประกันได้  ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่หนี้นั้นอาจเกิดขึ้นได้จริง  ซึ่งการค้ำประกันการจ้างแรงงานถือว่าเป็นหนี้ในอนาคตจึงสามารถมีการค้ำประกันได้  ตามมาตรา  681  วรรคสอง  ข้อต่อสู้ของนายน้อยจึงฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี  นายน้อยต้องรับผิดในหนี้ละเมิดที่นายใหญ่ได้ก่อให้เกิดขึ้นในวันที่  11  มีนาคม  2549  เป็นเงิน  4,000  บาท

2       ส่วนถ้าในวันที่  14  มีนาคม  2549  นายน้อยได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันต่อนายจิ๋ว  ต่อมาในวันที่  16  มีนาคม  2549  นายใหญ่ได้ยักยอกเงินนายจิ๋วอีกเป็นเงิน  7,000  บาท  เช่นนี้นายน้อยจะบอกเลิกการค้ำประกันได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  699  ถ้าเป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราว  ไม่มีจำกัดเวลาในการค้ำประกัน  ผู้ค้ำประกันอาจบอกเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้  โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้  แต่ตามข้อเท็จจริงการจ้างแรงงานมีกำหนดเวลาจ้าง  3  ปี  ถือว่าการค้ำประกันของนายน้อย  มีจำกัดเวลาในการค้ำประกัน  ดังนั้นนายน้อยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกการค้ำประกันได้  นายน้อยจึงต้องรับผิดในหนี้ละเมิดที่นายใหญ่ได้ก่อให้เกิดขึ้นในวันที่  19  มีนาคม  2549  ต่อนายจิ๋วนายจ้างด้วย  ข้อต่อสู้ของนายน้อยผู้ค้ำประกันฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายน้อยฟังไม่ขึ้นทั้งสองกรณี

 

ข้อ  2  นาย  ก  กู้เงินนาย  ข  เป็นเงิน  60,000  บาทถ้วน  และมีนาย  A  นาย  B  และนาย  C  มาจำนองที่ดินของตนประกันหนี้รายนี้ให้กับการกู้ยืมเงิน  โดยที่ดินนาย  A  มีราคา  100,000  บาท  นาย  B  มีราคา  200,000  บาท  และนาย  C  มีราคา  300,000  บาท  ดังนี้ หากนาย  ข  ต้องการจะบังคับขายทอดตลาดทุกแปลงได้หรือไม่  และหากได้  ผู้จำนองจะต้องรับผิดชอบคนละเท่าไร

ธงคำตอบ

มาตรา  728  เมื่อจะบังคับจำนองนั้น  ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า  ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร  ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น  ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

มาตรา  729  นอกจากทางแก้ดังบัญญัติไว้ในมาตราก่อนนั้น  ผู้รับจำนองยังชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี

(2) ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นท่วมจำนวนเงินอันค้างชำระและ

(3) ไม่มีการจำนองรายอื่น  หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้เอง

มาตรา  734  ถ้าจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้แต่รายหนึ่งรายเดียวและมิได้ระบุลำดับไว้ไซร้  ท่านว่าผู้รับจำนำจะใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินนั้นๆ  ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้  แต่ท่านห้ามมิให้ทำเช่นนั้นแก่ทรัพย์สินมากสิ่งกว่าที่จำเป็นเพื่อใช้หนี้ตามสิทธิแห่งตน

ถ้าผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน  ท่านให้แบ่งภาระแห่งหนี้นั้นกระจายไปตามส่วนราคาแห่งทรัพย์สินนั้นๆ

วินิจฉัย

นาย  ข  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนอง  สามารถที่จะบังคับจำนองได้โดยการขายทอดตลาดตามมาตรา  728  หรือฟ้องเอาจำนองหลุดตามมาตรา  729

ตามมาตรา  728  ผู้รับจำนองสามารถที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองทั้งหมดได้  ตามมาตรา  734  วรรคแรก  และเมื่อผู้รับจำนองใช้สิทธิของตนบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกัน  ก็จะต้องเฉลี่ยความรับผิดไปตามส่วนราคาแห่งทรัพย์สินนั้นๆ  ตามมาตรา  734  วรรคสอง  ดังนั้น  นาย  A  ต้องรับผิด  10,000  บาท  นาย  B  รับผิด  20,000  บาท  และนาย  C  รับผิด  30,000 บาท

สรุป  นาย  A  รับผิด  10,000  บาท  นาย  B  รับผิด  20,000  บาท  และนาย  C  รับผิด  30,000 บาท

 

ข้อ  3  นาย  ก  กู้เงินนาย  ข  เป็นจำนวนเงิน  12,000  บาท  โดยมีนาย  ค  มอบสร้อยคอจำนำไว้เป็นประกัน  หนี้การกู้ยืมเงินและจำนำกันครั้งนี้ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมหรือจำนำเป็นหนังสือ  ต่อมาหนี้ถึงกำหนดชำระปรากฏว่านาย  ก  ผิดนัด  และนาย  ข  มีหนังสือทวงถามให้นาย  ก  และนาย  ค  ชำระหนี้  แต่บุคคลทั้งสองไม่ชำระหนี้  นาย  ข  จึงนำสร้อยคอที่รับจำนำไว้ไปขายทอดตลาดได้เงินสุทธิ  8,000 บาท  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ข  จะฟ้องเรียกหนี้ที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท จากนาย  ก  ลูกหนี้  และนาย  ค  ผู้รับจำนำได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  767  เมื่อบังคับจำนำได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด  ท่านว่าผู้รับจำนำต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป  และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จำนำ  หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนค้างชำระ  ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  สัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่ากรณีตามอุทาหรณ์เป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000  บาท  ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด  เพียงแต่หากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  ดังนั้นสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนาย  ก  และนาย  ข  สมบูรณ์ตามกฎหมาย  แต่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาคือ  การจำนำสร้อยคอของนาย  ค  สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่าการจำนำตามมาตรา  747  ย่อมสมบูรณ์เพียงส่งมอบทรัพย์ที่จำนำ  ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด  ดังนั้นการจำนำดังกล่าวจึงสมบูรณ์  มีผลตามกฎหมาย  เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้  ผู้รับจำนำสามารถบังคับจำนำโดยการเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  นาย  ข  จะฟ้องรียกหนี้ที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท  จากนาย  ก  ลูกหนี้  และนาย  ค  ผู้จำนำได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อบังคับจำนำแล้วได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่ตามมาตรา  767  วรรคสอง  หากหนี้ประธานสมบูรณ์ฟ้องร้องตามกฎหมายได้  แต่ตามปัญหาหนี้ประธานคือ  หนี้กู้ยืม  ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ  ตามมาตรา  653  วรรคแรก  ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ได้  นาย  ข  จึงฟ้องเรียกเงินที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท  ไม่ได้

ส่วนนาย  ค  ก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ยังขาดอยู่  เพราะนาย  ค  เป็นแต่เพียงผู้เอาทรัพย์มาประกันการชำระหนี้เท่านั้น  มิได้เป็นลูกหนี้  ทั้งนี้กฎหมายมาตรา  767  วรรคสองกำหนดให้ลูกหนี้เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้ที่ยังขาดอยู่  เมื่อมีการบังคับจำนำแล้ว   จำนำย่อมระงับสิ้นไป  นาย  ข  จึงฟ้องเรียกหนี้ที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท  จากนาย  ค  ผู้จำนำไม่ได้

สรุป  นาย  ข  จะฟ้องเรียกหนี้ที่ยังขาดอยู่  4,000  บาท  จากนาย  ก  และนาย  ค  ไม่ได้

Advertisement